ไม่พบผลการค้นหา
'นิด้าโพล' เผยผลสำรวจประชาชน ร้อยละ 36.46 ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น 250 ส.ว. สรรหา ชี้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม ขณะที่ร้อยละ 87.29 เห็นด้วยกับกกต. เลื่อนกำหนดวันเลือก ส.ว. เร็วขึ้น เพื่อให้ทันโรดแมปเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง 'การสรรหา ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560' รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,259 หน่วยตัวอย่างจากทั่วประเทศ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการที่ กกต. เลื่อนกำหนดการเลือก ส.ว. เร็วขึ้น ด้วยเหตุผลเพื่อให้ทันกับการเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์ 2562 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.29 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะอยากเห็นบ้านเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีความพร้อมก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง รองลงมา ร้อยละ 11.36 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ เร็วเกินไป อาจจะทำให้กระบวนการสรรหาไม่รอบคอบ ไม่เที่ยงตรง ได้บุคคลที่ไม่มีประสิทธิภาพ และอาจมีการล็อกตัวบุคคล ขณะที่บางส่วนระบุว่า ให้เป็นไปตามแผนเดิม เพื่อผู้สมัครจะได้มีเวลาเตรียมตัว และร้อยละ 1.35 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านลักษณะของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่อยากได้มากที่สุด พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.81 ระบุว่ามีความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่ยอมรับของประชาชน รองลงมา ร้อยละ 23.83 ระบุว่า มีความเป็นกลางไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใด ร้อยละ 11.68 ระบุว่า มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์การทำงานในด้านกฎหมายและด้านอื่น ๆ เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ร้อยละ 9.69 ระบุว่าไม่เห็นแก่ลาภยศ เงินทองหรือผลประโยชน์อันมิชอบ ร้อยละ 4.92 ระบุว่า เป็นผู้มีอุดมการณ์ ปฏิบัติหน้าที่อย่างสมศักดิ์ศรี ร้อยละ 3.33 ระบุว่าสามารถสอบสวนการทุจริตและประพฤติมิชอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 3.18 ระบุว่า ใช้ความรู้ความสามารถในการทำหน้าที่ ส.ว.อย่างเต็มที่ และร้อยละ 0.56 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงระดับความเชื่อมั่นต่อ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการสรรหา ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 พบว่า ประชาชน ร้อยละ 16.28 ระบุว่า มีความเชื่อมั่นมาก ร้อยละ 29.95 ระบุว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 36.46 ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น ร้อยละ 14.93 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่นเลย และร้อยละ 2.38 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ 

โดยผู้ที่ระบุว่า ค่อนข้างมีความเชื่อมั่น – มีความเชื่อมั่นมาก ได้ให้เหตุผลว่าประเทศไทยขาดอิสระภาพความเป็นประชาธิปไตยมานาน การสรรหาครั้งนี้น่าจะได้บุคลที่มีความรู้ ความสามารถ มีประสบการณ์ที่ดีมาช่วยในการพัฒนาบริหารประเทศ 

ส่วนผู้ที่ระบุว่า ไม่ค่อยมีความเชื่อมั่น – ไม่มีความเชื่อมั่นเลย ให้เหตุผลว่าไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในแนวทางที่ประชาชนมีส่วนร่วม เกรงว่าจะเข้ามาเพื่อหวังผลประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องมากกว่าเข้ามาทำเพื่อประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :