ไม่พบผลการค้นหา
รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เสียใจที่เด็กขวบครึ่งเสียชีวิตเพราะไม่ได้รับการรักษา สาเหตุจากห้องฉุกเฉินปิด เชื่ออาจเกิดจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน เร่งตรวจสอบแล้ว

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีที่เด็กอายุ 1 ขวบเศษเสียชีวิต หลังจากเข้ารับบริการจากห้องฉุกเฉิน รพ.สมเด็จพระยุพราช สระแก้ว เนื่องจากห้องฉุกเฉินปิด ว่า กรณีดังกล่าวน่าจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะเท่าที่รู้มา โรงพยาบาลตรวจสอบทบทวนว่าห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลเปิดให้บริการตามปกติ แต่ไม่แน่ใจว่าช่วงที่ผู้ป่วยมาถึงโรงพยาบาล มีการให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือไม่จนทำให้เกิดความเข้าใจผิด 

อย่างไรก็ตามขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้ทางผู้อำนวยการโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ได้ให้ความช่วยเหลือดูแลครอบครัวผู้เสียหายแล้ว 

ทาง พญ. พรรณพิมล กล่าวต่อว่า ปกติห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆ จะเปิดให้บริการตลอด แล้วแต่ขั้นตอนในการทำงานจะมีการคัดกรองผู้ป่วยว่าเป็นเคสฉุกเฉินหรือไม่ เพราะทุกวันมีผู้ป่วยทั้งฉุกเฉินและไม่ฉุกเฉินเข้ามารับบริกดาร เมื่อคัดกรองแล้วหากพบว่าไม่เป็นเคสฉุกเฉินจะส่งต่อเข้ารับบริการปกติ แต่ถ้าเป็นเคสฉุกเฉินจะแยกอีกว่าเร่งด่วนหรือไม่ เพื่อให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามกรณีที่เกิดขึ้นนี้ทางกระทรวงฯ กำชับไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งในเรื่องการดูแลผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินแล้วเพราะเราทำและติดตามเรื่องห้องฉุกเฉินคุณภาพมาโดยตลอด

เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา แม่ของเด็กพาเด็กเข้ารับการรักษาด้วยอาการมีไข้สูง หนาวสั่น อาเจียนและถ่ายท้อง ตรวจพบไข้ 40 องศา ชีพจร 110 ครั้งต่อนาที เด็กรู้สึกตัวและตื่นดี แพทย์วินิจฉัยว่าลำไส้อักเสบ ให้การดูแลรักษาโดยให้ยาลดไข้ ยาแก้อาเจียนและเกลือแร่ไปรับประทาน พร้อมเช็ดตัวลดไข้จนอาการดีขึ้น ให้คำแนะนำและให้กลับไปรักษาต่อที่บ้าน วันที่ 4 พ.ค. เวลาประมาณ 06.13 น. แม่เด็กพาผู้ป่วยมาที่ห้องฉุกเฉิน พบพนักงานหน้าห้องฉุกเฉินที่เป็นเวรเปล พูดคุยกับแม่ ทำให้เข้าใจว่าห้องฉุกเฉินปิดบริการ และจะเปิดบริการอีกครั้งตอน 07.00 น. แม่จึงอุ้มลูกไปรับบริการที่ตึกผู้ป่วยนอก

ต่อมาเวลา 07.02 น. เห็นว่าลูกไม่ดีขึ้น จึงพามาตรวจที่ห้องฉุกเฉิน พบว่าเด็กตัวเขียว ชีพจรเบา ตัวลายและมีภาวะขาดน้ำมาก (sunken eyeball, severe dehydration) แพทย์และเจ้าหน้าที่จึงช่วยเหลือโดยให้น้ำเกลือและยาปฏิชีวนะ และใส่ท่อช่วยหายใจ หลังใส่ท่อเด็กมีอาการหัวใจหยุดเต้นและช่วยฟื้นคืนชีพ ซึ่งฟื้นมาเป็นช่วงๆ ทำการช่วยฟื้นคืนชีพทั้งหมด 3 ครั้ง ตั้งแต่เวลา 07.35-08.57 น. และเสียชีวิต 09.35 น. จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลรู้สึกเสียใจอย่างมาก และน้อมรับข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น และจะนำข้อผิดพลาดดังกล่าวไปแก้ไขเพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทางที่ดียิ่งขึ้นไป

ทางโรงพยาบาลไปร่วมงานศพ พร้อมพูดคุยกับทางพ่อและแม่เด็ก แจ้งกับทางครอบครัวผู้เสียหายในเบื้องต้น ซึ่งกรณีดังกล่าวเข้าข่ายมาตรา 41 ทางผู้เสียหายจะได้รับเงินเยียวยา เบื้องต้นในวงเงินไม่เกิน 4 แสนบาท โดยจะเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด คาดว่าไม่เกิน 2 เดือน