ไม่พบผลการค้นหา
Voice Online ชวนคุยกับทีมงาน We Walk คนรุ่นใหม่เบื้องหลังการไลฟ์ตลอดระยะทาง 800,000 ก้าว จากกรุงเทพ - ขอนแก่น

ท่อนหนึ่งจากคำประกาศแถลงจุดยืนของเครือข่าย People Go ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในวันที่ 20 ม.ค.61 วันแรกของการ ‘เดินไปหาเพื่อน’ ในกิจกรรม “We Walk…เดินมิตรภาพ" ระบุว่า ...ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะวิกฤติเรามีรัฐบาลทหารที่มาจากรัฐประหาร ซึ่งไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน รัฐบาลชุดนี้มีการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดที่เราไม่สามารถจะตรวจสอบได้ มีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง แต่การตรวจสอบและการแก้ไขปัญหากลับไม่มีความชัดเจนเพียงพออีกทั้งยังแนวโน้มว่า ผู้มีอำนาจในชุดนี้จะมีการสืบทอดอำนาจต่อไปโดยผ่านทางกลไกรัฐและรัฐธรรมนูญอย่างไม่รู้จักจบสิ้นระบบคุณธรรมจริยธรรมของสังคมตกต่ำลงอย่างมาก"

ถ้อยแถลงนี้ถูกไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก มียอดคนดู 229K นับเป็นการไลฟ์ที่มียอดชมสูงสุด

ตลอดการเดินเท้า 800,000 ก้าว ระยะทาง 450 กิโลเมตรของการเดิน มีเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบติดตาม ‘อำนวยความสะดวก’ อยู่ตลอด

28 วัน จากกทม.ไปจบที่ขอนแก่น นอกจากเจ้าหน้าที่ ก็มีผู้คนตามรายทางที่เข้ามาพูดคุยทักทาย และยังมีผู้คนในโลกออนไลน์ที่คอยให้กำลังใจไม่ขาดสาย 

เบื้องหลังการไลฟ์สดนี้ เกิดขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ 2 คนที่รับหน้าที่เป็นทีมไลฟ์ของขบวน

Voice Online ชวนคุยกับ ‘หญิง’ จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ บัณฑิตคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่หากใครเคยได้ดูไลฟ์เดินมิตรภาพ น่าจะคุ้นเสียงของเธออยู่ไม่น้อย


We Walk2


การออกมาเดินครั้งนี้มีความหมายต่อตัวหญิงอย่างไร?

มันคือ....เขาเรียกว่าอะไร... มันคือความกล้า

เรารู้สึกว่าประเด็นพวกนี้ สำหรับเรามันกระทบเราหมด เราเป็นคนที่ใช้บัตรทอง เรากินข้าวทุกมื้อ พ่อแม่เราเป็นเกษตรกร เราทำงานเรื่องทรัพยากร และชีวิตเราก็อยู่กับประเทศนี้ ก็คือเรื่องของประชาธิปไตย คือทุกเรื่องมันเป็นเรื่องของเราอะ มันปฏิเสธไม่ได้ ก็เลยรู้สึกว่าที่เรามีโอกาสได้ออกมาทำอะไรแบบนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี ก็รู้สึกภูมิใจกับมันนะ และเวลาที่เราคุยกับครอบครัวหรือคุยกับแม่เราก็บอกตลอดว่าที่เราออกมาทำแบบนี้ แม่ก็น่าจะภูมิใจนะที่เราออกมาทำอะไรเพื่อคนอื่นไม่ใช่แค่เพื่อตัวเราเอง

พ่อแม่ว่ายังไงบ้าง?

แม่ก็บอกว่าแม่ก็ภูมิใจแต่ถามว่าเขาห่วงไหม เขาก็ห่วงแหละ 

หญิงอยากอยู่ในสังคมแบบไหน?

เราเคยลงพื้นที่และรู้สึกว่าชาวบ้านก็ควรจะมีสิทธิเลือกว่าในพื้นที่ของตัวเอง เขาอยากได้อะไร ไม่อยากได้อะไร 

เราเรียนกฎหมาย เราก็รู้สึกว่ากฎหมายมันควรออกมาจากคนข้างล่างคือคนที่ต้องใช้จริง ไม่ใช่คนที่อยู่ข้างบน อย่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม เรื่องทรัพยากร คนที่ได้รับปัญหาคือคนที่อยู่ข้างล่างนะ คือคนที่ต้องอยู่กับภูเขา อยู่กับน้ำ อยู่กับโรงงานอุตสาหกรรม แต่คนที่ออกกฎหมายกลับไม่เคยมาฟังเสียงพวกเขา เลือกที่จะออกกฎหมายจากข้างบน สุดท้ายชาวบ้านก็ต้องก้มหน้าก้มตาใช้กฎหมายนั้นไป มันไม่ถูกต้อง ทุกอย่างมันควรจะมาจากประชาชน คนตัวเล็กๆ


We Walk


แล้วในฐานะคนรุ่นใหม่ คิดว่าเราทำอะไรได้บ้าง?

จริงๆ คนรุ่นใหม่ทำได้หลายอย่างนะ ติดอยู่อย่างเดียวว่าจะทำไหม 

มันคือแค่นั้นเอง ก็ต้องถามว่าคุณให้คุณค่ากับอะไร 


We Walk


หญิงคิดว่าทุกวันนี้สังคมมีพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่มากน้อยแค่ไหน?

คนทุกวันนี้ถูกสอนมาให้อยู่ในกรอบ เรามีกรอบกรอบหนึ่งแล้วมันทำให้เรามองไม่เห็นทางข้างนอกว่าเราจะสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ ถ้ามองเป็นพื้นที่กิจกรรมทั่วไปมันก็เยอะ แต่มันก็ต้องยอมรับว่า ในประเทศที่มันเป็นแบบนี้ มันไม่ใช่แค่วัยรุ่นหรอกที่ถูกปิดพื้นที่ คนทุกคนถูกปิดพื้นที่กันหมดนั่นแหละ