นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี รัฐบาลจัดประชุมครม.สัญจรที่ จ.สงขลา ว่า การลงไปจัดครม.สัญจรในพื้นที่ภาคใต้ครั้งนี้ รัฐบาลตั้งใจจะไปเรียกเรตติ้งในช่วงขาลง คะแนนนิยมลดต่ำ และรู้ว่าต้องไปเจออะไรบ้าง เพราะแม้พื้นที่บางส่วนของภาคใต้จะเป็นพื้นที่ของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองที่สนับสนุนใกล้ชิดกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่ปัญหาที่กระทบกับเศรษฐกิจปากท้องความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนโดยตรงนั้นมีมาก ทั้งปัญหาราคายางพารา ปาล์มน้ำมัน สินค้าเกษตรอื่นๆ ราคาตกต่ำอย่างมาก ปัญหาชาวประมง ปัญหาความขัดแย้งโครงการด้านพลังงาน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐบาลทหารก็ยังแก้ไม่ได้
ครม.สัญจรภาคใต้ครั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่เห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้ร้องเรียนทุกข์ร้อนจากการประกอบอาชีพได้สะดวกขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ชาวสวนยางจะไปยื่นหนังสือที่กรุงเทพฯ ก็ถูกหิ้วตัวเข้าค่ายทหาร ประชาชนที่นครศรีธรรมราชไปยื่นหนังสือกับรองผู้ว่าฯ ก็ถูกข่มขู่ ได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม ชาวประมงที่เพียงแค่จะมานำเสนอทุกข์ร้อนก็ยังกลับถูกพล.อ.ประยุทธ์ ตะคอกใส่
"จึงอยากถามว่า การที่ท่านลงทุนลงแรง เตรียมการมโหฬารเดินทางด้วยเครื่องบินซี 130 นั่งรถกันกระสุน มาจัดครม.สัญจรภาคใต้ ทั้งที่มีรัฐมนตรีมาร่วมครม.สัญจรเพียงแค่ 14 คนนั้น เพื่อมาตะคอก มาข่มขู่ประชาชนหรือ ปัญหาประชาชนถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ถูกข่มขู่คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในรัฐบาลชุดนี้ เป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์และมุมมองที่ซ้ำเติมปัญหาหรือไม่ ท่านให้ทุกคนเคารพกฎหมาย แล้วท่านเคารพสิทธิและเสรีภาพประชาชนหรือไม่ กระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนท่านได้ยึดหลักนี้หรือไม่ แม้จะเป็นความเห็นต่าง ท่านก็ต้องรับฟัง ท่านต้องยึดหลักแตกต่างแต่ไม่แตกแยก ประเทศนี้ไม่ใช่ค่ายทหาร ที่ท่านจะสั่งประชาชนซ้ายหันขวาหันได้ตามใจตลอดเวลา" นายอนุสรณ์กล่าว
ขณะที่นายวัฒนา เมืองสุข สมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตวาดใส่ชาวประมงภาคใต้ ในระหว่างการลงพื้นที่ตรวจราชการที่จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ว่าชาวประมงภาคใต้ที่มารอพบเพื่อขอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเป็นการแสดงความหยาบคายใส่พี่น้องชาวใต้ทั้งนี้เป็นหัวหน้ารัฐบาลย่อมมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน ขณะเดียวกันรัฐบาลเพิ่งประกาศให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติ แต่รัฐบาลกลับใช้กำลังกับพี่น้องชาวเทพาที่ไม่เห็นด้วยกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทั้งหมดเป็นตัวอย่างไม่ดีของเยาวชน