ไม่พบผลการค้นหา
ทางการฟิลิปปินส์ระบุว่า พวกเขาได้รื้อแผงกั้นลอยน้ำที่จีนติดตั้งเอาไว้ เพื่อสกัดกั้นเรือประมงของฟิลิปปินส์ ไม่ให้สามารถแล่นเข้าสู่พื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้ได้

หน่วยยามชายฝั่งฟิลิปปินส์กล่าวว่า ทางหน่วยงานได้รับคำสั่งจาก เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ในการเข้ารื้อแนวกั้นดังกล่าวของจีนทิ้ง ทั้งนี้ รัฐบาลฟิลิปปินส์กล่าวว่าจีนละเมิดสิทธิในการทำประมงของชาติอื่น ด้วยการสร้างแนวกั้นความยาว 300 เมตรในสันดอนสการ์โบโรห์

ตลอดช่วงเวลาของข้อพิพาท จีนอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ทะเลจีนใต้มากกว่า 90% ของพื้นที่ทั้งหมด และจีนได้เข้ายึดสันดอนดังกล่าวที่มีข้อพิพาทกับฟิลิปปินส์ไปในปี 2555 ทั้งนี้ ทางการฟิลิปปินส์กล่าวปกป้องการกระทำของหน่วยยามฝั่ง ในการสร้างแนวกั้นดังกล่าวว่าเป็น "มาตรการที่จำเป็น"

“แนวกั้นดังกล่าวเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดเจน อีกทั้งยังขัดขวางการทำประมง และกิจกรรมดำรงชีวิตของชาวประมงฟิลิปปินส์ด้วย” หน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ระบุในแถลงการณ์ พร้อมระบุว่าสันดอนดังกล่าวเป็น "ส่วนสำคัญของดินแดนแห่งชาติฟิลิปปินส์"

พลเรือจัตวา เจย์ ทาร์เรียลา จากหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์กล่าวว่า แนวกีดขวางของจีนดังกล่าวถูกค้นพบโดยหน่วยลาดตระเวนเมื่อช่วงวันศุกร์ที่ผ่านมา (22 ก.ย.) พร้อมกล่าวว่า มีเรือยามฝั่งของจีน 3 ลำและเรือบริการทางทะเลของจีน 1 ลำได้ติดตั้งแผงกั้นเมื่อเรือของฟิลิปปินส์แล่นมาถึงพื้นที่ดัวกล่าว

ทาร์เรียลาระบุว่า เรือของจีนได้ประกาศแจ้งเตือนผ่านทางวิทยุจำนวน 15 ครั้ง และกล่าวหาว่าเรือและชาวประมงฟิลิปปินส์กระทำการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายของจีน ก่อนที่จะแล่นเรือออกไป “เมื่อตระหนักว่ามีเจ้าหน้าที่สื่ออยู่บนเรือ (ของฟิลิปปินส์) ลำนี้” ทาร์เรียลากล่าว

ในอีกด้านหนึ่ง ญี่ปุ่นเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบ และกล่าวว่าทะเลจีนใต้เป็นศูนย์กลางของเสถียรภาพในภูมิภาค “ประเทศของเราต่อต้านการกระทำใดๆ ก็ตาม ที่เพิ่มความตึงเครียดในทะเลจีนใต้อย่างแข็งขัน” ฮิโรคาซุ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีของญี่ปุ่น กล่าวในการแถลงข่าวประจำวัน

ทะเลจีนใต้นับเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก อีกทั้งยังมีการคาดการณ์กันว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจำนวนมหาศาล นอกจากนี้ ยังมีเรือประมงมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก ที่ใช้พื้นที่ดังกล่าวในการเดินทางแล่นผ่าน

จากคำกล่าวอ้างของจีนต่อพื้นที่ทะเลจีนใต้ ในการถืออำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนและน่านน้ำที่อยู่ติดกัน ได้สร้างความไม่พอใจให้กับฟิลิปปินส์ รวมถึงเวียดนาม ไต้หวัน มาเลเซีย และบรูไน ซึ่งเป็นประเทศที่อ้างสิทธิเหนือพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ จีนยังสนับสนุนการอ้างสิทธิ์ ด้วยการสร้างเกาะเทียม และการลาดตระเวนเรือในพื้นที่ทะเลจีนใต้อย่างกว้างขวาง

สหรัฐฯ ระบุว่า พวกเขาไม่ได้เข้าข้างฝ่ายใดในข้อพิพาทเรื่องพื้นที่ทะเลจีนใต้ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ได้ส่งเรือและเครื่องบินทหารเข้าไปใกล้เกาะที่เป็นข้อพิพาท ด้วยการกล่างอ้างว่าการเดินเรือเหล่านั้นเป็น "เสรีภาพในการเดินเรือ"

จีนเข้ายึดสันดอนสการ์โบโรห์ไปในปี 2555 และบังคับให้ชาวประมงจากฟิลิปปินส์เดินเรือไกลออกไป เพื่อหาปลาที่จับได้ในจำนวนน้อยกว่าเดิมจากพื้นที่อื่น แต่ในเวลาต่อมา จีนได้อนุญาตให้ฟิลิปปินส์จับปลาในบริเวณพื้นที่ใกล้ๆ หลังจากที่ความสัมพันธ์ของจีนกับฟิลิปปินส์ ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ภายใต้การนำของ โรดริโก ดูเตอร์เต อดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนก่อน

อย่างไรก็ดี ความตึงเครียดระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนเพิ่มสูงขึ้น นับตั้งแต่ เฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีฟิลิปินส์เมื่อปีที่แล้ว ในขณะที่ มาร์กอส จูเนียร์ พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับสหรัฐฯ และในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เพิ่งเปิดทางให้กองทหารสหรัฐฯ สามารถเข้าถึงฐานทัพฟิลิปปินส์ได้มากยิ่งขึ้น

การปรับปรุงความสัมพันธ์ และการอนุญาตให้กองทัพสหรัฐฯ เข้าถึงฐานทัพเรือฟิลิปปินส์ สร้างความไม่พอใจให้กับจีน เมื่อสหรัฐฯ เริ่มปรากฏตัวในฟิลิปปินส์มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้สหรัฐฯ มีกลุ่มพันธมิตรที่ทอดยาวตั้งแต่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นทางตอนเหนือ ไปจนถึงออสเตรเลียทางตอนใต้


ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-66913554?fbclid=IwAR2GQfizAgRbIb-jFW1EPkiM4g_T7KdcL0CnYS8_WjKSms1sHaNNA1Ayk8c