คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดวงเสวนาเรื่อง “โทษประหารชีวิตแก้ปัญหาสังคมไทยหรือไม่” เมื่อวันที่ 6 ก.ค. โดย ศ.พิเศษ คณิต ณ นคร ที่ปรึกษาคณะนิติศาสตร์ฯ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาในสังคมหรือลดการก่ออาชญากรรมร้ายแรงได้ เพราะผู้ที่กระทำความผิดไม่ได้หวาดกลัวการถูกลงโทษ แต่จะกลัวกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพมากกว่า พร้อมเผยว่า เมื่อครั้งที่ตนทำหน้าที่เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 ได้เสนอให้ยกเลิกโทษนี้แล้วแต่ไม่สำเร็จ ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2540, 2550 และฉบับปัจจุบัน ได้บัญญัติรับรองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ ซึ่งการยังมีโทษประหารในการบังคับโทษตามระบบกฎหมายไทยจึงขัดแย้งกับหลักการนี้
ศ.พิเศษ คณิต ยังเสนอให้ ญาติหรือผู้ที่ถูกตัดสินประหารในอนาคต นำคดีเข้าสู่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว เพื่อดูว่า โทษประหารชีวิตขัดรัฐธรรมนูญหรือตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาเช่นไรด้วย และยังมองว่าทนายความไทยมุ่งแต่ต่อสู้คดีในข้อเท็จจริง แต่ไม่เคยต่อสู้ในประเด็นข้อกฎหมายเลย
นอกจากนี้ ศ.พิเศษ คณิต ระบุด้วยว่า สิ่งสำคัญคือกระบวนการยุติธรรมไทยไม่มีประสิทธิภาพ มีความผิดพลาดในระบบ คนในวงการยุติธรรมมักประจบนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจ และมีความกลัวในการทำงาน และบ่อยครั้งคุกคามสิทธิประชาชนเสียเอง
อย่างไรก็ตาม แม้หลายประเทศจะมีโทษประหารชีวิตอยู่ แต่ไม่เคยใช้จริง ขณะที่สหประชาชาติพยายามในประเทศสมาชิกยกเลิกโทษนี้
สอดคล้องกับ ผศ.ธานี วรภัทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาทางนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ที่ย้ำว่า โทษประหารไม่ได้ช่วยให้สังคมสงบสุขแต่อย่างใด พร้อมยกหลักการนิติปรัชญาว่าด้วยมนุษย์และการใช้กฎหมาย ซึ่งมนุษย์มีทั้งความคิดและอารมณ์ความรู้สึก การทำร้ายกันก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์อย่างหนึ่งด้วย และกระบวนการยุติธรรมหรือกฎหมายเอง มีไว้เพื่อทำให้สังคมสงบเรียบร้อยในสังคม ไม่ใช่เพื่อกำจัดหรือทำร้ายมนุษย์ด้วยกัน
โดยในประเทศที่เจริญแล้วและพลเมืองมีคุณภาพทางการศึกษา ซึ่งให้ความสำคัญกับธรรมชาติและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และจะยกเลิกโทษประหารชีวิต ดังนั้น องค์ความรู้ทางสังคมจึงเป็นเรื่องสำคัญในการถกแถลงหรือกำหนดโทษร้ายแรงนี้ ส่วนในประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่สังคมอุดมปัญญา มีสิ่งชี้ขาดอยู่ที่ชุดความคิดของผู้มีอำนาจหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง
พร้อมยกตัวอย่างพัฒนาการ หลักการบังคับโทษ ที่สมัยก่อนมีวัตถุประสงค์ คือ เป็นการแก้แค้นทดแทน 2)ลงโทษเพื่อข่มขู่ 3) เพื่อตัดโอกาสการกระทำความผิด และ4) การลงโทษเพื่อเป็นการปรับปรุงแก้ไข
ส่วนโลกยุคใหม่มีวัตถุประสงค์การบังคับโทษ คือ 1) เพื่อให้มีการดำรงชีวิตในอนาคตโดยปราศจาคการกระทำผิดและมีความรับผิดชอบต่อสังคม เน้นการพัฒนามนุษย์ กับ 2)เพื่อเป็นการคุ้มครองสังคม โดยอาชญากรร้ายแรงจำนวนมากมีปัญหาทางสภาพจิต จึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย
ผศ.ธานี ยืนยันว่า ทิศทางการลงโทษเปลี่ยนจากความสะใจมาใช้สติปัญญาในการกำหนดโทษที่เหมาะสมและคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ซึ่งไทยต้องเดินทางทิศทางนี้ จากการประหารโดยทรมานหลากหลายวิธี ทั้งตัดศีรษะ สู่การยิงเป้า ก่อนจะมาใช้วิธีฉีดยา โดยอนาคตต้องยกเลิกโทษประหารนี้แน่นอน ซึ่งอาจใช้โทษจำคุกตลอดชีวิตแทน แม้ว่า ผศ.ธานี มองว่า การจำคุกตลอดชีวิตซึ่งต้องทำงานชดใช้สังคมไปตลอดชีวิตด้วยเช่นกันนั้น เหมือนจะโหดร้ายกว่าการจับประหาร เพราะเหมือนตายทั้งเป็น แต่อย่างไรเสีย ก็ควรละเว้นโทษตาย ซึ่งการให้อำนาจรัฐผ่านกระบวนการยุติธรรม สามารถฆ่าอาชญากรด้วยโทษประหารนั้น ถือเป็นการซ้ำเติมการทำลายคุณค่าความเป็นมนุษย์ และต้องขบคิดร่วมกันว่าแนวทางที่โหดร้ายนี้มีความชอบธรรมเพียงพอหรือไม่
สำหรับกระบวนการยุติธรรมนั้น ต้องสามารถตรวจสอบถ่วงดุลได้อย่างมีมาตรฐาน แต่ปัจจุบันตำรวจทำหน้าที่สอบสวนแล้วส่งให้อัยการฟ้องคดี ง่ายที่จะเบี่ยงเบนและไม่ชอบธรรม และอัยการก็ไม่อาจทราบถึงการใช้อำนาจโดยมิชอบของตำรวจได้ โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว อัยการจะเป็นผู้สอบสวนและสั่งฟ้อง และศาลทำงานร่วมกับอัยการในการตัดสินคดี ในไทยนั้นเมื่อต้นทางคือพนักงานสอบสวนมีปัญหา ขาดประสิทธิภาพ ส่วนปลายทางคือศาลก็ชี้โทษตามพยานหลักฐานเท่าที่มี จึงปรากฏเห็นการจับแพะ เกิดความผิดพลาดในการดำเนินคดีต่อบุคคลหรือในกระบวนการยุติธรรมบ่อยครั้ง พร้อมย้ำว่ากระบวนการยุติธรรมและการบังคับโทษ ต้องเป็นไปเพื่อส่งเสริมความเป็นมนุษย์ แม้บุคคลนั้นจะเป็นอาชญากรก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: