ไม่พบผลการค้นหา
ท่ามกลางสภาวะล้มลุกคลุกคลานของประชาธิปไตย เผด็จการทหารแผ่ขยายความหวาดกลัว และปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ คำถามตามมาคือ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว คุณจะหลับตาพริ้มสยบยอมต่ออำนาจอันธพาล เซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการไม่ปริปากบ่น หรือคอยย้ำเตือนความผิดปกติของสังคม และท้าทายอำนาจด้วยการพูดความจริง

4 ปีกว่าภายหลังรัฐประหาร เผด็จการผูกขาดอำนาจเบ็ดเสร็จ เสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของประชาชนถูกทำลาย ห้ามคิด ห้ามเขียน ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ประเทศเงียบงันเสมือนป่าช้า หลายฝ่ายพยายามมองหาคำตอบ และทางออก แต่เมื่อสถานการณ์ต่างๆ ไม่เคยคลีคลาย การแอบเสียดสี เหน็บแนม หรือล้อเลียนกลุ่มผู้มีอำนาจผ่านอารมณ์ขบขัน จึงเลยกลายมาเป็นกระจกสะท้อนสังคม และชวนประชาชนฉุกคิดไตร่ตรองต่อกับหลากหลายประเด็นทางการเมือง

เมื่อหลายปีก่อน อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ เคยกล่าวว่า การพูดความจริงกับอำนาจเผด็จการ เป็นศิลปะอันสร้างสรรค์ของประชาชน เช่นเดียวกับการเกิดขึ้นของ ‘ไข่แมว’ เพจการ์ตูนล้อการเมืองเจ็บๆ คันๆ ซึ่งปรากฏตัวครั้งแรกเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 และเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการสร้างความสามารถในการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์บ้านเมืองท่ามกลางบรรยากาศปิดแบบ ‘กะลาแลนด์’

วันนี้ ยอดฟอล์โลเวอร์มากกว่า 300,000 คนบนเพจเฟซบุ๊ก คงเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การวิจารณ์สภาพสังคมตามแบบฉบับของ ‘ไข่แมว’ คือวิธีการสร้างสรรค์อันแสนแยบยล ซึ่งจุดสำคัญที่ทำให้การ์ตูนเสียดสีสังคมกินใจใครหลายคนคงหนีไม่พ้นการชวนขบคิด ตั้งคำถาม และทำให้บางคนระเบิดเสียงหัวเราะออกมาท่ามกลางห้วงเวลาที่อารมณ์ขันกลายเป็นสิ่งหายาก และท้าทายยิ่งนัก

ณ อาร์ตสเปซขนาดพอเหมาะย่านซอยนราธิวาส 22 การ์ตูนนิสต์ชื่อดัง ‘ไข่แมว’ ผู้มีบทบาทในการวิจารณ์สังคม การเมือง และวัฒธรรมไทย เปิดนิทรรศการเดี่ยว ‘Khai Maew X : Kalaland’ โดยอาจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และอาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ ร่วมกันทำหน้าที่ภัณฑารักษ์ คัดสรรผลงานในโลกออนไลน์มาจัดแสดงแบบออฟไลน์เป็นครั้งแรก


ไข่แมว2.jpg
  • อาจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ และอาจารย์ลลิตา หาญวงษ์ ร่วมกันทำหน้าที่ภัณฑารักษ์นิทรรศการ Khai Maew X : Kalaland

ในวันเปิดนิทรรศการ (7 พฤศจิกายน 2561) ทีมงาน Voice On Being ได้พูดคุยกับอาจารย์บัณฑิต นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ผู้สนใจศิลปะร่วมสมัย และเคี่ยวกรำประสบการณ์การเป็นภัณฑารักษ์มาอย่างเข้มข้น ทว่าเขาเคยวางมือจากงานภัณฑารักษ์อยู่นานหลายปี พร้อมเผยเหตุผลกับเราตรงๆ ว่าเบื่อหน่ายแวดวงการศิลปะ และศิลปินเป่านกหวีด ก่อนตัดสินใจกลับมาลุยงานอีกครั้งเพราะ ‘ไข่แมว’ โดยเฉพาะ

“ช่วงศิลปินกปปส. ผมเบื่อมาก ศิลปะสูญเสียความสามารถด้านการวิจารณ์ และเหตุการณ์ดังกล่าวมันไม่สะท้อนฟังก์ชั่นของศิลปะ หน้าที่ของศิลปะนอกจากการจรรโลงใจแล้ว คือการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ชวนให้ผู้คนฉุกคิด ไม่ได้ชวนให้คนสยบยอม” อาจารย์บัณฑิตกล่าว


ไข่แมว 3.jpg
  • บรรยากาศภายในนิทรรศการ Khai Maew X : Kalaland ซึ่งจัดแสดงภาพการ์ตูนแบบออฟไลน์มากกว่า 150 ชิ้น

“ความถกถอยของสังคมบ้างด้าน ทำให้เราพยายามมองหาคำอธิบายบางอย่าง ดังนั้น ช่วงที่การ์ตูนวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่าง ‘ไข่แมว’ ปรากฏออกมา ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามการทำงานของเขา และจากการเป็นผู้ติดตามผมค้นพบว่า คอนเทนท์บางอย่างของเขาชวนขบคิด และชวนตั้งคำถาม

“กว่าจะออกมาเป็นนิทรรศการใช้เวลานานมาก จริงๆ เราคุยกับแอดมินเพจมาระยะหนึ่งแล้ว ว่าอยากจัดนิทรรศการศิลปะ โดยนำผลงานที่มีชีวิตบนโลกโซเชียลมีเดีย ออกมาสู่ความเป็นศิลปะแบบออฟไลน์ ออกมาสู่ความเป็นป๊อป ความเป็นแมส สามารถจับต้องได้ เพราะการปรากฏอยู่บนโซเชียลมีเดียมันจับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นความท้าทายหนึ่งเหมือนกัน” อาจารย์บัณฑิตเล่าคอนเซปต์ของนิทรรศการ

บริเวณด้านหน้าประตูทางเข้าแกลเลอรี ครอบผู้เข้าชมทุกคนด้วยกะลาขนาดใหญ่ สอดคล้องกับชื่อนิทรรศการ ‘Khai Maew X : Kalaland’ ซึ่งอาจารย์บัณฑิตบอกด้วยว่า ‘กะลาแลนด์’ เป็นการสร้างแบบจำลองมาคำอธิบายสถานการณ์บ้านเมือง ขณะเดียวกันโลกสมมุตที่ ‘ไข่แมว’ มองก็คือ ‘กะลาแลนด์’ เป็นโลกในกะลาคว่ำที่จำกัดความคิดบางอย่าง มีเพดานของสังคม การเมือง และวัฒนธรรมบางอย่าง

“การ์ตูน ‘ไข่แมว’ ธำรงดุลยภาพของความคับแค้นใจ ความสิ้นหวัง แต่ขณะเดียวกันยังสร้างเสียงหัวเราะ และตั้งคำถามกับมันได้”

ก่อนเลือนเปิดประตูเข้าไปพบกับแจ็คแม้ว น้องตาใส และท่านผู้นำ หากลองสแกนคิวอาร์โค้ดจะพบกับลิงก์เข้าสู่บทความของอาจารย์บัณฑิต อาจารย์ลลิตา และอาจารย์เพ็ญจันทร์ โพธิ์บริสุทธิ์ ทั้งเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ และภาษาไทย

ในห้องจัดนิทรรศการสีขาวบริสุทธิ์ ภัณฑารักษ์ทั้ง 2 ท่าน ร่วมกันคัดสรรผลงานของ ‘ไข่แมว’ มาจัดแสดงประมาณ 150 ภาพ อัดแน่นด้วยประเด็นเสียดสีสังคม ล้อเลียนเหตุการณ์ทางการเมือง และบุคคลสาธารณะต่างๆ ตลอดห้วงระยะเวลา 4 ปีกว่าๆ เช่น โจชัว หว่อง เข้าประเทศไทยไม่ได้ ตำนานเครื่องหาวัตถุระเบิดจีที 200 การถือครองทรัพย์สินของนักการเมือง ซึ่งทุกภาพเลือกพิมพ์ลงบนกระดาษไร้กรด (Acid-free paper) คุณภาพของกระดาษคงทนประมาณ 100 ปี พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ชมใคร่ครวญ และตีความอย่างเป็นอิสระ


ไข่แมว4.jpg
  • นิทรรศการ Khai Maew X : Kalaland ยังพิเศษด้วยภาพเพ้นท์ขนาดใหญ่ 3 x 3 เมตร ซึ่งศิลปินวาดขึ้นมาใหม่ และยังไม่เคยแสดงที่ใดมาก่อน


ไข่แมว5.jpg
  • ประติมากรรมแจ็คแม้ว และท่านผู้นำ ขนาดเกือบเท่าคนจริง ยืนเฝ้าประตูทางเข้านิทรรศการ

“ผมพยายามเลือกผลงานที่ชวนชบคิด และชวนตั้งคำถามหลายๆ ประเด็น เช่น การนำภาษีของประชาชนไปซื้ออาวุธ การวิจารณ์แหตุการณ์น้ำท่วม การเลือกอุ้มใครบางคน พร้อมกับคำนึงด้วยว่า ภาพนั้นๆ ต้องข้ามพ้นขีดจำกัดเรื่องกาลเวลา เพราะนิทรรศการมาพร้อมกับคำถามว่า เมื่อข้ามพ้นจากโลกออนไลน์แล้ว ภาพของไข่แมวจะยังมีชีวิตอยู่จริงหรือเปล่า

“ในฐานะภัณฑารักษ์ ผมอยากให้ทุกคนมาชม ไม่บริโภคสิ่งของก็ไม่เป็นไร แต่การมาชมงานไข่แมวในอีกรูแแบบหนึ่ง ที่พ้นจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือหน้าจอมือถือ มันทำให้คนตระหนักรู้ถึงความมีอยู่จริงของประเด็นบางอย่าง”

มากไปกว่านั้น นิทรรศการยังพิเศษด้วยภาพเพ้นท์ขนาดใหญ่ 3 x 3 เมตร ประติมากรรมขนาดเกือบเท่าคนจริง รูปหล่อทองเหลืองจาก 3 คาแรกเตอร์หลัก และตู้คีบตุ๊กตา เพื่อให้ผู้เข้าชมนิททรศการได้ร่วมสนุก


ไข่แมว6.jpg
  • ประติมากรรมน้องตาใส ซึ่งเป็นหนึ่งในคาแรกเตอร์หลักของศิลปิน ‘ไข่แมว’


ไข่แมว7.jpg
  • ตู้คีบตุ๊กตา ที่ผู้ชมนิทรรศการสามารถร่วมสนุกได้ด้วยการหยอดเหรียญโทเคนครั้งละ 50 บาท


ไข่แมว8.jpg
  • อาจารย์บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ กับรูปหล่อทองเหลือง 3 คาแรกเตอร์หลักของศิลปิน ‘ไข่แมว’ ได้แก่ แจ็คแม้ว น้องตาใส และท่านผู้นำ

อย่างไรก็ตาม เมื่อปีที่ผ่านมา สังคมไทยเริ่มเกิดแรงกระเพื่อม ศิลปินหันมาทำงานวิจารณ์การเมืองกันมากขึ้น และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างเปิดเผย บวกกับคุณภาพของงานศิลปะช่วงหลังๆ ก็พัฒนาขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจารย์บัณฑิตกล่าวว่า มันเป็นอารมณ์ของยุคสมัย

ในขณะเดียวกัน หากมองการเกิดขึ้นของศิลปะ และศิลปินเสียดสีสังคมตามมุมของของนักรัฐศาสตร์ อาจารย์บัณฑิตสะท้อนความคิดเห็นออกมาว่า ห้วงเวลาของอำนาจนิยมกำลังจะหมดไป และห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านกำลังจะเกิดขึ้น ราวกับโมเมนท์ตัมของโลกเดินถึงจุดที่หยุดยั้งไม่ได้

“ในห้วงเวลานี้ เป็นช่วงที่คนไทยรอการเปลี่ยนแปลง รอการข้ามพ้นความรู้สึกคับข้องใจ และความรู้สึกอึดอัดบางอย่างที่พูดออกมาไม่ได้ เหมือนศิลปินแร็ปต้านเผด็จการ (Rap Against Dictatorship) ที่ออกมาร้องเพลง และถูกคนกลุ่มหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ ขณะเดียวกันคนจำนวนมากกลับรู้สึกว่ามันน่าฟัง ผมว่างานของ ‘ไข่แมว’ อาจจะมีคุณลักษณะเดียวกัน

“แต่ต้องไม่ลืมว่า งานของไข่แมวทำให้ทุกอย่างดูน่าหัวเราะะ ซึ่งในโลกของความเป็นจริงมันไม่เกิดขึ้น ไข่แมวไม่มีความสุดโต้ง ไม่มีความก้าวร้าว มีแต่ความนุ่มนวลในการพูด และการชวนคนมาตั้งคำถาม เพราะว่าถ้าวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความรุนแรง หรือผรุสวาทวาจาก็คงอยู่ไม่ได้หลายปีแบบนี้ แล้วก็คงไม่มีฟอล์โลเวอร์นานแบบนี้”

นิทรรศการ ‘Khai Maew X : Kalaland’ จัดแสดงระหว่างวันที่ 7-22 พฤศจิกายน 2561 เวลา 13.00-18.00 น. เปิดนิทรรศการวันเสาร์ที่ 10 พฤศจิกายน 2561 เวลา 18.00 น. ณ Artist + Run Gallery ซอยนราธิวาส 22 ดูรายละเอียดได้บนเพจอีเว้นท์

On Being
198Article
0Video
0Blog