นายนิกร จำนง อดีตกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สปท. ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับที่กรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฏหมายไปอีก 90 วัน เพราะเป็นการกระทำที่ผิดอยู่หลายกรรม กล่าวคือ
1. ผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 และ 268 ที่ต้องการจัดให้มีการเลือกตั้ง เนื่องจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้นำเสนอและมีการอภิปรายรวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนหลายครั้ง และเชื่อว่ากรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้ตรวจสอบและรับรองเรื่องกรอบระยะเวลาในการนำไปสู่การเลือกตั้งอย่างละเอียดแล้ว จนนำมาสู่การทำประชามติ หากมีการแก้ไขหรือขยายกรอบระยะเวลาหลายครั้งก็ย่อมเป็นการทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ อีกทั้งรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาก็ได้ให้เวลาในการเตรียมการเลือกตั้งไว้แล้ว โดยรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ให้เวลาไว้แล้วถึง 150 วัน
2.ผิดความประสงค์ของประชาชน ที่ได้ไปใช้สิทธิออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 เพราะคาดหวังว่าหากเห็นชอบใหมีรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว ตามที่บัญญัติไว้ให้ประชาชนได้ลงคะแนนเห็นชอบ
3.ผิดในเชิงผลประโยชน์ขัดกัน ของสนช.เองโดยตรง เพราะการขยายเวลาออกไปเท่าใดก็จะส่งผลให้การดำรงตำแน่งของสนช.ยืดยาวออกไปเท่านั้น และอาจถูกกล่าวหาว่าหวังสร้างผลงานเพื่อให้พวกตนเองได้กลับมามีอำนาจในการเป็นสมาชิกวุฒิสภาผ่านการคัดเลือกของ คสช.ต่อไปได้ ประเด็นนี้อาจถูกร้องเรียนได้ทันทีและในอนาคตหากมีการดำเนินการต่อไป
4.ผิดต่อคำสั่ง คสช. ที่ 53/2560 ข้อ 8 กล่าวคือ เจตนารมณ์ของคำสั่งในข้อนี้ ต้องการที่จะให้ ร่าง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. “มีผลบังคับใช้ทันทีหลังจากที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ดังนั้นการอ้างว่าการขยายกรอบระยะเวลาเลือกตั้งเป็นเหตุอันควรจากคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 นั้นยกมาอ้างไม่ได้ เนื่องจากอาจถูกมองได้ว่าประสงค์ต่อผล จึงกำหนดเหตุดังกล่าวขึ้นมาเอง เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เป็นปัญหา ทำให้ถูกมองได้ว่าประสงค์ต่อผล จึงกำหนดเหตุขึ้นมา โดยการสร้างเงื่อนไขให้เกิดปัญหาจนทำให้ต้องมีการขยายกรอบระยะเวลาในการเลือกตั้งออกไป
นายนิกรเรียกร้องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติทั้งหลายช่วยกันยับยั้งการแก้ไขขยายเวลาดังกล่าว เพราะจะนำไปสู่ความเสียหายในหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาพพจน์ของ สนช.ทั้งอาจถูกร้องว่าร่วมกันกระทำผิดด้วย ส่วน คสช.นั้นอาจจะถูกกล่าวหาว่าสร้างเหตุขึ้นมาเพื่อประสงค์ต่อผลได้ และกรณีนี้จะนำไปสู่การผิดคำพูดของนายกรัฐมนตรี ที่ก่อนหน้านี้นายกฯได้ประกาศโรดแมปเลือกตั้งไว้แล้วว่า���ะจัดให้มีการเลือกตั้งในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ซึ่งหากมีการขยายเวลาออกไปก็จะส่งผลกระทบทำลายภาพพจน์ความเชื่อมั่นของประชาชนและนานาชาติที่มีต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งยังไม่รู้ได้ว่านานาชาติจะมีท่าทีอย่างไรถ้ามีการเลื่อนออกไปอีกครั้ง แต่ที่สำคัญที่สุดคือจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศอย่างแน่นอน กรณีนี้จะเป็นการได้ที่ไม่คุ้มเสียจึงขอความกรุณาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทบทวนให้ดี
“องอาจ”ชี้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย เลือกตั้ง 90 วัน เพราะยังแต่งตัวพรรคใหม่ไม่เสร็จ ตามแผนสืบทอดอำนาจ
อีกด้านหนึ่ง นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพรบ.ว่าด้วยการเลือกตั้งสส.มีมติเสียงข้างมากให้แก้ไขมาตรา 2 กำหนดให้ร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ 90 วัน ว่าการยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปก็คงทำให้กรอบระยะเวลาการเลือกตั้งตามโรดแม็ปตามที่นายกฯเคยกล่าวไว้จะมีการเลือกตั้งเดือนพฤศจิกายน 2561 เลื่อนออกไปโดยปริยายในฐานะที่เป็นนักการเมืองก็ไม่ได้รู้สึกแปลกใจอะไร ไม่ได้รู้สึกจะเป็นจะตาย ถ้าการเลือกตั้งเลื่อนออกไปจากเดิม 90 วัน
เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมาย เป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ เป็นเพราะผู้มีอำนาจยังเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ไม่เสร็จเรียบร้อยใช่หรือไม่ พูดง่ายๆว่ายังแต่งตัวพรรคใหม่ไม่เสร็จเลยต้องหาช่องทางทอดระยะเวลาการบังใช้กฎหมายออกไปใช่หรือไม่
การดำเนินการขยายเวลาของการบังคับใช้กฎหมายครั้งนี้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสืบทอดอำนาจที่ดำเนินการมาเป็นขั้นตอน โดยเฉพาะเมื่อมีความชัดเจนว่าต้องจัดตั้งพรรคใหม่ และดูดนักการเมือง จากพรรคเก่า การเคลื่อนไหวเพื่อบอนไซพรรคเก่า สร้างพรรคใหม่จึงดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง
เริ่มจากการไม่ยกเลิกคำสั่งคสช.ที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ถึงแม้จะมีกฎหมายพรรคการเมืองออกมาใช้หลายเดือนแล้ว จากนั้นก็ใช้มาตรา 44 รีเซ็ตสมาชิกพรรคการเมืองเก่าออกเงื่อนไขที่ปฏิบัติได้ยากและขัดรัฐธรรมนูญ จนในที่สุดก็มาถึงการขยายเวลาการเลือกตั้งสส.ยืดออกไปอีก 90 วัน
นายองอาจตั้งคำถามด้วยว่าทั้งหมดนี้เป็นเพราะพรรคใหม่ยังแต่งตัวไม่เสร็จใช่หรือไม่
"จากการเคลื่อนไหวของผู้มีอำนาจเช่นนี้ทำให้น่าเป็นห่วงว่าเมื่อผู้มีอำนาจที่เคยแสดงตัวว่าเป็นกรรมการแล้วเปลี่ยนสถานะมาเป็นผู้เล่นในสนามเสียเอง แถมยังใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงกฎ กติกา ไปตามอำเภอใจ ทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าการเข้าสูอำนาจโดยการเลือกตั้งจะเป็นไปด้วยความสุจริตเที่ยงธรรมหรือไม่ จึงขอฝากผู้มีอำนาจช่วยไตร่ตรองให้ดีว่าการสืบทอดอำนาจโดยใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมอาจนำพาประเทศไปสู่ปัญหาใหม่ได้ในที่สุด" รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวทิ้งท้าย