เพจเฟซบุ๊กของ 'Workpoint News - ข่าวเวิร์คพอยท์' เผยแพร่ประกาศลงโทษบรรณาธิการข่าวภูมิภาค เวิร์คพอยท์นิวส์ สถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ ระบุว่า กรณีการนำเสนอข่าวของบรรณาธิการข่าวภูมิภาค เวิร์คพอยท์นิวส์ทางสถานีโทรทัศน์เวิร์คพอยท์ที่นำมาเผยแพร่ออกอากาศทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อต่างๆ โดยการกระทำดังกล่าว ทางบริษัทฯ มิได้นิ่งนอนใจ ได้ทำการสืบสวนหาข้อเท็จจริง และพบว่า บรรณาธิการข่าวได้กระทำการโดยพลการ และขาดการใช้วิจารณญาณในการปฏิบัติงานอันเกี่ยวข้องกับจริยธรรมในการนำเสนอข่าว บริษัทฯ จึงได้กำหนดให้บทลงโทษ โดยให้ 'นายฤทธิชัย ชูวงษ์' ตำแหน่งบรรณาธิการข่าวภูมิภาค พักงานโดยไม่มีกำหนด และให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. 2561 เป็นต้นไป
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 10 ก.ค. ที่ผ่านมา นายฤทธิชัย ชูวงษ์ บรรณาธิการข่าวเวิร์คพอยท์ ได้ส่งเอกสารชี้แจงกรณีดักฟังวิทยุราชการ โดยส่งถึงนายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ประธานกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ซึ่งเผยแพร่บทความผ่านเฟซบุ๊กเพจ 'จริยธรรมสื่อวิทยุและโทรทัศน์' ซึ่งเป็นช่องทางสื่อสารของคณะกรรมการจริยธรรมฯ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ โดยตั้งคำถามว่าสื่อดักฟังวิทยุราชการทำได้หรือไม่
นายฤทธิชัยได้ชี้แจงในจดหมายดังกล่าวว่า เวิร์คพอยท์ไม่ได้ดักฟังวิทยุราชการในส่วนที่เกี่ยวกับปฏิบัติการของศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย (ศอร.) เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ตามที่มีรายงานพาดพิงถึงในเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา และยืนยันว่าเวิร์คพอยท์ไม่ไ���้ทำผิดกฎหมาย
เนื้อหาในจดหมายของนายฤทธิชัยระบุด้วยว่า การเผยแพร่บทความของนายบรรยงค์มีโอกาส 'หมิ่นเหม่' หรืออาจทำผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จึงเรียกร้องให้นายบรรยงค์ผลักดันให้มีการตรวจสอบจริยธรรมสื่อมวลชนที่บิดเบือนข้อมูลข่าวสารโจมตีสำนักอื่น จนทำให้ประชาชนเกิดความเกลียดชังสำนักข่าว หรือแม้แต่ตัวท่านเองเกิดความเข้าใจผิด จนทำให้ต้องเขียนบทความให้ความรู้แก่กับฝ่ายข่าวเวิร์คพอยท์ ซึ่งเฟซบุ๊ก 'จริยธรรมสื่อวิทยุและโทรทัศน์' ได้นำจดหมายดังกล่าวมาเผยแพร่สู่สาธารณชน
จากกรณีดังกล่าว นายบรรยงค์ สุวรรณผ่อง ปธ.กก.จริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เปิดเผยกับ 'วอยซ์ ออนไลน์' ว่า การเผยแพร่บทความเรื่องจริยธรรมสื่อและการดักฟังข้อมูลของราชการ ได้รับความสนใจจากผู้ใช้สื่อออนไลน์เป็นจำนวนมาก มีผู้เข้าชมโพสต์กว่า 115,000 คน และมีผู้แสดงความคิดเห็นกว่า 1,100 คน ซึ่งเรียกได้ว่าสังคมช่วย 'ดูแลสื่อ' อย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
"ไม่มีอะไรดีกว่า 'สังคม' หรอกครับ ที่จะช่วยกันตรวจสอบพวกเราที่ทำงานกันอยู่" นายบรรยงค์กล่าว
นายบรรยงค์ระบุว่า คนทำงานอาชีพเดียวกัน จะมาตำหนิกันก็ไม่ใช่เรื่อง แต่หน้าที่ของฝ่ายจริยธรรมก็จะต้องเตือนไป เมื่อบอกไปแล้ว ผู้ที่ถูกลงโทษชี้แจงมา ทางคณะกรรมการจริยธรรมฯ ก็ต้องเปิดพื้นที่ให้โดยไม่ได้โต้ตอบใดๆ ทั้งสิ้น แต่ลงข้อมูลไปอย่างนั้น เพื่อให้สังคมใช้ดุลพินิจเอง
ส่วนกรณีดักฟังวิทยุราชการ แม้ในทางปฏิบัติ หลายๆ สำนักข่าวก็ใช้วิธีการดังกล่าวเช่นกัน โดยนายบรรยงค์ได้ยกตัวอย่างข่าวอาชญากรรม เช่น เรื่องอุบัติเหตุ อาจมีการฟังข้อมูลจาก ว.ดำของหน่วยราชการ และ ว.แดงของพวกอาสา แต่ในที่สุดแล้วก็ต้องกลับไปตรวจสอบที่แหล่งข่าวว่าเจ้าหน้าที่ประจำวันและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีความเห็นหรือข้อมูลว่าอย่างไร แต่ไม่ได้กล่าวถึงแหล่งที่มาของข้อมูล จึงถือว่าไม่ได้เปิดเผยอะไรนอกจากข้อมูลจากแหล่งข่าวที่สามารถเปิดเผยได้จริง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :