ไม่พบผลการค้นหา
'อภิสิทธิ์' แนะ คสช. ประกาศให้ชัดเรื่องพรรคการเมือง หลังปรับบทบาทจาก 'กรรมการ' มาเป็น 'ผู้เล่น' จี้ เลิกใช้ม. 44 กับองค์กรอิสระ-กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ฟากปธ. สนช. โต้ ทำตามหน้าที่ ไม่ได้ทำตามคำสั่ง คสช.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ คสช. ประกาศให้ชัดเรื่องพรรคการเมือง หากจะมีการปรับบทบาทจากกรรมการมาเป็นผู้เล่นในช่วงการเลือกตั้ง ซึ่งข้อกังวลของตนนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเสียเปรียบได้เปรียบทางการเมือง แต่ คสช. จะต้องระมัดระวังเรื่องนี้เป็นพิเศษเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบการเลือกตั้ง และการบังคับใช้กฎหมาย

หลังจากมีกระแสข่าว ระบุว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี อ้างเรื่องพรรคให้ถามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถ้าบุคคลทั้งสองมาเป็นผู้บริหารพรรคจริงตามข่าว ทั้งสองคนก็ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ เพราะคนที่เป็นรัฐมนตรีต้องลาออก นับแต่รัฐธรรมนูญใช้บังคับภายใน 90 วัน แสดงว่ารัฐธรรมนูญต้องการให้การเลือกตั้งเป็นเรื่องการแข่งขันของคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐในขณะนี้ แต่ถ้าเป็นผู้บริหารหลักแล้วไม่ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ก็เป็นการเลี่ยงในเชิงกฎหมายตามตัวอักษรเท่านั้นเอง

ส่วนการลงพื้นที่ของพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คนยอมรับได้ว่าการเป็นรัฐบาลต้องมีการทำงานลงพื้นที่สัมผัสประชาชน แต่ก็มีเส้นแบ่งว่าทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือจงใจใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเป็นหลัก ถ้าหากเป็นแบบนี้ก็จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จะทำให้เกิดการโต้แย้งในเรื่องความเป็นกลางได้ง่าย เพราะรัฐมนตรีลงพื้นที่จะถูกจับตา และอาจถูกร้องเรียนว่าให้คุณให้โทษในเรื่องการเลือกตั้ง

นอกจากนี้นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจาก กกต. ว่า เป็นปัญหาที่ คสช. ต้องสร้างความมั่นใจ ว่ากลไก กกต. ทำงานเป็นอิสระอย่างแท้จริง เพราะถ้าไม่เริ่มต้นจากการเลือกตั้งสุจริต รัฐบาลก็เลิกพูดเรื่องปฏิรูปการเมืองและธรรมาภิบาลได้เลย คสช.เข้ามาเป็นผู้เล่น ไม่ได้เป็นแค่กรรมการ ก็จะเป็นปัญหาหนักขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีเส้นแบ่งที่ชัดเจน และรัฐบาลต้องไม่ใช้มาตรา 44 กับองค์กรอิสระหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญอีก เพื่อไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่นกับการทำงานขององค์กรอิสระ

ขณะที่ กกต.ชุดปัจจุบัน ต้องมีความพร้อมที่จะใช้อำนาจของตัวเองในฐานะผู้รักษากฎหมายหลัก ไม่ใช่รอตอบสนอง คสช. อย่างที่ตนเคยตั้งคำถามไปก็กลับได้รับคำตอบว่าต้องถาม คสช. ก่อน ทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องกฎหมายพรรคการเมืองไม่ใช่ คำสั่งหัวหน้าคสช. ส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นในความเป็นอิสระของ กกต. ยิ่งเมื่อ คสช. เปลี่ยนบทบาทมาเป็นผู้เล่นก็ยิ่งเกิดปัญหา จึงอยากให้ กกต. ชุดปัจจุบันพร้อมแสดงตนเป็นผู้รักษากฎหมายด้วย 

อย่างไรก็ตาม การทำงานของ กกต.ชุดใหม่ที่กำลังมีการสรรหาอยู่ในขณะนี้ต้องทำงานหนักเพราะมีเรื่องใหญ่ ๆ ตามกฎหมายใหม่ เช่น สะสางปัญหากฎหมายพรรคการเมืองกับคำสั่งคสช. ที่มีปัญหาขัดแย้งในตัวเอง ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินมีการวินิจฉัยแล้วว่าสร้างความเดือดร้อนและภาระเกินความจำเป็น มีปัญหาในทางปฏิบัติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพรรคใหม่และเก่าต้องดำเนินการหาสมาชิก, ตั้งสาขาพรรคประชุมใหญ่, และเลือกกรรมการบริหารพรรค นอกจากนี้กฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็เป็นเรื่องใหม่ หาก คสช. ยืนยันต้องมีการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกก็จะเป็นงานหนักสำหรับ กกต. ชุดใหม่ เมื่อเข้ามาทำหน้าที่ก็ต้องเร่งสร้างความพร้อมรองรับกติกาใหม่ ในเวลาอันสั้น แต่ยังไม่ทราบว่าจะได้กกต. ชุดใหม่เมื่อไหร่

ประธาน สนช. ชี้หลังสงกรานต์ เร่งออกกม.ตามรธน.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. กล่าวว่า หลังสงกรานต์ จะมีการออกกฏหมายตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลเริ่มทยอยส่งมาแล้วหลายฉบับอาทิ กฎหมายเกี่ยวกับศาล อัยการ เป็นต้น ซึ่งตามรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ สนช. ต้องร่างให้เสร็จภายใน 1 ปี หรือ 3 ปี แล้วแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนด 

อย่างไรก็ดี กฎหมายที่จะต้องออกให้เสร็จภายใน 1 ปีนั้น มีเยอะกว่า ดังนั้นจึงต้องก็จะต้องเร่งทำงานให้ทัน นอกจากนี้ ยังมีกฎหมายที่เป็นไปตามแผนปฏิรูปของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ และเป็นแผนปฏิรูปของรัฐบาล ซึ่งส่วนหนึ่ง สนช.ได้มีการเตรียมการไว้แล้ว รวมถึงการปฏิรูปตำรวจด้วย ทั้งนี้ กฎหมายตามแผนการปฏิรูปอาจจะต้องใช้เวลาเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติที่จะออกมาด้วยเช่นกัน

'พรเพชร' โต้ทำงานตามหน้าที่ ไม่ได้ทำตามคำสั่ง คสช.

ส่วนประเด็นที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาพูดถึงการทำงานของ สนช. ว่าทำตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และทำงานไม่รอบคอบนั้น นายพรเพชร กล่าวว่า ตนยืนยันว่าไม่เคยรอคำสั่ง คสช. เพราะกฎหมายเสนอโดยรัฐบาล เป็นไปตามหลักสากล ขณะที่ รัฐบาลจะมีผู้แทนเข้ามาชี้แจงในกฎหมายแต่ละฉบับเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ซึ่งผู้แทนรัฐบาลที่เข้ามาชี้แจงกฎหมายไม่ว่าฉบับใดก็ตาม สนช.จะรับฟัง ดังนั้นการทำงานจะเป็นไปตามคำสั่งของคสช.ได้อย่างไร ในเมื่อตัวแทนของรัฐบาลที่เข้ามามีส่วนร่วมในการร่างกฎหมาย เขาประสงค์สิ่งใดเขาก็จะเขียนไว้ในกฎหมายมาตั้งแต่แรกอยู่แล้ว


"การที่พรรคการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ สนช. ก็ดีแล้ว เราจะได้รับรู้ แต่ที่ออกมาวิจารณ์กันนั้น ผมถือว่าไม่เป็นไร แต่ขอยืนยันว่า การทำงานของเราที่ผ่านมา ไม่เห็นข้อบกพร่องและไม่ได้มีปัญหาอะไร จะมีก็แต่ในส่วนของกฎหมายที่ต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้เราก็ต้องรอดูผล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยเองว่า กฎหมายนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป" ประธาน สนช. กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

'อภิสิทธิ์' ซัด รัฐบาล คสช. 4 ปี ปฏิรูปเหลว

เท่าทัน 'แผนโฆษณาชวนเชื่อ' หนุน 'ลุงตู่ อยู่ยาว 20 ปี'

'ประยุทธ์' เผยยังไม่ถูกทาบทามจากพรรคการเมือง