ที่สำนักงานกลางนักเรียนคริสเตียน (สะพานหัวช้าง) เครือข่าย People Go Network ร่วมกับเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ จัดเสวนา "รัฐธรรมนูญประชาราษฎร์ : ความฝันอันสูงสุด" ซึ่งเป็นการให้ผู้ร่วมงานและวิทยากรแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยวิทยากรในหัวข้อ, "วิกฤตสังคมไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 60" ซึ่งเป็นตัวแทนภาคประชาชน จากกรณีปัญหาต่างๆ ร่วมนำเสนอ ที่สำคัญคือ
(1.) ประสิทธิ์ชัย หนูนวลจากเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
(2.) กิตติธัช ดีการ กลุ่มเกษตรกรพอใจธรรม
(3.) สมนึก วงมีวศิน จากกลุ่มศึกษาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC
(4.) ศศิประภา ไร่สงวน จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
(5.) ณัฐฐาพันธ์ แสงทับ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ หรือ สตก.
(6.) ศุกรียา วรรณายุวัฒน์ จากกลุ่มคณะจุฬา
(7.) ชัญญา รัตนธาดา จากกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
(8.) กรกนก คำตา จากกลุ่มผู้หญิงปลดแอก ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น "กลุ่มแฟมมินิสต์ปลดแอก"
โดยต่างเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ต้องแก้ไข เพราะออกแบบมาเพื่อสืบทอดอำนาจรัฐประหารและมุ่งยึดกุมทรัพยากรโดยผู้มีอำนาจรัฐ มีเนื้อหาเพิ่มอำนาจรัฐ ลดอำนาจประชาชน ด้วยการโยกสิ่งที่เป็นสิทธิของประชาชนที่พึงมีพึงได้ ไปอยู่ในหมวดที่เกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐ โดยเฉพาะสิทธิชุมชนและคนตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งรวมถึงภาคประชาสังคม และสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย และรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชนที่จะต้องการคือ ต้องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของคณะรัฐประหาร, ต้องพูดถึงสิทธิของเกษตรกรและสิทธิของผู้บริโภค นอกจากนี้ยังต้องแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่ออกมาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60
ประสิทธิ์ชัย ยืนยันว่า รัฐธรรมนูญปี 60 ออกแบบมาให้ผู้มีอำนาจยึดกุมทรัพยากรทุกอย่าง รวมศูนย์อำนาจ ไว้ที่รัฐบาลและตัดสิทธิชุมชนและสิทธิของประชาชน ซึ่งนอกจากต้องมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ยังต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งออกมาภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2560 และกำหนดให้ภาครัฐต้องมีมาตรการเยียวยา ผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่ไม่มีส่วนร่วมด้วย
ศศิประภา กล่าวว่า มนุษย์ทุกคนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาหารที่มีประโยชน์และอากาศที่บริสุทธิ์ ถ้ามีประชาธิปไตยแล้วจะได้สิ่งแวดล้อมที่ดี ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะต้องรับรอง และในเชิงปฏิบัติ หรือการบังคับใช้กฎหมายที่รับรองสิทธิ์ในเรื่องนี้ด้วย อย่างน้อยหากสังคมในประชาธิปไตย เสียงของชุมชนหรือคนตัวเล็กตัวน้อยจะถูกรับฟังจากผู้มีอำนาจด้วยความจริงใจและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
สุกรียา รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ไม่ได้พัฒนาคุณภาพพลเมืองและ ไม่ได้สร้างชาติให้เจริญรุ่งเรือง พร้อมว่า รัฐธรรมนูญฉบับของประชาชน ต้องรับรองในเรื่องสิทธิและโอกาสของทุกคนที่ต้องเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ รวมถึงการกระจายอำนาจซึ่งเป็นเรื่องการปฏิบัติ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องท้องถิ่น มีอำนาจบริหารจัดการตลอดจนการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้เรียนทุกช่วงวัย ให้มีส่วนร่วมทางการศึกษา ซึ่งต้องระบุอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญ เพื่อทำให้สิ่งเหล่านี้ทรงคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ
ชัญญา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงเพศสภาพหรือผู้ผ่าตัดแปลงเพศ ไม่ใช่ผู้ป่วยไข้ ดังนั้นในทางกฎหมายหรือรัฐธรรมนูญ จะต้องจัดเป็นสวัสดิการของรัฐ สร้างความเสมอภาคทางเพศ รวมถึง ต้องให้ยุติการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมโดยถูกกฎหมาย หรือ "ทำแท้งเสรี" ได้ด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญ 2560 รวมถึงกฎหมายไทย มีปัญหากับผู้หญิง มองเด็ก, ผู้หญิงและคนพิการ ต้องได้รับความสงเคราะห์ อันมาจากทัศนคติแบบ "ชายเป็นใหญ่" ไม่ได้มาจากการทำให้ผู้หญิงได้รับความเป็นธรรมและความเสมอภาคทางเพศ ปัญหาคือต้องเปลี่ยนคำไม่ให้เป็นการสงเคราะห์ ในรัฐธรรมนูญไม่ควรใช้คำว่าชายกับหญิง แต่ควรใช้คำว่า "บุคคล" ที่ครอบคลุมถึงคนทุกเพศสภาพ