เมื่อวันที่ 28 พ.ย.ที่ผ่านมา 'ฮาซัน ยามาดีบุ' ตัวแทนกลุ่ม 'บุหงารายา' องค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งรณรงค์ด้านสื่อและการศึกษา ได้เข้าร่วมในเวทีการประชุมสหประชาชาติ (UN) ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและการศึกษาภาษาชนกลุ่มน้อย (Human rights and minority language education) ที่สำนักงาน UN นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์
ฮาซันระบุตอนหนึ่งว่า "ภาษามลายูอยู่ในภาวะวิกฤต" สืบเนื่องจากนโยบายกลืนกลายทางวัฒนธรรมที่ภาครัฐไทยบังคับใช้มาเป็นเวลานาน โดยเขาได้ยกตัวอย่าง การเปลี่ยนชื่อสถานที่ในจังหวัดชายแดนใต้เป็นภาษาไทย การใช้ไวยากรณ์ (ภาษามลายู) ที่ไม่ถูกต้องและขาดความรู้
ฮาซันยังระบุด้วยว่า ภาษามลายูไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในหลักสูตรการศึกษาของรัฐบาล ทำให้ผู้มีเชื้อสายมลายูในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยต้องพยายามสร้างระบบการศึกษา รวมถึงโรงเรียนสอนภาษาและวัฒนธรรมให้แก่ลูกหลานของตนเอง แต่ภาครัฐไทยไม่มีนโยบายส่งเสริมหรือปกป้องอัตลักษณ์และภาษามลายู แต่ส่งเสริมให้เรียนภาษาไทยในโรงเรียนตาดีกา รวมถึงแทรกแซงหลักสูตรในโรงเรียนเหล่านี้โดยบังคับให้ใช้ตัวอักษรไทยแทนตัวอักษรยาวี
นอกจากนี้ การสอนภาษาและวัฒนธรรมปาตานี-มลายูยังถูกขัดโดยภาครัฐไทย ที่กล่าวหาว่าโรงเรียนเหล่านี้มีผู้แบ่งแยกดินแดน ครูจำนวนมากถูกจับกุมในฐานะ 'ผู้ต้องสงสัย' ว่าสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน และมีการส่งเจ้าหน้าที่ทหารติดอาวุธไปยังโรงเรียนตาดีกาและปอเนาะ ซึ่งยิ่งทำให้เป็นอันตราย เพราะโรงเรียนกลายเป็นเป้าหมายโจมตีของกลุ่มติดอาวุธที่เป็นฝ่ายตรงข้าม
ท้ายสุด ฮาซันได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ปัจจัยที่กล่าวมาทั้งหมดทำให้การพัฒนาภาษาและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่เป็นเรื่องยาก นโยบายกลืนกลายอย่างก้าวร้าวก็ส่งผลด้านลบต่อคนในสังคม เขาจึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยว่า จะต้องหยุดการกลืนกลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะการกลืนกลายผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนมลายู, ต้องทำให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดทหารติดอาวุธและปฏิบัติการทางทหารต่างๆ รวมถึงให้อิสระแก่โรงเรียนตาดีกาและโรงเรียนปอเนาะในการพัฒนาภาษาและวัฒนธรรมโดยปราศจากการตั้งแง่สงสัย
หลังจากตัวแทนกลุ่มบุหงารายาเข้าร่วมเวทีสหประชาชาติที่นครเจนีวาได้ไม่นาน ก็มีการแถลงจากฝั่งสำนักนายกรัฐมนตรีในวันที่ 1 ธ.ค.2562 ยืนยันว่า รัฐบาลส่งเสริมความหลากหลายทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของคนในแต่ละท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน
ส่วนเฟซบุ๊กของ 'วาสนา นาน่วม' ผู้สื่อข่าวสายทหารและผู้เขียนหนังสือชื่อดังชุด 'ลับลวงพราง' โพสต์ข้อมูลพาดพิงการประชุมที่เวที UN โดยข้อความตอนหนึ่งระบุว่า "บิดเบือน บนเวที UN อ้างเกิดวิกฤติภาษามลายู Melayu, Malayในชายแดนใต้! อ้างมุสลิมชายแดนใต้ ถูกกีดกันการเรียนการสอนด้วยภาษามลายู และชื่อสถานที่ ไม่ใช่ภาษามาลายู รองโฆษกรัฐบาลแจง รัฐบาลไม่เคยแทรกแซง แต่สนับสนุนงบฯ ตลอด แถมหลักสูตรกลางอิสลามศึกษา ก็มีภาษามลายู ยันชัด ชื่อสถานที่ ก็ภาษามาลายู ทั้งนั้น วอนอย่าสร้างความเกลียดชัง"
รองโฆษกสำนักนายกฯ ยันรัฐส่งเสริมอัตลักษณ์-วัฒนธรรมหลากหลาย แนะพิจารณาข้อมูลต่างๆ ให้หนักแน่น
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาชี้แจงต่อข้อกังวลของตัวแทนภาคประชาสังคมจากจังหวัดชายแดนใต้ ที่ระบุถึงวิกฤตภาษามลายู ณ เวทีสหประชาชาติ โดยระบุว่า รัฐบาลได้ดำเนินการส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่เข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมและภาษาท้องถิ่นเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยให้การสนับสนุนงบประมาณโรงเรียนตาดีกา สถาบันศึกษาปอเนาะ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา ซึ่งทั้งสามสถาบันนี้เป็นแหล่งให้ความรู้ทางด้านศาสนาและภาษาแก่เยาวชนมุสลิมในพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนตาดีกาที่ตั้งอยู่ในชุมชน ซึ่งเด็กระดับประถมจะไปเรียนในวันเสาร์-อาทิตย์
ในส่วนของสถาบันศึกษาปอเนาะ การเรียนการสอนสำหรับเด็กมัธยมเป็นไปอย่างสอดคล้องกับวิถีชาวบ้าน ให้ความรู้ทั้งทางศาสนาและภาษามลายู เสริมด้วยวิชาสามัญเพื่อทักษะในการประกอบอาชีพเท่าทันสถานการณ์
ปัจจุบัน กระทรวงศึกษาได้จัดทำหลักสูตรกลางอิสลามศึกษาสำหรับผู้สนใจในระดับชั้นประถม มัธยมต้น และปลาย ทั้งในแบบภาษาไทยและมลายู ซึ่งกระทรวงฯ ไม่ได้เข้าแทรกแซง แต่เป็นการจัดทำหลักสูตรร่วมกันระหว่างศึกษานิเทศก์ที่มีความเชี่ยวชาญ โต๊ะครู และสมาคมโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม
ต่อคำกล่าวเรื่องการไม่ใช้ภาษามลายูเป็นชื่อสถานที่ นางสาวรัชดา ชี้แจงว่า ชื่อหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ รวมถึงสถานที่ท่องเที่ยว หากมีชื่อเรียกภาษามลายูอยู่ก่อนแล้ว ชื่อนั้นก็ยังใช้อยู่ทุกวันนี้ เช่น บ้านตะบิงติงงี บ้านคาแวะ ต.กาบัง ต.สะเอะ อ.เจาะไอร้อง อ.ระแงะ หาดตะโล๊ะสะมีแล หาดตะโละกาโปร์
ดังนั้น ขอให้ประชาชนและนานาชาติมั่นใจต่อนโยบายของรัฐบาลที่เคารพในเสรีภาพในการนับถือศาสนาของคนทุกกลุ่ม และส่งเสริมอัตลักษณ์และวัฒนธรรมอันหลากหลาย รวมถึงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เพราะนั่นคือหัวใจของสันติภาพอย่างแท้จริง และขอให้พิจารณาข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่ด้วยความหนักแน่น อย่าตกเป็นเครื่องมือการสร้างความเกลียดชัง เพราะกระแสจากภายนอกจะกระทบวิถีชีวิตคนในพื้นที่และอาจขยายวงไปสู่ประเด็นอื่น วันนี้คนไทยพุทธและไทยมุสลิมไม่ได้มีความขัดแย้งต่อกัน และประเทศไทยไม่มีความขัดแย้งทางศาสนาหรือวัฒนธรรมแต่อย่างใด
ไม่ฟันธง 'วิกฤตภาษามลายู' แต่ความเหลื่อมล้ำอันเนื่องมาจากภาษา 'มีอยู่จริง'
แม้ข้อมูลเรื่อง 'วิกฤตภาษามลายู' ของรัฐบาลและภาคประชาสังคมจะแตกต่างกัน แต่รายงาน 'สะพานเชื่อมโยงไปสู่อนาคตอันสดใส: โครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น)' จัดพิมพ์โดยองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ 'ยูนิเซฟ' (UNICEF) เมื่อปี 2561 ระบุว่า มีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 'อันเนื่องมาจากภาษา' อยู่ในประเทศไทย
โธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ระบุในรายงานดังกล่าวว่า "เด็กที่ไม่ได้พูดภาษาไทยเป็นภาษาแม่ ต้องเผชิญปัญหาในการเรียนหลายประการ จึงเป็นกลุ่มพิเศษที่ต้องการความช่วยเหลือดูแลด้วยกลยุทธ์เฉพาะ โดยเฉลี่ยพบว่าเด็กกลุ่มนี้มีโอกาสอยู่ในระบบโรงเรียนน้อยกว่าประชากรเด็กทั่วไป กล่าวคือมีแนวโน้มออกกลางคันสูงกว่า และยังมีผลคะแนนสอบ O-NET ต่ำกว่าอีกด้วย ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากภาษา ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน"
ราว 10 ปีที่ผ่านมา ยูนิเซฟจึงได้ร่วมมือกับ ม.มหิดล ม.ราชภัฏยะลา กระทรวงศึกษาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สภาความมั่นคงแห่งชาติ องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงครูและผู้นำศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดการศึกษาแบบทวิ–พหุภาษา (ภาษาไทย-ภาษามลายูถิ่น) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยปฏิบัติการที่ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2550 พบว่าเด็กที่ศึกษาในโครงการวิจัยแบบทวิ-พหุภาษามีประสิทธิผลทางการเรียนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กในโรงเรียนเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ทั้งนี้ เมื่อเทียบผลการเรียนของเด็กในโรงเรียนนำร่องโครงการวิจัยกับโรงเรียนที่เป็นคู่เทียบ พบว่าเด็กที่เข้าร่วมในโรงเรียนนำร่อง “อ่านเขียนภาษาไทยเก่งขึ้น” “มั่นใจมากขึ้น” และ มีคะแนน O-NET ในวิชาภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยของเด็กนักเรียนในโรงเรียนอื่นๆ ที่อยู่นอกโครงการ ยูนิเซฟจึงเสนอให้รัฐบาลไทยพัฒนาโครงการจัดการศึกษาแบบทวิ-พหุภาษา (ภาษาไทย-มลายูถิ่น) ไปสู่โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป เพื่อขยายผลอย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตาม โครงการศึกษานำร่องภาษาไทย-มลายูถิ่นของยูนิเซฟและองค์กรเครือข่าย มีอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะรายงานระบุว่า ผู้นำศาสนาบางรายกังวลว่าคนในพื้นที่จะให้ความสำคัญกับภาษาไทยมากเกินเหตุ เกรงว่าจะเป็นการบ่อนทำลายภาษามลายูถิ่น ขณะที่ผู้ปกครองอีกหลายคนระบุว่า "บุตรหลานที่ศึกษาอยู่ในโรงเรียนรัฐบาล มีความสามารถในการพูดภาษามลายูถิ่นถดถอย" จึงเกรงว่าภาษาและวัฒนธรรมอันเป็น 'ลักษณะเด่นเฉพาะ' ของภูมิภาคจะหายไป