วันที่ 14 ก.ย. 2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนเข้าประชุมพิจารณาทบทวนวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ 2567 ได้ชี้แจงกรณีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) กำหนดให้มีการแบ่งจ่ายเงินเดือนของข้าราชการเป็น 2 งวด ซึ่งมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมา
โดย เศรษฐา ระบุว่า แนวทางดังกล่าวมุ่งหมายจะช่วยแบ่งเบาภาระสำหรับคนที่มีหนี้สิน สามารถแบ่งจ่ายเป็น 2 งวดได้ ยืนยันไม่ใช่เรื่องของกระแสเงินสดที่รัฐบาลมีปัญหา แต่เราจ่ายเร็วขึ้น คือครึ่งเดือนและปลายเดือน หากใครไม่มีหนี้ ก็สามารถนำเงินไปทำประโยชน์อื่นได้ และแนวทางนี้ก็ให้เป็นทางเลือก
"แนวทางนี้มีแต่เสมอตัวกับดีขึ้น มีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ แต่รัฐบาลบริหารจัดการประเทศโดยมีขีดงบประมาณจำกัด และคำนึงทุกมิติที่ออกนโยบาย ไม่ทำอะไรที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม"
เศรษฐา ยังยืนยันว่า แนวทางนี้รัฐบาลมีการศึกษามาก่อน และได้พูดคุยกันมา หลายฝ่ายหวังว่าบริษัทจะเสนอการแบ่งจ่ายเงินเดือนให้เป็นทางเลือก ซึ่งเป็นทางเลือกที่ดี ถ้าใครไม่ชอบก็ใช้แนวทางเดิมได้ และสามารถพูดคุยกับสถาบันการเงินได้เช่นกัน สถาบันการเงินต้องการแค่หนี้ ไม่เกี่ยวว่าจะต้องแบ่งจ่ายอย่างไร
เศรษฐา ยังกล่าวว่า ทุกคนเข้าใจดีว่าประชาชนประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ และกระแสเงินสด รัฐบาลจึงดำเนินการให้ ส่วนเรื่องเพิ่มการค่าตอบแทน ของข้าราชการ เป็นปัญหาระยะยาวที่จะหารืออีกครั้ง ต้องดูองค์รวมทั้งหมด เรื่องปากท้องทุกภาคส่วนอยู่ในใจของคณะรัฐมนตรีชุดนี้อยู่แล้ว แต่หากพูดไปก่อนอาจจะเกิดความเข้าใจผิด
"สู้ต่อ ไม่มีอะไร ทราบดีว่านโยบายต้องมีทั้งกระแสลบและกระแสบวก ... คนชมก็มีเยอะ แต่ก็ต้องฟังทุกเสียง ทั้งคำติและคำชม เป็นบุคคลสาธารณะแล้ว"
ส่วนกรณีที่รัฐบาล เตรียมดำเนินการยกเลิกคำสั่งคสช ที่เป็นอุปสรรค นายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า ต้องปรึกษาสำนักงานคณะกฤษฎีกา ว่ามีคำสั่งไหนที่เป็นอุปสรรคในการดำรงชีวิต ต้องยกเลิกไป ถ้าเข้ายกเลิกไม่ได้ก็ต้องนำเข้า ที่ประชุม ครม. ใหม่ เป็นการพูดคร่าวๆ แต่ต้องไม่ขัดกับหลักนิติธรรมโดยรวมในการบริหารจัดการประเทศ
ส่วนจะมีรองนายกฯ มาดูเรื่องกฎหมายเป็นการเฉพาะหรือไม่ เศรษฐา ยอมรับว่า กลับไปปรับปรุง แล้วจะแจ้งมาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร เพราะยังไม่ครบทั้งหมด ก็อาจยังไม่รีบแถลง เข้าใจว่าประชาชนอยากทราบเรื่องที่รัฐบาลทำอยู่ อะไรที่ยังไม่ครบ 100% ก็อาจยังไม่แถลง จะมีรองนายกฯ ฝ่ายกฎหมายมาให้ จะแจ้งอีกครั้ง
สำหรับการแบ่งงานของกระทรวงกลาโหมนั้น เศรษฐา ยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ดูแลด้านความมั่นคงเอง เรื่องความมั่นคงมีทั้งมิติภายในและภายนอก อธิปไตยของประเทศก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่นเดียวกับ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และปัญหาด้านการค้า เราเป็นประเทศที่ไม่ใหญ่มากแต่มีความภาคภูมิใจในเอกราช ที่มีมาโดยตลอด แต่เราอยู่บนโลกที่มีความขัดแย้งสูง ดังนั้นการเดินทางไปต่างประเทศ มีการพบปะพูดคุยกับผู้นำระดับประเทศ ในการประชุมสหประชาชาติ เป็นมิติของความมั่นคง ภายนอก
"ในอดีตมีการพูดจาที่รุนแรง ต้องพยายามลดช่องว่างระหว่างสถาบันทหารกับประชาชนให้มีการ สื่อสารที่ดีขึ้น และต้องมีกิจกรรมที่ทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน การสมัครใจเกณฑ์ทหารบางส่วน นำพื้นที่ของทหารมาแบ่งสรรให้ประชาชนทำกิน และการนำกำลังทหารมาช่วยแก้ปัญหาภัยพิบัติ"
ส่วนการที่นายกรัฐมนตรีดูแลทั้งด้านการคลังและด้านความมั่นคงเอง ไม่เกี่ยวกับการสร้างภาพลักษณ์ แต่เป็นเรื่องที่ต้องทำ และสมควรจะทำ โดยต้องดูแลให้ครบทุกมิติ ถือเป็นภารกิจที่หนักหน่วง แต่ต้องเข้าใจว่าเป็นเรื่องสำคัญ จึงต้องทำต่อไป
สำหรับการตั้งคณะกรรมการ Soft Power ที่ปรากฏชื่อของบุคคลสำคัญหลายฝ่ายมานั่งเป็นคณะกรรมการ รวมถึง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ด้วยนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า พยายามนำบุคคลจากทุกภาคส่วน ที่ทางรัฐบาลเชิญเข้ามาเพื่อผลักดันให้ Soft Power ผลักดันให้ความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนดีขึ้น
นายกรัฐมนตรี ยังชี้แจงถึงสาเหตุที่แต่งตั้ง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้ดูแลด้านการเกษตรควบคู่ด้วย แทนที่จะเป็น พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดคล้องกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อยู่ ขณะที่รองนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่น ก็ได้ดูแลด้านที่สอดคล้องกับกระทรวงในโควต้าของพรรคการเมืองนั้น
เศรษฐา กล่าวทันทีว่า อย่าดูเรื่องโควตาของพรรคการเมือง เพราะได้พูดตั้งแต่วันแรกว่า แม้รัฐบาลนี้จะมี 11 พรรคการเมือง แต่ก็เป็นรัฐบาลของประชาชน
"อย่าดูว่าเป็นซีกไหน คุ้มไหน ฝ่ายไหน ใครดูแลใคร คิดว่าเป็นการดูแลที่ถูกฝาถูกคน เพราะ นายภูมิธรรม เองก็ดูแลด้านพาณิชย์ และการเกษตรควบคู่กัน เป็นการเอาผลประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เชื่อว่าไม่มีเรื่องความขัดแย้ง"
ส่วนจะมีเกณฑ์ชี้วัด หรือ KPI วัดผลในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นอย่างไรนั้น เศรษฐา กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุยกันในรายละเอียด เพราะหากพูดไปแล้วจะมีคำถามเยอะกว่าคำตอบ ขอไปพูดคุยกับฝ่ายความมั่นคงก่อน และหากมีแผนงานระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว จะรายงานให้ทราบอีกที แต่ขอให้สบายใจ เรื่องนี้รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกัน เศรษฐา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กชี้แจงถึงการจ่ายเงินข้าราชการ 2 รอบ ว่า "เข้าใจว่าเรื่องการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เป็นการเสนอทางเลือกใหม่ อาจจะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ก็ขอยืนยันว่า รัฐบาลเสนอให้เป็นทางเลือก"
• เข้าใจว่าเรื่องการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เป็นการเสนอทางเลือกใหม่ อาจจะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ก็ขอยืนยันว่า รัฐบาลเสนอให้เป็นทางเลือก
• ปัจจุบันเงินเดือนจ่ายเดือนละหนเดียว ความตั้งใจของรัฐบาลในการแบ่งจ่ายเงินเดือนราชการสองหนคือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระ สำหรับคนที่มีหนี้สามารถไปจ่ายหนี้สินคืนได้เร็วขึ้น แก้ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง
• และถ้าจะแบ่งจ่ายหนี้สินเป็นสองงวด ในความเป็นจริงก็สามารถบริหารจัดการได้
• สำหรับคนที่ไม่มีหนี้ก็สามารถนำเงินไปทำประโยชน์อย่างอื่น ลงทุนได้ หรือ ไปฝากธนาคารได้
• รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาเรื่องกระแสเงินสดเพราะจ่ายเร็วขึ้น แต่ว่าคำนึงถึงทุกมิติของการออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ไม่เป็นภาระงบประมาณ เพราะนโยบายนี้ไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม แต่การ Re-Program การจ่ายเงินใหม่เท่านั้น ซึ่งเราคำนึงถึงวินัยการเงินการคลังด้วย