"เราไม่ได้ทำการเมืองในฐานะที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหา เราต้องทำงานในนามของรัฐบาลเพื่อประชาชนทั้งประเทศ เป็นรัฐบาลในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามรัฐธรรมนูญทุกประการ"
เป็นถ้อยคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุในช่วงท้ายหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ที่กระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563
เป็นถ้อยแถลงที่เกิดขึ้นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองหลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 1 นายกฯ และ 5 รัฐมนตรี
ด้วยผลคะแนนไว้วางใจที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ได้น้อยที่สุด คือ 269 เสียง
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ผลโหวตไว้วางใจ 272 เสียง
ปฏิกิริยาในหมู่พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.เสียงข้างน้อยภายในพรรค 17 เสียงไม่เห็นด้วยกับการไว้วางใจให้กับ ร.อ.ธรรมนัส
ตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกในพรรคประชาธิปัตย์ที่สั่นสะเทือนออกมาเป็นข่าว กับแชตไลน์เขย่ารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยวาทะ "ไม่พายเรือให้โจรนั่ง" ของ 'พนิต วิกิตเศรษฐ์' ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์
ตามมาด้วย 'อันวาร์ สาและ' ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสือถึง 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์เพื่อพิจารณาถึงเงื่อนไขของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าร่วมรัฐบาล
52 ส.ส.ภายในพรรคประชาธิปัตย์ กำลังตกเป็นตัวแปรการอยู่หรือไปของรัฐบาลผสม 20 พรรค ซึ่งมีเสียงในสภาพ้นปริ่มน้ำที่ 273 เสียง
ขณะที่ฝ่ายค้านมีเพียง 214-215 เสียง
ยิ่งหากขาดเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ไป ก็จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลกลายเป็นเสียงข้างน้อยในสภาฯ ทันที มีผลสะเทือนต่อการผ่านร่างกฎหมายสำคัญ รวมถึงมีผลต่อการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในอนาคต
ความเคลื่อนไหวที่ก่อตัวเป็นรอยร้าวเงียบๆในพรรคประชาธิปัตย์ที่แตกออกมาสองขั้วอยู่ขณะนี้ ยังส่งผลมาถึงอารมณ์และความรู้สึกของ พล.อ.ประยุทธ์
เห็นได้ชัดจากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวในช่วงเช้ากรณีพรรคประชาธิปัตย์ว่า "ก็ถอนไปสิ"
เป็นผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกมาขอโทษหลังการประชุม ครม.ว่า พูดเร็วไปนิด โดยให้ปัญหาภายในพรรคประชาธิปัตย์เป็นเรื่องที่หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะจัดการ
ขณะที่ ‘จุรินทร์’ ย้ำกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2563 ว่า “ท่าทีของท่านนายกฯ ก็มีความชัดเจนว่าท่านเจตนาที่แท้จริงคืออะไร ผมคงไม่ต้องย้อนกลับไปตรงนั้น ส่วนท่านจะมีการปรับปรุง ครม. ก็อยู่ในดุลพินิจของนายกฯ แล้วก็พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล คือพรรคพลังประชารัฐเป็นด้านหลัก ประชาธิปัตย์ก็เป็นแค่หนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาลต้องฟังก่อนว่าท่านนายกฯหรือพรรคแกนนำมีความประสงค์อย่างไร”
ส่วนการเปิดประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ‘จุรินทร์’ ระบุว่าให้เป็นหน้าที่ของเลขาธิการพรรคที่จะนัดหมายเรียกประชุมพรรค และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ต้องเคารพมติของที่ประชุมร่วมของกก.บห. และ ส.ส. ของพรรคในท้ายที่สุด
ถ้อยคำของหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นการยืนยันว่าพรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 3 ไม่มีอำนาจส่งสัญญาณการปรับ ครม. ได้หากแกนนำรัฐบาลไม่มีความประสงค์จะปรับ ครม.
มรสุมรุมกระหน่ำ 'พล.อ.ประยุทธ์' อย่างหนักหน่วงในห้วง 3 เดือนแรกของศักราชปี 2563 ได้เผชิญกับของจริง ทั้งแรงเสียดทานจากกระแสสังคม การเมือง เศรษฐกิจ
ปัญหาปากท้องในภาวะเศรษฐกิจที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองค้าขายไม่ดี
ผสมโรงด้วยปัญหาแทรกซ้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมทั้งแผลภายในที่ก่อตัวขึ้นในรัฐบาล หลังจากฝ่ายค้านเปิดแผลซ้ำซักฟอกขยี้ตรงไปที่ 'ร.อ.ธรรมนัส' ซึ่งเป็นรัฐมนตรีที่มีแผลที่สุดในคณะรัฐมนตรี
ไม่เพียงเท่านี้พรรคเพื่อไทยนำโดย 'สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์' ยังออกมาขย่มบี้กดดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความรับผิดชอบทางการเมือง พร้อมทั้งเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลพิจารณาทบทวนบทบาท
ขณะที่แฟลชม็อบจากรั้วสถาบันการศึกษาก็นำประเด็นกระแสยุบพรรคอนาคตใหม่ออกมาปลุกทั่วประเทศ กดดัน พล.อ.ประยุทธ์ ให้ยุบสภาหรือลาออกจากตำแหน่ง
จากการประเมินสถานการณ์ทางออกจากวิกฤตเบื้องต้นมีการมองว่าทางเลือกแรก ของ พล.อ.ประยุทธ์ กำลังดูจังหวะเพื่อปรับ ครม.ประยุทธ์ 2/2
โดยคาดว่าจะมีการปรับในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐ เพื่อลดแรงเสียดทานจากภายในและภายนอกรัฐบาล
ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า คือตัวเต็งเบอร์ 1 ที่จะถูกเขี่ยพ้น ครม.
ภาวะวิกฤตหากเกิดขึ้นมากๆ ภายใต้เงื่อนไขรัฐบาลผสม 20 พรรคเกิดมีพรรคการเมืองใดที่มี ส.ส.เกิน 10 เสียงสละเรือทิ้ง ‘รัฐนาวาแป๊ะ’
ย่อมมีผลให้ พล.อ.ประยุทธ์ อาจต้องใช้ทางเลือกตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีทั้งการลาออก หรือมีทั้งดาบสุดท้าย คือ ยุบสภาผู้แทนราษฎร
หากดูไทม์ไลน์จังหวะในขณะนี้ทางเลือกยุบสภาฯ จึงไม่น่าจะเป็นไปได้มากในทางเลือกแรก
เพราะขณะนี้เป็นกระแสในช่วงขาลงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่กำลังถูกกดดันอย่างหนัก
หากเกิดการเลือกตั้งขึ้นในชั่วโมงนี้ เสียงของพรรคพลังประชารัฐอาจมีผลได้น้อยลงกว่าเดิม
การจัดตั้งรัฐบาลอาจทำได้ลำบากมากขึ้นกว่าปี 2562 แม้จะมี ส.ว. 250 คน เป็นตัวช่วยโหวตสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งก็ตาม
แนวทางการลาออก หากเป็นไปแนวทางนี้ เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกจากนายกฯ
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยังคงให้เป็นการลงมติเห็นชอบนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา คือต้องใช้เสียงของ ส.ส.และ ส.ว. เห็นชอบผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง และผู้ถูกเสนอจะต้องมี ส.ส.ในพรรคการเมืองที่ตัวเองถูกเสนอไม่น้อยกว่า 25 เสียง
สำหรับแคนดิเดตนายกฯ ที่มีหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ
ในปีกของพรรคฝ่ายค้าน มีเพียง 3 คนเท่านั้นที่เสนอชื่อโดยพรรคเพื่อไทย คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธฺุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม และนายชัยเกษม นิติสิริ อดีต รมว.ยุติธรรม
ส่วนซีกรัฐบาล มี 3 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯคนปัจจุบัน จากพรรคพลังประชารัฐ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (พรรคภูมิใจไทยมี ส.ส. 61 คน)
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (พรรคประชาธิปัตย์มี ส.ส. 52 คน)
ขณะที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ หมดสิทธิการเป็นนายกฯ เพราะพรรคถูกยุบ และถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี
ฉะนั้น ตัวเลือกตัวเล่นตามกติกาหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ จึงมีผู้ถูกเห็นชอบเป็นนายกฯ ได้เพียง 3 คน
ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ ส.ว. 250 เสียง และพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำหลักของรัฐบาล แทบไม่มีทางที่ฝ่ายค้านจะได้เก้าอี้นายกฯ ไปครองได้
ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองเกิดทางตัน หวยไม่ลงล็อกไปที่นายกฯ ในบัญชีพรรคการเมือง
ไม่พึ่งใช้บริการ ‘อนุทิน’
ไม่เอา ‘อภิสิทธิ์’ ที่เคยประกาศค้านการสืบทอดอำนาจของ คสช.
สถานการณ์เด็ดล็อกอาจเกิดขึ้นในภาวะหาทางออกไม่ได้ เกิดสัญญาณพิเศษ เปิดทางให้งดเว้นการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองของพรรคที่มี ส.ส.เกิน 25 เสียง คือเท่ากับไม่ใช้ 6 แคนดิเดตนายกฯ ที่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ
'รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ คสช.' ยังเปิดประตูเปิดช่องทางลัดลักไก่ให้นำ 'คนนอก' บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองมาเป็นนายกรัฐมนตรี ด้วยขั้นตอน 3 ขั้นตอนสูตรพิเศษ สูตรเรือแป๊ะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272
ขั้นตอนแรก ส.ส.-ส.ว. รวมกันไม่น้อยกว่า 369 คนเข้าชื่อไปยังประธานรัฐสภาเพื่อขอเปิดประชุมรัฐสภางดเว้นนายกฯในบัญชีรายชื่อ
ขั้นตอนที่สอง เปิดประตูสู่นายกฯ คนนอก ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ต้องมี ส.ส.-ส.ว. ไม่น้อยกว่า 493 เสียงเห็นชอบ (จากสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่738 คน) เพื่อขอให้นำคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี
ขั้นตอนที่สาม การลงมติเห็นชอบผู้ถูกเสนอชื่อนอกบัญชีให้มาเป็นนายกฯ ซึ่งต้องอาศัยเสียงสองสภา คือ ส.ส. และส.ว. มากกว่า 369 เสียงในการลงมติเห็นชอบนายกฯ คนนอก
ไม่ว่าจะเกิดสูตรทางออกจากวิกฤตในแนวทางใด
ทั้งสามช่องทาง ทั้งการปรับ ครม. การลาออก หรือแม้แต่ยุบสภาฯ ก็เป็นกติกาที่ 'แป๊ะ' ได้ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560
ถ้าไม่ใช้ช่องทางเหล่านี้ วิธีการเดียว คือ 'ฉีกรัฐธรรมนูญ' ด้วย 'อำนาจพิเศษ' ที่รัฐธรรมนูญไม่ได้ออกแบบไว้
ซึ่งเป็นสภาวะยกเว้นกฎหมายในภาวะปกติ ที่รัฐไทยเคยใช้มาอยู่บ่อยครั้งนับแต่ประเทศไทยมีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง