วันที่ 29 มิ.ย. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับหนังสือข้อเสนอแนะจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ภายหลังได้ใช้เวลาพูดคุยกับตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภค นานกว่า 30 นาที
ทั้งนี้ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค ยอมรับว่า การพบผู้ว่าฯกทม.วันนี้ เพื่อต้องการให้ กทม.รับฟังปัญหาของผู้บริโภค ที่คนกรุงเทพมหานครมีความลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้า ของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสารแพง
วันนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นข้อเสนอ 5 ประเด็น ไปยังผู้ว่าฯกทม. ประกอบด้วย
1.ขอให้ยกเลิกเพดานราคาค่าโดยสาร 59 บาท เพราะเป็นราคาที่สูง ทุกคนไม่สามารถขึ้นรถไฟฟ้าได้ แต่เห็นด้วยที่จะให้มีการเก็บค่าโดยสาร สถานีคูคตมายัง สถานี 5 แยกลาดพร้าว
2.ขอให้กรุงเทพมหานครเก็บค่าโดยสาร 44 บาทตลอดสาย ทั้ง 2 ฝั่งของส่วนต่อขยาย เพื่อดูแลบริษัทรับสัมปทาน คือ บีทีเอส ด้วย และเพื่อเป็นต้นแบบให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นต่อไป เพราะไม่มีประเทศไหนที่คิดค่าบริการประชาชนเท่ากับเงินที่ลงทุนไป แต่รัฐบาลจะต้องเข้ามาสนับสนุนค่าบริการบางส่วน
3.ขอให้มีการแก้ไขสัญญาการเดินรถที่ต่อสัญญาเกินไปถึงปี 2585 ซึ่งเป็นการทำสัญญาเกิน สัญญาสัมปทาน เพราะสัมปทานจะหมดในปี 2572
4.สนับสนุนให้กรุงเทพมหานคร ไม่ต่อสัญญาสัมปทาน และ ขอให้ใช้วิธีการประมูลแข่งขันการทำสัญญากับเอกชน
และข้อ 5.เสนอว่าหลังหมดสัญญาสัมปทานในปี 2572 ราคาค่าบริการควรอยู่ที่ 25 บาท และ ขอให้มีการมีตั๋วรายเดือน ตั๋วนักเรียน พร้อมเปิดเผยสัญญาสัมปทานใหม่
ขณะที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่าการกำหนดราคา 59 บาท เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาระยะสั้น ตามข้อเสนอแนะของทีดีอาร์ไอ ซึ่งปัจจุบันการให้บริการรถไฟฟ้าในพื้นที่ส่วนที่เป็นไข่แดงเดิม ก็คิดราคา 44 บาทอยู่แล้ว หากคิดราคาตลอดสาย รวมส่วนต่อขยาย ในราคา 44 บาทเท่าเดิม การวิ่งส่วนต่อขยายส่วนที่ 1-2 เท่ากับ กทม.ไม่ได้เงินเลย ดังนั้นต้องไปดูความเป็นไปได้ ว่าจะต้องจ่ายเงินชดเชยเท่าไหร่ และต้องไปเปรียบเทียบกับค่าโดยสารสายอื่นด้วย
ส่วนการเปิดเผยสัญญาสัมปทานนั้น ในข้อสัญญามีข้อตกลงว่าห้ามเปิดเผย ดังนั้นต้องดูข้อกฎหมายว่าจะเปิดได้หรือไม่อีกที
ซึ่งวันนี้เป็นการรับข้อเสนอ ส่วนตัวถือว่าเป็นเรื่องที่ดี และจะต้องดูให้สมดุล มีทั้งคนที่ใช้รถไฟฟ้าบีทีเอส และไม่ใช้บีทีเอสซึ่งจะต้องดำเนินการส่วนนี้ด้วย
ทั้งนี้ สัญญาว่าจ้างเดินรถที่เซ็นไว้แล้ว จากปี 2572 ไปสิ้นสุดปี 2585 คือปัญหาหลัก ที่ค้ำคอการตัดสินใจของกรุงเทพมหานคร เพราะมีค่าใช้จ่ายกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี ต้องไปดูว่าทำอย่างไรสัญญาการจ้างเกินรถไม่ต้องถึงปี 2585
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังได้สอบถามถึงภาระหนี้ที่กรุงเทพมหานครยังติดค้างจ่ายเอกชนค่าจ้างเดินรถ และหน่วยงานรัฐ จากหนี้โครงสร้างพื้นฐาน โดย ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ยืนยันว่า หากจะต้องจ่ายก็จะต้องมีความชัดเจน เรื่องที่มาที่ไปของภาระหนี้ที่เกิดขึ้น ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่โดยเฉพาะจากเอกชน และจะต้องมาพิจารณาดูด้วยว่าเงินที่จะนำมาชำระ จะมาจากแหล่งเงินกู้ใด ซึ่งหากกู้เงินจากหน่วยงานรัฐ ดอกเบี้ยก็จะถูกกว่าเอกชน และส่วนใดที่รัฐบาลจะเข้ามาสนับสนุน กทม.