เสียงนกหวีดที่ดังก้องไปทั่วเมืองกรุง เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ในวันที่ 13 มกราคม 2557 ด้วยการนัดรวมพล ในการชุมนุม 'ชัตดาวน์ กทม.' ของเหล่า 'มวลมหาประชาชน' หรือ กกปส. ภายใต้การนำของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่มีเป้าประสงค์หลักยิงไปที่ รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
แม้ว่าก่อนหน้านั้น 1 เดือน รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และมีการกำหนดวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แต่พวกเขาก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด ด้วยม็อตโต้ 'ปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง'
โดยการชุมนุมครั้งนี้มีการชุมนุมในรูปแบบดาวกระจาย ปิดสถานที่สำคัญ 7 แห่ง ได้แก่ แจ้งวัฒนะ ห้าแยกลาดพร้าว อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ แยกปทุมวัน สวนลุมพินี แยกอโศก แยกราชประสงค์ ที่กินเวลาในการชุมนุมไปถึง 1 เดือนครึ่ง ที่คราคร่ำไปด้วยเหล่าคนดัง จากหลายสาขาอาชีพที่ออกมาเข้าร่วมเป็นองคาพยพ เพื่อนำพาไปสู่การเปลี่ยนโฉมประเทศตามทัศนคติของพวกเขา
สุดท้ายแล้ววันเวลาล่วงเลยไปอีกราว 4 เดือนเศษ 22 พฤษภาคม 2557 ก็เกิดการทำรัฐประหาร โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน
แน่นอนว่าตลอดระยะ 5 ปี ที่ผ่านมาวาทกรรมการ 'ปฏิรูป' ยังถูกนำมาใช้ทั้งทางการเมืองและการหาเสียง โดยผู้นำกปปส.ขณะนั้น ที่ได้ประกาศว่าจะเลิกเล่นการเมือง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการ 'เดินคารวะแผ่นดิน' ไปทั่วสารทิศของผืนดินไทยมาแล้วกว่า 50 พื้นที่ ร่วมกับพลพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่วันเปิดตัวถึงกับน้ำตานองหน้า ยอมตระบัตสัตย์เพื่อชาติ ด้วยการอยู่เคียงข้างประชาชน
สำหรับปัจจุบัน 5 ปี ผ่านไปนับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่การเลือกตั้งถูกลงมติว่าเป็นโมฆะ ประชาชนที่ถือสัญชาติไทย ก็ยังไม่มีโอกาสเข้าคูหา กาพรรคที่ชอบเมินพรรคที่ชัง ตามสิทธิที่พึงได้รับ ในระบอบประชาธิปไตย จนต้องมีกลุ่มคนที่ออกมาเรียกร้องให้มีการจัดเลือกตั้ง แต่จนแล้วจนรอด ติดตุกติดคดีกันไปก็หลายคน 5 ปีผ่านไปแล้วไฉน ประเทศไทยก็ยังไม่มี 'วันเลือกตั้ง'
อ่านเพิ่มเติม