ไม่พบผลการค้นหา
หนุ่มอ้างตัวเป็นผู้รอดชีวิตอุบัติเหตุครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 9 ปีก่อน ติดแฮชแท็ก แพรวา 9 ศพ เล่าประสบการณ์อึดอัดเจ็บช้ำ คู่กรณีไม่เหลียวแล ต่อราคาค่าชดใช้ยังกับผักปลา

สังคมออนไลน์หยิบยกคดีอุบัติเหตุในอดีตขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางอีกครั้ง โดยเป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2553 กรณี น.ส.แพรวา หรือ แพรวพราว (นามสมมุติ) เทพหัสดิน ณ อยุธยา อายุ 17 ปี ขับรถยนต์เฉี่ยวชนรถตู้โดยสารสาธารณะ ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต–อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 9 ศพ บนทางยกระดับโทลล์เวย์ขาเข้า ช่วงด้านหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ 

โดยผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ tintin อ้างว่าตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในรถตู้คันดังกล่าว เล่าผ่านทวิตเตอร์ระบายความในใจตลอด 9 ปีที่ผ่านมา เปิดเผยตั้งเเต่ช่วงที่เกิดเหตุจนกระทั่งปัจจุบัน พร้อมติดเเฮชแท็ก #แพรวา9ศพ จนขึ้นอันดับ 1 เทรนด์ทวิตเตอร์

เนื้อหาใจความระบุดังนี้  

ตนเป็นคนที่อยู่ในรถตู้คันที่เกิดเหตุ แต่ยังโชคดีที่ไม่ได้เสียชีวิต ตอนนั้นได้รับบาดเจ็บสาหัส ไหปลาหัก 3 ท่อน เข่าซ้ายแตก แขนขวาหัก ต้องนอนรักษาตัวบนเตียงขยับไปไหนไม่ได้นานถึง 2 เดือน และต้องฝึกเดินใหม่อีก 2 ปี

"เราหัดเดินให้กลับมาปกติ 1 ปี ระหว่างนั้นก็กลับไปเรียนด้วย ร่างกายปกติทุกอย่างหลังจากนั้น 3 ปี ระหว่างนั้นก็ต้องไปหาหมอ ค่ารักพยาบาลที่เกิดขึ้นประกันรถเป็นคนจ่าย แต่หลังจากออก รพ. เวลาไป follow up เราต้องออกเองซึ่งเป็นจำนวนมากและได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายนี้ไปในศาล" 

ในคดีนี้ได้มีการแบ่งออกเป็นคดีแพ่งและอาญา เพื่อดูว่าใครที่เป็นคนผิดระหว่างรถตู้หรือแพรวา ตอนที่มาศาล คุณแม่ของคนขับรถตู้ขอโทษตนทุกครั้ง แต่เป็นฝ่ายแพรวาต่างหากที่ไม่เคยพูดคำนี้ออกมา

สุดท้ายศาลก็ตัดสินให้แพรวาผิด แต่ให้รอลงอาญา ไม่ติดคุก และไปบำเพ็ญกุศล อย่างไรก็ตามทนายฝั่งแพรวาได้ยื่นอุทธรณ์ สู้จนถึงศาลฎีกา ทั้งที่เหยื่อยอมทุกอย่าง แต่เป็นฝั่งแพรวาที่ไม่ยอมเอง

ผิดหวังคู่กรณีไม่เหลียวแล

ผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ tintin เล่าว่า เมื่อคดีอาญาผิด จึงมีการมาฟ้องแพ่งต่อ ศาลชั้นต้นสั่งให้แพรวาจ่ายค่าเยียวยากับเหยื่อ และคนที่ให้แพรวายืมรถก็ต้องจ่าย เมื่อมาถึงศาลอุทธรณ์ ศาลสั่งให้ลดเงินช่วยชดเชยโดยไม่นำสืบ ตามที่ทนายของแพรวายื่น และเมื่อมาถึงศาลฎีกาในคดีแพ่ง ศาลสั่งยืนตามศาลชั้นต้น แต่ก่อนจะเปิดคำพิพากษาได้มีการนำเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย

สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดคือ ต้องรอ 9 ปี กว่าที่ทางครอบครัวนี้จะไกล่เกลี่ย ตนยอมเขาทุกอย่าง เราสู้กันมา 3 ศาล แต่ตนไม่เคยเจอแพรวาและพ่อแม่ เมื่อมาไกล่เกลี่ย ก็คิดว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี แต่กลายเป็นว่า แพรวาและพ่อแม่ไม่ปรากฏตัว ให้ทนายที่เป็นญาติฝั่งแม่มาแทน

วันนั้นศาลนัด 08.30 น. ฝั่งทนายของแพรวามาตอน 10.00 น. แต่พอมาถึงกลับบอกว่า แค่จะมารับฟังว่า ทุกคนจะร่วมไกล่เกลี่ยไหม ไม่มีอะไรจะพูด เหมือนกับไม่พร้อม แล้วมานัดอีกทีเดือนหน้า ตนบอกว่า เขาอยากให้เท่าไร ตนก็รับไว้เท่านั้น เงินที่ตนใช้รักษาตัวไปก็ถือว่าหายไป แม่ของตนต้องหยุดงานเป็นปีเพื่อมาดูแลตน ขาดรายได้ และศาลก็สั่งชดเชยให้แม่ตน 4,000 ตนก็น้อมรับ เพื่อให้เรื่องจบ แม้เงินที่เสนอให้นั้นจะไม่เท่ากับที่ศาลตัดสิน

เจ้าของเรื่องเล่าว่า ทนายของคู่กรณีบอกว่า ไม่สามารถให้เงินที่เสนอให้ได้อย่างที่พูดตอนแรก และบอกว่า ถ้าไม่รับตัวเลขใหม่ก็จบ ไม่คุยแล้ว อยากได้เงินที่เหลือก็ไปฟ้องล้มละลาย ไปสืบทรัพย์กับแพรวาเอา และถ้าได้เพิ่มมาอาจจะไม่กี่บาทด้วย

"เขาต่อราคาเรายังกะผักปลา ในคำร้องให้ศาลทุเลาบังคับคดี โดยทนายแพรวาบอกเป็นลายลักษณ์ว่า ยินดีชดใช้ถ้าคดีถึงสิ้นสุด โดยอ้างเรื่องชื่อเสียงวงศ์ตระกูลอ้างว่าเป็นทายาท “พลเอกยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา” บุคคลผู้มีชื่อเสียงและประกอบคุณงามความดีของประเทศนี้ เขาเขียนอย่างนี้จริงๆ " 

6_40.jpg



ผู้เสียหายรายนี้ ตัดสินใจไม่รับเงินก้อนนั้น ถึงแม้ตอนแรกอยากจะรับเพราะเหนื่อยมากเเล้ว อย่างไรก็ตามคิดว่าเรื่องเงินไม่ใช่ปัญหา เเต่เป็นความใส่ใจต่างหากที่เราไม่รู้สึกเลยตลอด 9 ปีที่ผ่านมา 

กระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 ศาลฎีกาได้ยืนตามศาลชั้นต้น ให้ชำระค่าเสียหาย แต่ครั้งนี้ ทั้งฝั่งทนาย ทั้งแพรวา ไม่มีใครมาสักคน ตนยอมเชื่อศาลทุกอย่าง เก็บความในใจไว้ 9 ปี แต่วันนี้มันทนไม่ไหวแล้วจริง ๆ

"เราเข้าใจเลยว่าเธอไม่ตั้งใจ มันคืออุบัติเหตุ แต่หลังจากนั้นหรือเปล่าสิ่งที่เพื่อนมนุษย์เขาปฏิบัติต่อกัน มันสำคัญกว่าเรื่องฟ้องร้องเลยอะ เงินแค่นั้นแลกกับการโดนชนแบบนั้น เราถามว่ามีใครอยากได้บ้าง แลกกับเสียลูกไปใครอยากได้บ้าง ?

ความผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ ก็ต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่ด้วยเช่นกัน หวังว่าครอบครัวเทพหัสดิน คงจะได้ยิน #แพรวา9ศพ #เราอยู่ในรถตู้คันนั้นแต่เราไม่ตาย" เจ้าของเรื่องระบุ

รอลงอาญา 3 ปี

สำหรับคดีนี้ได้จบลงด้วยบทสรุปที่ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง พิพากษาจำคุก แพรวา 2 ปี โทษรอลงอาญา 3 ปี พร้อมสั่งคุมประพฤติห้ามขับรถจนถึงอายุ 25 ปี

ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ฝ่ายโจทก์มีประจักษ์พยานให้การยืนยันการเหตุการณ์ ทั้งผู้โดยสารที่อยู่ในรถตู้และเจ้าหน้าที่ทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ ซึ่งขับรถตามหลังมาและเห็นเหตุการณ์ รวมทั้งหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดจริง ฐานขับขี่รถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การนำสืบพยาน เป็นประโยชน์ต่อคดี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือลงโทษจำคุก 2 ปี แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี พร้อมสั่งคุมประพฤติจำเลย 3 ปี และห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์

ส่วนข้อหาใช้โทรศัทพ์มือถือขณะขับรถ โจทก์ไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าจำเลยกระทำการดังกล่าวจริง จึงพิพากษายกฟ้อง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :