“ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” คัมแบ็กกลับมานั่งในตำแหน่ง เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หลังจากระเห็ดออกจากพรรค ไปสร้างบ้านหลังใหม่ที่ชื่อว่า พรรคเศรษฐกิจไทย หลังถูกปราบกบฏ - ถูกปลดออกจากการเป็นรัฐมนตรี ในเหตุการณ์ที่รวบรวมเสียง ส.ส.เพื่อโค่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกจากนายกรัฐมนตรี ช่วงศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปี 2564
วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลัง ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซุ้มการเมืองภาคเหนือตอนล่าง ผู้ช่ำชองกลยุทธการการเมือง การงบประมาณ ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการสำนักงานพรรค
รองหัวหน้าพรรคมีบ้านใหญ่การเมือง ควบคู่กับขุนพลข้างกาย พล.อ.ประวิตร ประจำการ ประกอบด้วย 1.สันติ พร้อมพัฒน์ 2.ไพบูลย์ นิติตะวัน 3.ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 4.วิรัช รัตนเศรษฐ และ 5.ตรีนุช เทียนทอง
ขณะที่ เหรัญญิก ผู้คุมกระเป๋าตังพรรค ตำแหน่งนี้ไม่มีใครแย่งไปจาก “นฤมล ภิญโญสินวัฒน์”
แต่คำสั่งที่ทำให้คนในวงการต้องจับตามองคือ “พล.อ.ประวิตร” ลงนามในคำสั่งแรกหลังจากกลับมานั่งในตำแหน่งหัวหน้าพรรค ที่ 113/2566 เรื่อง แต่งตั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เป็นประธานที่ปรึกษาพรรค โดยให้มีผลในภายในวันที่ 29 ก.ค. 2566
อาจกล่าวได้ว่า การเปิดตัว เปิดชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท เป็นการ “เปิดเกมรุก” เต็มตัว เต็มสูบ ของ พล.อ.ประวิตร ที่จะล่องยุทธจักรการเมืองเป็นสมัยสุดท้าย
แม้ในขณะนี้ดูเหมือนชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่จะเข้าสู่การโหวต วันที่ 4 ส.ค. 2566 มีเพียง “เศรษฐา ทวีสิน” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคเพื่อไทยคนเดียว
แต่กว่าจะถึงชั่วโมงการลงมติ อะไรก็เกิดขึ้นได้
แหล่งข่าววงจัดตั้งรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ก็ยังไม่กล้าฟันธงเต็ม 100% ว่า ชื่อแคนดิเดตนายกฯ ที่จะไปสู่การลงมติ ในวันที่ 4 ส.ค. 2566 จะออกหน้าไหน
โดยเฉพาะโอกาสนี้ อาจเป็นโอกาสครั้งสุดท้ายที่ พล.อ.ประวิตร จะขอขึ้นสู่จุดสูงสุดเป็นนายกฯ เพราะอีกไม่กี่ปี อายุก็เฉียด 80 ปีเข้าให้แล้ว ถ้ารอเลือกตั้งปี 2570 คงหมดสิทธิ์
เป็นไปได้ที่เกมการเมืองจะเปิดการต่อรองจนกระทั่งถึงวันโหวตนายกฯ
ประกอบกับการเปิดตัว “พล.ต.อ.พัชรวาท” หรือ “บิ๊กป๊อด” ชื่อที่คนการเมืองมักเอ่ยถึง และชื่อของ “พล.ต.อ.พัชรวาท” ถูกอ้างถึงว่ามีส่วนในการเจรจาทางการเมืองเสมอ
เพราะเส้นทางของ “พล.ต.อ.พัชรวาท” มีทั้งมุมรับราชการ ที่จบจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 9 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่นที่ 25 ผ่านตำแหน่งสำคัญๆ ในราชการตำรวจ ทั้ง รอง สว. กองบังคับการการสนับสุนนทางอากาศ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน รอง สว. กองทะเบียน แล้วย้ายมาดูงานกำลังพลที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง(บช.ก.) สว. ธุรการ กองกำกับการกำลังพล กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการสอบสวนกลาง
ผกก.5 และ ผกก.3 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ผู้บังคับการกองพลาธิการ กรมตำรวจ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ทนท.ประสานงานกระทรวงมหาดไทย)
ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กับ 2 รัฐบาล ทั้งพรรคพลังประชาชน และพรรคประชาธิปัตย์ 3 นายกรัฐมนตรี คือ สมัคร สุนทรเวช สมชาย วงศ์สวัสดิ์ และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ด้านตำแหน่งแห่งหนทางการเมือง เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2 ครั้ง ในยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เมื่อปี 2549 และในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557
มีตำแหน่งสำคัญอยู่ในฐานะ กรรมาธิการการกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และกิจการตำรวจ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ขณะเดียวกัน ชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาท ยังถูกเกี่ยวโยงกับพรรคการเมืองต่างๆ เช่น พรรคเศรษฐกิจไทย ที่มี ร.อ.ธรรมนัสเป็นหัวหน้าพรรค พรรครักษ์ผืนป่าแห่งประเทศไทย
ในมุมธุรกิจ “พล.ต.อ.พัชรวาท” นั่งเก้าอี้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารในบริษัทจดทะเบียนหลายบริษัท
กรรมการ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) กรรมการอิสระ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
ประธานกรรมการกำหนดค่าตอบแทนและสรรหากรรมการ/กรรมการกำกับดูแลความยั่งยืนและบรรษัทภิบาล/กรรมการอิสระ บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน)
ชื่อ พล.ต.อ.พัชรวาท จึงครบเครื่อง จึงถูกเกี่ยวโยงกับตำแหน่งในรัฐมนตรี หลายครั้ง หลายหน
ทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในยุครัฐบาล คสช. ส่วนปัจจุบัน ชื่อของ พล.ต.อ.พัชรวาท ถูกโยงกับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี
จึงอย่าได้แปลกใจ พล.อ.ประวิตร จะถูกสงสัยว่า ยังขอลุ้นเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกรอบ หากส้มหล่นมาถึงเท้า
เพราะพรรคพลังประชารัฐ ปรับองคาพยพพร้อมรับทุกสถานการณ์ ทุกดีลการเมือง ไม่มีคำว่า “ฝ่ายค้าน”
พล.อ.ประวิตร ไม่เคยเป็นฝ่ายค้าน ตั้งแต่เป็นถอดชุดทหาร มาสวมชุดนักการเมือง เป็น รมว.กลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เป็นรองนายกฯ ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์
คนการเมือง “วงษ์สุวรรณ” จะถูกจารึกบนฉากการเมืองในด้านไหนนับจากนี้ ไม่นานก็จะมีคำตอบ