วันที่ 13 ส.ค. 2565 ที่ The Jam Factory เขตคลองสาน กลุ่ม We Volunteer จัดงาน “2nd Anniversary Schedule of We volunteer” (ครบรอบ 2 ปีการก่อตั้งกลุ่ม We Volunteer) มีการจัดเสวนา ‘การเดินทางของการเคลื่อนไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน’ จากนักวิชาการผู้มีประสบการณ์ในการต่อสู้บนท้องถนนมายาวนาน เพื่อถ่ายทอดมุมมองและบรรยากาศของขบวนการภาคประชาชนในแต่ละยุคสมัย
อุดมการณ์ที่พลิกโฉม
โดย อธึกกิต แสวงสุข ผู้ดำเนินรายการ ‘ใบตองแห้ง’ วอยซ์ ทีวี กล่าวถึงขบวนการเคลื่อนไหวในสมัย 6 ต.ค. 2519 เป็นขบวนการจริงๆ มีความคิดชี้นำ เป้าหมายเชิงอุดมการณ์ที่ชัดเจน และมีรูปแบบของสังคมในอุดมคติ ซึ่งส่วนหนึ่งมีอิทธิพลมาจากแนวคิดแบบสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่มีสังคมในรูปแบบที่อยากเห็น ขณะเดียวกันก็ได้รับผลสะเทือนจากยุคแสวงหาของโลกตะวันตก เช่น สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ด้วย เช่นการต่อต้านสงครามเวียดนาม ซึ่งการชุมนุมมีข้อเรียกร้องในภาพใหญ่คือต่อต้านเผด็จการ ไปจนถึงเรื่องใกล้ตัวอย่างการเรียกร้องความเป็นธรรมให้ชาวนา ชนชั้นกรรมาชีพ โดยมองว่าแตกต่างจากขบวนการในยุคปัจจุบัน ทั้งทางทฤษฎีการเมือง และการวางยุทธวิธี
“พอเราตัดฉับมาโลกปัจจุบัน เราไม่ได้ต้องการอุดมการณ์แบบนั้น เราต้องการประชาธิปไตยที่มีความหลากหลาย มีอิสระเสรีภาพ มีเพศหลากหลาย มีอะไรต่างๆ ผมไปม็อบแล้วก็ทึ่ง เพราะผมก็เห็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่มีวันเป็นแบบรุ่นผม คือย้อมผมสีแดงบ้าง ฟ้าบ้าง ไปม็อบ รุ่นผมไม่มี แต่เด็กรุ่นนี้ โดนจับไม่เห็นกล้วเลย ดู เมนู บุ้ง ใบปอ สิ เขามีความกล้า เป็นตัวของตัวเอง เขาเถียงกันได้ และยุทธวิธีในการจัดม็อบคนละโลกกับเราเลย เด็กสมัยนี้อ่านหนังสือมากกว่าผมสักพันเท่า หมื่นเท่าได้ ความเชี่ยวชาญเรื่องเทคโนโลยีต่างๆ เราตามไม่ทัน แต่ผมยอมรับว่าเป็นองค์กรจัดตั้งไม่ได้ เพราะไม่สามารถสร้างอุดมการณ์เหมือนในอดีต ที่มีอุดมการณ์สังคมนิยมแข็งแรงไม่ได้ จะบอกว่าเป็นจุดอ่อนหรือจุดแข็งก็ไม่ได้ คงต้องแสวงหา เพราะโลกสมัยนี้ไม่น่าจะมีอุดมคติตายตัว แบบที่เราฝันถึงในอดีต ประชาธิปไตยปัจจุบันต้องการอะไรที่นับได้ เช่น รัฐสวัสดิการ”
อย่างไรก็ตาม อธึกกิต มองว่า นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ได้ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขถอยหลังกลับไปสู่กึ่งสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้อำนาจบีบบังคับคน ซึ่งขัดแย้งกับโลกสมัยใหม่ที่ไปข้างหน้า จึงเกิดพลังปะทุ แต่ไม่ได้เป็นพลังที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงในเชิงอุดมคติแบบสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ในอดีต และไม่จำเป็นต้องเป็นเช่นนั้นด้วย เพราะภายในกระบวนการมีความหลากหลายมาก และในขั้วประชาธิปไตยก็มีการถกเถียงกันตลอดเวลา ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่าเป็นเรื่องปกติของสังคมที่มีความหลากหลาย และเป็นจังหวะของสังคมที่กำลังรอจุดเปลี่ยนบางอย่างอยู่
ผสานทิศทาง-ขยายแนวร่วม
ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า งานของการ์ดชุมนุม เป็นงานปิดทองหลังพระ ที่ไม่ค่อยมีใครอยากมาทำ เพราะเป็นงานคอยเก็บกวาดเบื้องหลัง ไม่ได้เหมือนงานเปิดหน้าอย่างแกนนำ แต่ขบวนการทุกรูปแบบล้วนต้องการอาสาสมัครเพื่อทำงานลักษณะนี้ สำหรับคำว่า ม็อบ มาจากคำว่า Mobilize หรือการเคลื่อนไหวที่มาจากการจัดตั้ง ปลุกระดม ถูกชักใย ไม่ได้มาจากความเดือดร้อนแท้จริง ตามคำนิยามของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งมีความหมายค่อนไปในเชิงลบมานาน จึงมีความพยายามหลีกเลี่ยงใช้คำว่า ม็อบ ในทางวิชาการ ซึ่งการใช้คำว่าม็อบก็สะท้อนโครงคิดของรัฐ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมได้
อย่างไรก็ตาม ประภาส มองการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ว่า สามารถถอดบทเรียนจากการชุมนุมของสมัชชาคนจนได้ คือข้อเรียกร้องยังคงเป็นปัญหาเฉพาะหน้า คือปัญหาปากท้องการทำกิน ไม่ถึงในระดับโครงสร้างสังคม จึงอาจเกิดปัญหาเรื่องการระดมมวลชนได้ไม่กว้างขวางเท่าที่ควร ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการขยายเครือข่ายการเคลื่อนไหวให้กว้างขึ้นไปกว่าที่มีอยู่ หลังจากรัฐที่ปราบปรามอย่างหนัก ก็เริ่มเห็นความเชื่อมโยงของประเด็นและข้อเรียกร้องต่างๆ เพราะระบอบเผด็จการกดทับและสร้างความเดือดร้อนทุกส่วน ในเวลานี้ได้เห็นความเดือดร้อนที่คล้ายกันมากยิ่งขึ้น
“เดิมเรามีคำว่าอุดมการณ์ซึ่งแข็งทื่อ แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ไม่มีอุดมการณ์ที่สำเร็จรูป ข้อเรียกร้องไม่ได้เกิดจากความสำเร็จรูป แต่เป็นกระบวนการที่ค่อยๆ สร้างขึ้นมา ซึ่งทั้งโลกก็เป็นแบบนี้ โดยเฉพาะพื้นที่บนอินเทอร์เน็ตให้คนพูดคุยแลกเปลี่ยนกันว่าจะเอาประชาธิปไตยแบบไหน ปฏิรูปหรือไม่ กระบวนการนี้ ผมคิดว่าสำคัญและเป็นลักษณะใหม่ เมื่อเป็นสำเร็จรูป ทุกคนก็อกหัก แต่พอเป็นกระบวนการสร้างและถกเถียงกันมาเรื่อยๆ ผมว่าสิ่งนี้จะอยู่อย่างยาวนาน แต่จะสำเร็จหรือไม่อยู่ที่อีกหลายปัจจัย”
ชี้ขบวนการเยาวชนเปลี่ยนโครงสร้างใหญ่ที่แข็งไม่ได้
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงบรรยากาศความเคลื่อนไหวในสมัยเสื้อแดง-เสื้อเหลือง ซึ่งมีกระแสต่อต้านนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จุดประกายจากแนวคิดของ เกษียร เตชะพีระ ที่วิจารณ์ระบบเลือกตั้งว่าไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง และสนับสนุนประชาธิปไตยทางตรงคือการขับเคลื่อนของภาคประชาชน นักวิชาการหัวก้าวหน้าในยุคนั้นจึงต้องต่อต้านนักการเมืองจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะช่วงรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร เติบโตและมีอำนาจขึ้น ในช่วงนั้นประชาชนยังจินตนาการระบอบเผด็จการทหารไม่ออก จึงไม่เกิดการตั้งคำถาม กระทั่งจุดเปลี่ยนคือมาตรา 7 เรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจ ซึ่งนำมาสู่ขบวนการคนเสื้อแดง ซึ่งโจทย์ทางการเมืองซับซ้อนขึ้นมากกว่ายุคที่ผ่านมา
กนกรัตน์ ยังมองถึงความก้าวหน้าของการเคลื่อนไหวในแต่ละยุค โดยมองว่า ชีวิตการต่อสู้ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่เป็นการดิ้นรนตลอดชีวิต มีความต่อเนื่องที่ไม่เหมือนกับคนรุ่น 6 ต.ค. 2519 หรือพ.ค. 2535 อย่างมาก แต่เน้นย้ำว่า คนรุ่นใหม่ไม่ควรจะกังวลว่า ความแตกต่างหลากหลาย หรือการถกเถียง ไม่เป็นอันหนี่งอันเดียวกัน เป็นปัญหา เพราะความเป็นจริงแล้วมี 2 เรื่องที่เป็นข้อจำกัดของพวก คือ การสร้างเครือข่ายนอกกลุ่มเยาวชน เพราะบอกเลยว่าไม่มีขบวนการเยาวชนที่ไหนในโลกที่สามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างที่เข้มแข็งใหญ่โตได้ เป็นไปไม่ได้หรอก ชัยชนะจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อการเคลื่อนไหวทำงานร่วมกับพรรคการเมือง ร่วมกับมวลชนชายขอบ ซึ่งไม่ได้ต้องอาศัยองค์กรคนรุ่นใหม่ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ต่างคนต่างทำอาจจะเป็นจุดเด่นสำคัญมากกว่า
“ประเด็นที่ 2 คือชีวิตหลังม็อบ เป็นเรื่องสำคัญที่สุดต่อชัยชนะของขบวนการประชาธิปไตย ไม่มีวันที่ใครจะชุมนุมใหญ่ไปตลอด 4-5 ปีติด และการมีชุมนุมไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ความสำเร็จเกิดขึ้นหลังชีวิตของคนที่เคยชุมนุม มันนำไปสู่อะไรต่อจากนั้น ไปสร้างประชาธิปไตยในรูปแบบอื่นๆ อย่างไร คนรุ่นคุณหลังจากนี้จะไปทำงานกับพรรคการเมืองไหม จะไปสร้างขบวนการเคลื่อนไหวในประเด็นของตัวเอง จะไปทำงานการศึกษากับคนรุ่นใหม่มากน้อยแค่ไหน นี่คือตัวชี้วัดที่สำคัญของชัยชนะในระยะยาว” กนกรัตน์ กล่าว