ไม่พบผลการค้นหา
‘บีทีเอส’ ยันไม่ได้นำเรื่องหนี้มาต่อรองขยายสัมปทาน 30 ปี เตรียมฟ้องศาลปกครองให้ กทม.ใช้หนี้โดยเร็วที่สุด

สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี เปิดเผยว่า ขณะนี้ทีมฝ่ายกฎหมายของบีทีเอส อยู่ระหว่างจัดทำเอกสารและเตรียมการที่จะยื่นฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และกรุงเทพมหานคร ต่อศาลปกครองโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ดำเนินการชำระหนี้ที่ค้างจ่ายที่เกิดขึ้นในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า

และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ซึ่งเป็นค่าจ้างเดินรถ และค่าติดตั้งระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบอานัติสัญญาณ รวมกันประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ได้เลยกำหนดชำระแล้ว ภายหลังจากครบกำหนด 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2564

ทั้งนี้บีทีเอส ระบุว่า หาก กทม.ยังคงเพิกเฉยและปล่อยให้ยืดระยะเวลาไปจนครบสัญญาปีใน 2572 หนี้ทั้ง 2 โดยใช้สมมติฐานส่วนต่อขยายที่ 1 เก็บค่าโดยสารที่ 15 บาท และส่วนต่อขยายที่ 2 ยังไม่เก็บค่าโดยสารได้ มูลหนี้จะเพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าจ้างเดินรถรวมดอกเบี้ยอยู่ที่ 60,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งระบบ 20,000 ล้านบาท รวมดอกเบี้ยอีก 10,000 ล้านบาท เป็น 30,000 ล้านบาท

“หนี้ที่ค้างวันนี้ประมาณ 30,000 ล้าน เราไปกู้แบงก์ ดอกเบี้ยปีละพันล้าน...นำเรื่องหนี้มาต่อรองขยายสัมปทาน คงไม่ใช่ เพราะบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นหน้าที่ของเราต่อผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ เป็นหน้าที่ที่เราจะติดตามทวงหนี้ คิดว่าเป็นเรื่องประจวบเหมาะ คิดว่าถึงเวลาดีลที่จะต้องชำระแล้ว” สุระพงษ์ กล่าว

สุรพงษ์ ระบุว่า ประเด็นที่มีการเรียกร้องให้บีทีเอสเก็บค่าโดยสารค่าโดยสารที่ 25-50 บาทนั้น มีความเป็นไปได้หมด เพียงแต่ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งจากการติดตามข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกระทรวงคมนาคม ยังมีความคลาดเคลื่อนในบางเรื่อง หรือยังไม่นำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในช่วงสัมปทานปี 2572 มาคำนวน

โดยปัจจุบันบีทีเอสเก็บค่าโดยสารรวม 3 ส่วนสูงสุดอยู่ที่ 59 บาท ขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท หากจัดเก็บที่ 25 บาท หรือ 50 บาท จะขาดทุนมากกว่านี้ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือรัฐบาลจะต้องอุดหนุนส่วนต่าง

นอกจากนี้ในส่วนของตัวเลขจำนวนผู้โดยสารก่อนเกิดโควิด-19 มีการระบุว่าอยู่ที่ 1.1 ล้านคนต่อวัน แต่ว่าตัวเลขจริงไม่ถึง 8 แสนคนต่อวัน หรือรายได้คลาดเคลื่อนไป 30% หรือค่าใช้จ่ายก็น้อยกว่าความเป็นจริง