ไม่พบผลการค้นหา
การเคลื่อนไหวภายนอกสภาฯ เข้มข้ม ไม่แพ้ในสภาฯ ซึ่งมีความ ‘เกี่ยวโยง’ กับสถานการณ์โดยรวมทางการเมือง โดยเฉพาะการประกาศกลับไทยของ ‘ดร.ทักษิณ ชินวัตร’อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะลงเครื่องที่สนามบินดอนเมือง 10 ส.ค.นี้

โดยคาดว่าจะเดินทางกลับโดยเครื่องบินส่วนตัว ตามที่ ‘แพทองธาร ชินวัตร’หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทยและแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย ได้เปิดเผยกับสื่อ พร้อมย้ำว่าเป็นการ ‘ตัดสินใจ-ประเมินสถานการณ์’ ของ ‘คุณพ่อ’ ทั้งหมด ในการเดินทางกลับไทยครั้งนี้

ในส่วนของ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ได้เตรียมแผนรับ ‘ทักษิณ’ กลับไทย โดยเฉพาะมาตรการ ‘รักษาความปลอดภัย’ ตามที่ ‘ครอบครัวชินวัตร’ มีความเป็นห่วงในจุดนี้ ตามที่ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ระบุว่า มีความเป็นห่วงในเรื่อง ‘กระบวนการกลับมา’ 

ซึ่งแผนงานครั้งนี้จะใช้ ‘ตำรวจ’ เป็นหลัก โดยหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายหลัก คือ ‘กองบัญชาการตำรวจนครบาล’ (บช.น.) หลังเคยมีเอกสารการประชุม ‘หลุด’ ออกมา ในการจัดเตรียมเส้นทางต่างๆ ระหว่าง สนามบินดอนเมือง - สถานที่ควบคุมพิเศษ ร.ร.พลตำรวจบางเขน (ภายในพื้นที่สโมสรตำรวจ ถ.วิภาวดีฯ) - ศาลฎีกา (สนามหลวง) - เรือนจำพิเศษ กทม.

ทั้งนี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ระบุขั้นตอนว่า หากบุคคลใดที่ตกเป็นผู้ต้องหา และเดินทางเข้ามาประเทศตามระเบียบ ‘สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง’ จะมีหน้าที่ในการตรวจสอบและนำบุคคลตามหมายจับไปแสดง หากมีการนั่งเครื่องบินส่วนตัวมาลงที่ บน.6 ตำรวจ ตม. ก็ปฎิบัติหน้าที่ โดยขั้นตอนก็จะไปแสดงหมายจับก่อนที่จะควบคุมตัวไปให้พนักงานสอบสวน สน.ดอนเมือง ลงบันทึกการจับกุม จากนั้นก็นำตัวส่งศาลพิจารณา 

แต่หากศาลปิดหรือหมดเวลาทำการก็จะนำตัวไปควบคุมไว้ที่ ‘สถานที่ควบคุมพิเศษ’ ร.ร.พลตำรวจบางเขน เพื่อรอจนกว่าศาลเปิดทำการและมีคำสั่งต่อไป

โดยในขณะนี้ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ อยู่ระหว่างรอข้อมูล ‘เที่ยวบิน’ เพี่อนำมา ‘ประเมินเวลา’ การเดินทางถึงประเทศไทย จะเป็นช่วงในหรือนอกเวลาราชการ โดยได้มอบหมายพล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลทั้งด้านความปลอดภัย-การจราจร 

อย่างไรก็ตาม ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ได้เตรียม ‘แผนเผชิญเหตุ’ ต่างๆ ไว้ เพื่อป้องกัน ไม่ให้เกิด ‘เหตุแทรกซ้อน’ ขึ้นมา เช่น การลอบทำร้าย เป็นต้น เมื่อเสร็จสิ้นส่วนงานของ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ก็จะส่งต่อ หน่วยงานต่อไป นั่นคือ ‘กรมราชทัณฑ์’

ทักษิณ ยิ่งลักษณ์ เยาวภา 142265753160556167_n.jpg

ในส่วนพื้นที่คุมขังเรือนจำพิเศษ กทม. ‘วิษณุ เครืองาม’ รองนายกฯ ในฐานะรักษาการ รมว.ยุติธรรม ได้กำชับ ‘กรมราชทัณฑ์’ ให้ดูแล 3 เรื่องเป็นพิเศษ

1.ความปลอดภัย ซึ่งตรงนี้อาจทำให้ ‘ทักษิณ’ ได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากนักโทษคนอื่น เพราะนักโทษคนอื่นไม่มีปัจจัยเสี่ยงตรงนี้ 

2.ให้มี ‘ความสะดวก’ ตามสมควร ไม่ถึงขนาดสะดวกมากจนเป็นอภิสิทธิ์ แต่ต้องสะดวก เพราะจะมีคนเข้าเยี่ยม โดยคาดหมายว่าจะมีองค์การระหว่างประเทศ หรือองค์กรสิทธิมนุษยชน มีแฟนคลับและมวลชนเยอะ ดังนั้นก็ให้มีความสะดวกพอสมควร

3.ให้มี ‘ความสบาย’ พอสมควร ไม่ถึงขนาดให้สบายมากนัก แต่สบายในที่นี้เพราะอายุเกิน 70 ปี และป่วย ก็ต้องมีอะไรที่ไม่เหมือนคนอายุ 25-30 ปี 

ในซีกการ ‘เคลื่อนไหวภาคประชาชน’ ผ่านการจัดชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ เพื่อส่งเสียงให้ 250 สว. เคารพเสียงประชาชนผ่านการเลือกตั้ง และกดดัน ‘พรรคเพื่อไทย’ ที่เริ่มขยายตัวไปใน ‘พื้นที่มหาวิทยาลัย’ ในลักษณะเวียนการจัด เช่น ม.เกษตรศาสตร์ (บางเขน) ม.ธรรมศาสตร์ (รังสิต) และ ม.ศิลปากร (สนามจันทร์) เป็นต้น ในขั้นต้นก็เพื่อ ‘หยั่งกระแส-ดูจำนวน’ ในการชุมนุมแต่ละครั้ง 

สำหรับพื้นที่หลักในการจัดชุมนุมจะจัดที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย , แยกราชประสงค์ และหอศิลป์ กทม. ที่การเดินทางสะดวก ไม่ถูก จนท. ปิดกั้น เฉกเช่นบริเวณหน้ารัฐสภา ที่มี พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ คุ้มครองพื้นที่ และพื้นที่จัดชุมนุมที่อยู่ในศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร (เกียกกาย) ก็ไม่สะดวกต่อการทำกิจกรรมต่างๆ

ทั้งนี้ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ประเมินว่า การชุมนุมในช่วงนี้จะเป็นเพียงการ ‘เลี้ยงกระแส’ ไปพรางก่อน แต่การชุมนุมจะฮึกเหิมอีกครั้ง คาดว่าจะเป็นช่วงที่ ‘พรรคก้าวไกล’ ถูกให้ไปเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ โดยสมบูรณ์ ที่จะเป็น ‘เชื้อไฟ’ ลากไปยังอนาคต หากมีการ ‘ยุบพรรคก้าวไกล’ เกิดขึ้น ซึ่งต้องจับตาท่าที สส.ก้าวไกล ในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตามการชุมนุมที่ ‘ฝ่ายความมั่นคง’ ให้ความสำคัญ คือ การชุมนุมของ ‘บก.ลายจุด’ บริเวณแยกอโศก เมื่อ23ก.ค.ที่ผ่านมา ที่มีผู้มาชุมนุมจำนวนมาก แม้จะมีฝนตกก็ตาม ซึ่ง บก.ลายจุด ได้นัดชุมนุมอีกครั้งในวันที่ 29ก.ค. โดยจะเคลื่อนขบวนจากแยกอโศกไปแยกราชประสงค์ โดยตั้งเป้าระดมอาสาสมัคร 5,000 คน เพื่อร่วมแปรอักษรอีกครั้ง ผ่านแนวคิด “คิดต่อ คิดเยอะๆ คิดนานๆ”

ส่วนความเคลื่อนไหวของ ‘กองทัพ’ ยังคงอยู่ในที่ตั้ง ให้เป็นภารกิจหลักของ ‘ตำรวจ’ ซึ่งสำหรับ ‘ทหาร’ แล้ว จะเป็นเพียง ‘ผู้ช่วยเจ้าพนักงาน’ ที่สนับสนุนงานตำรวจเท่านั้น สำหรับทิศทางของ ตร. ในระดับ ‘บิ๊กนครบาล’ ก็ไม่ต้องการให้ ตร. มาเผชิญหน้ากับ ‘ผู้ชุมนุม’ ที่ส่วนใหญ่สนับสนุนพรรคก้าวไกล เพราะ ตร. ระดับล่าง-ระดับปฏิบัติ จากผลการเลือกตั้งก็พบว่ากำลังพลเหล่านี้เลือก ‘พรรคก้าวไกล’ ดังนั้นในระดับนโนบายของ ตร. จึงให้ ‘ฝ่ายการเมือง’ ไปจัดการและเคลียร์กันเอง อย่าดึง ตร. ไปเป็น ‘คู่ขัดแย้ง’

AFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ สนธิ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ นิวยอร์ก ar930844.jpgAFP รัฐประหาร 19 กันยายน 49 ทักษิณ สนธิ  930864.jpg

ในซีก ‘กองทัพ’ ก็ทำเพียง ‘มอนิเตอร์เหตุการณ์’ เท่านั้น ที่เชื่อว่าสถานการณ์การเมือง ยังคงมี ‘ทางออก’ ตามกระบวนการของฝ่ายการเมือง จึงไม่ต้องถึง ‘มือทหาร’ ในการเข้ามาจัดการสถานการณ์ เพราะจะยิ่งทำให้กองทัพ ‘ตกเป็นเป้า’ ยิ่งกว่าเดิม

ส่วนท่าทีของ ‘ผบ.เหล่าทัพ’ ชุดนี้ จะเกษียณฯ ก.ย. 2566 พร้อมกันทั้งหมด ยังคงมีความเป็น ‘เอกภาพ’ โดยเฉพาะในการทำหน้าที่ สว. ที่ในการโหวตนายกฯ รอบแรก ผบ.เหล่าทัพ-ปลัดกลาโหม ได้ ‘ลาประชุม’ พร้อมกัน ระบุติดภารกิจต่างจังหวัด-ต่างประเทศ แต่ในการประชุมร่วมรัฐสภา ในการลงมติไม่ให้เสนอชื่อนายกฯซ้ำ

มีเพียง ‘ปลัดกลาโหม-ผบ.ทร.-ผบ.ทอ.’ ที่เข้าประชุม ซึ่งได้ลงมติ ‘เห็นด้วย’ ไม่ให้เสนอชื่อซ้ำ ซึ่งแตกต่างท่าทีก่อนหน้านี้ที่มักจะ ‘เลี่ยงแสดงออก’ ไปทาง ‘งดออกเสียง’ แทน

การเมืองทั้งในและนอกสภาฯ เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ การต่อสู้ระหว่าง ‘ขั้วอำนาจเก่า-อำนาจใหม่’ ยังคงดำเนินต่อไป ผ่านการ ‘ต่อรองอำนาจ’ ผ่านการเมือง ‘ในระบบ-นอกระบบ’ ที่มีแต่จะยิ่งแตกหัก หาทาง ‘ประนีประนอม’ ได้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเดิมพันของ ‘ขั้วอำนาจเก่า’ สูงขึ้นเรื่อยๆ