ไม่พบผลการค้นหา
คณะตุลาการศาล รธน.เคยมีคำวินิจฉัยโดยตีบทบัญญัติตาม รธน.ฉบับปี 2550 ให้นายกฯ 3 คนต้องกระเด็นพ้นจากนายกฯ ซึ่งล้วนเป็นการตีความในห้วงที่เกิดวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง ขณะที่ 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' มีคิวต้องวัดใจกับคำวินิจฉัยของศาล รธน.ในคดีบ้านพักว่าจะร่วงหรือรอดพ้นข้อครหาตาม รธน.ฉบับปี 2560 หรือไม่

3 ส.ค. 2544 : ศาล รธน.ชี้ 8 ต่อ 7 ให้ 'ทักษิณ' พ้นครหาคดีซุกหุ้น

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ชี้ขาดตามรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 295 กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น (ปี 2544) จงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ หรือคดีซุกหุ้น

ในคดีนี้หากผลตรวจสอบปรากฏว่า เป็นการจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ หรือจงใจยื่นบัญชีฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ จะมีบทลงโทษ 2 ประการ คือประการที่ 1 ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องยื่นหรือนับแต่วันที่ตรวจสอบพบว่ามีการกระทำดังกล่าว และประการที่ 2  ผู้น้ันต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปีนับแต่วันพ้นจากตำแหน่ง  ถ้าเป็นกรณีที่ผูู้นั้นพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว โทษก็คงมีผลบังคับในประการที่ 2  คือ ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

คดีนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี สมัยแรก แต่ถูกวินิจฉัยโดยตั้งข้อกล่าวหาว่าจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ในรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

โดยคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้มติเสียงข้างมาก 8 ต่อ 7 เสียง พ.ต.ท.ทักษิณไม่มีความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 295 และให้ยกคำร้อง

ทั้งนี้ มีตุลาการ 11 คน เห็นว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 295 บังคับใช้กับกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ เพราะเป็นมาตรการบังคับสำหรับผูู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ไม่ปฏิบัติตามมาตรา 291 และมาตรา 292 ส่วนตุลาการ 4 คน วินิจฉัยว่า มาตรา 295 ไม่ใช้บังคับกับกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะในขณะที่ยื่นบัญชีฯ ทั้ง 3 ครั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ได้พ้นจากตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว

เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ต้องถูกตัดสิทธิทางการเมือง ทำให้นายกรัฐมนตรีคนที่ 23 เดินหน้าสร้างนโยบายจนประสบผลสำเร็จ และอยู่ในตำแหน่งจนครบวาระ 4 ปีเป็นครั้งในประวัติศาสตร์ ต่อจากนั้นยังประสบชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2548 ได้เป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ด้วยการจัดตั้งรัฐบาลพรรคไทยรักไทยเพียงพรรคเดียว จนสุดท้ายต้องปิดฉากตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 19 ก.ย. 2549 หลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. นำเหล่าทัพเข้ายึดอำนาจด้วยการรัฐประหาร ท่ามกลางวิกฤตความขัดแย้งที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

ทักษิณ สภา นายกรัฐมนตรี PH2001020937310.jpgทักษิณ ชนะคดีซุกหุ้น ศาลรัฐธรรมนูญ ปี 2544 H2001061850750.jpg

9 ก.ย. 2551 : สอย 'สมัคร' เป็นลูกจ้างพิธีกร 'ชิมไปบ่นไป'

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2551 ในคดีที่ประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องของ 'เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ' ส.ว.สรรหา พร้อมคณะ ส.ว.เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของ สมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีขณะนั้น เนื่องจากกระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 กรณีดำเนินรายการ 'ชิมไปบ่นไป' และ 'ยกโขยงหกโมงเช้า' มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182 วรรคหนึ่ง(7) 

เหตุการณ์ครั้งนั้น 'สมัคร' เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 25  และมีอันต้องพ้นจากตำแหน่ง

เมื่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์เห็นว่า 'สมัคร' ได้กระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 มีผลให้ความเป็นรัฐมนตรีของ 'สมัคร' ในฐานะนายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง  (7) เนื่องจากมีข้อเท็จจริงว่า 'สมัคร' หลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ แล้ว ยังคงเป็นพิธีกรรายการ 'ชิมไปบ่นไป' และ 'ยกโขยง 6โมงเช้า' ให้แก่บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด  โดยบริษัทดังกล่าวทำเพื่อมุ่งค้าหากำไร มิใช่เพื่อการกุศลสาธารณะ และ สมัคร ก็ได้รับค่าตอบแทนอย่างสมฐานะ และเห็นว่า 'สมัคร' เป็นลูกจ้างของ บริษัท เฟซ มีเดีย จำกัด จึงเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรี 'สมัคร' สิ้นสุดลงเฉพาะตัว

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายกรัฐมนตรี กระทำการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว และเมื่อความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเหตุให้รัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ

เหตุการณ์ครั้งนั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่มีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งชุมนุมยึดทำเนียบรัฐบาล จนทำให้ในช่วงท้ายการเป็นนายกฯ ของ 'สมัคร' ไม่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ในทำเนียบรัฐบาลได้ กระทั่ง 9 ก.ย. 2551 ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยให้ 'สมัคร' พ้นจากตำแหน่งนายกฯ

ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตัวนายกรัฐมนตรี จาก 'สมัคร สุนทรเวช' มาเป็น 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' ที่ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 26 แทน หลังก่อนหน้านั้น 'สมชาย' ต้องทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรีในระหว่างที่รอสภาผู้แทนราษฎรลงมติเลือกนายกฯ คนใหม่

คณะรัฐมนตรี สมัคร สมชาย มิ่งขวัญ เฉลิม kg1002118.jpg

2 ธ.ค. 2551 : ยุบ ‘พลังประชาชน’ ตัดสิทธิ 37 กก.บห. ‘สมชาย’ ร่วงนายกฯ

ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 20/2551 เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551 ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน

ถานะของพรรคพลังประชาชน ในขณะนั้นเป็นแกนนำรัฐบาล มี 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่่ 26 และมีสถานะเป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน

ภายหลัง 'สมัคร สุนทรเวช' พ้นจากนายกฯ ในคดี 'ชิมไปบ่นไป' ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็มีมติเห็นชอบให้ 'สมชาย' เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2551

คดีดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้ขาดว่า 'ยงยุทธ ติยะไพรัช' รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนได้ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 53 และการกระทำของ 'ยงยุทธ' เป็นเหตุให้การเลือกตั้ง ส.ส. จ.เชียงราย เขต 3 มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เห็นควรเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) แก่ 'ยงยุทธ ติยะไพรัช'

ในเวลาต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง (ประธาน กกต.ขณะนั้น) เสนอต่อ กกต.เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2551 โดยกกต.มีมติเห็นนชอบตามความเห็นของนายทะเบียนพรรคกาารเมืองที่ให้แจ้ง อสส. ดำเนินการต่อไป โดยนายทะเบียนพรรคการเมืองจึงส่งพยาน หลักฐานพร้อมสำนวนการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวข้างต้นมาให้ อสส.พิจารณายื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2550 มาตรา 94 และ มาตรา 95 ประกอบ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มาตรา 111 โดยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 237 รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน มีกำหนดเวลา 5 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่งให้ยุบพรรค

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ยุบพรรคพลังประชาชน เนื่องจาก 'ยงยุทธ' รองหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 มีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม  อันเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ประกอบมาตรา 237 วรรคสอง และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหัวหน้าพรรคพลังประชาชนและกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน ซึ่งดำรงตำแหน่งในขณะกระทำความผิด มีกำหนดเวลา 5 ปี

ทำให้ คณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน รวม 37 คน หนึ่งในนั้นมี 'สมัคร สุนทรเวช' ซึ่งพ้นนายกฯไปแล้ว และ 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' ซึ่งอยู่ในตำแหน่งนายกฯ และรองหัวหน้าพรรค ต้องพ้นจากตำแหน่งทางการเมือง เป็นผลให้คณะรัฐมนตรีชุด 'สมชาย วงศ์สวัสดิ์' ต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2551

คดีนี้ส่งผลสะเทือนทางการเมืองระดับสูง เพราะมีผลให้เกิดการพลิกขั้วจัดตั้งรัฐบาล 'เทพประทาน' เมื่อ ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวิน แตกหักกับพรรคพลังประชาชน ยกพวกเข้าสภาฯ ไปยกมือหนุนเห็นชอบให้ 'อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ' หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก้าวขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 27 เป็นผลสำเร็จ ปล่อยให้ พรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส.พรรคพลังประชาชนเดิมต้องเปลี่ยนบทบาทจากรัฐบาลมาเป็นฝ่ายค้านในที่สุด

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ วรวิทย์ -314C-49DD-A681-5649635A75B5.jpeg

7 พ.ค. 2557 : ‘ยิ่งลักษณ์’ ถูกสอยพ้นรักษาการนายกฯ เปิดทาง ‘ประยุทธ์’ ยึดอำนาจ

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 9/2557 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2557 ในคดีที่ประธานวุฒิสภาส่งคำร้องของ 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ส.ว.และคณะรวม 28 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 ประกอบมาตรา 182 วรรคสาม ว่าความเป็นรัฐมนตรีของ 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' นายกรัฐมนตรีขณะนั้น สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 (7) ประกอบมาตรา 268 และมาตรา 266 (2) และ (3) หรือไม่ กรณีแต่งตั้งโยกย้าย 'ถวิล เปลี่ยนศรี' พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คดีนี้เกิดขึ้นในระหว่างที่ 'ยิ่งลักษณ์' ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี อยู่ระหว่างจัดการเลือกตั้งทั่วไป หลังมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556

คดีดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า 'ยิ่งลักษณ์' ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นนายกฯ เข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองและของผู้อื่น ในเรื่องการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือการพ้นจากตำแหน่งของข้าราชการ ซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ มิใช่ข้าราชการการเมืองจึงต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 (2) และ (3) และถือเป็นการกระทำตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 268 อันมีผลทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของ 'ยิ่งลักษณ์' สิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7)

และรัฐมนตรีที่ได้ร่วมมีมติในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2554 จีงมีส่วนร่วมในการก้าวก่ายและแทรกแซงข้าราชการประจำอันเป็นการกระทำที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) เป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรีเหล่านั้นต้องสิ้นสุดลงเป็นการเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง (7) ไปด้วย

รัฐสภา ยิ่งลักษณ์ 0_Hkg5182066.jpg

เหตุการณ์คดีร้อนดังกล่าว เกิดขึ้นในบรรยากาศทางการเมืองที่มีการชุมนุมของ กปปส. ที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ความขัดแย้งหลัง 'ยิ่งลักษณ์' พ้นจากความเป็นรักษาการนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ไม่มีท่าทีจะยุติลงแต่อย่างใด คณะผู้นำเหล่าทัพ นำโดย 'พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา' ผบ.ทบ.ขณะนั้นพร้อมคณะจึงเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 

เป็นผลให้การเลือกตั้งทั่วไปต้องถูกแช่แข็งมาเป็นเวลา5 ปี และปัจจุบัน 'พล.อ.ประยุทธ์' ก็ครองอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่ 2 

ซึ่งในวันที่ 2 ธ.ค. 2563 ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ชะตาสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีของ 'พล.อ.ประยุทธ์' ในกรณีกระทำการต้องห้ามตามมาตรา 184 (3) ซึ่งกำหนดไว้ว่า "ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจ การงานปกติ" กรณีเข้าพักในบ้านพักข้าราชการภายในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์

'ประยุทธ์' จะร่วงหรือรอด คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีคำตอบแน่!

ข่าวที่เกี่ยวข้อง