ไม่พบผลการค้นหา
จับตาเลือกตั้ง 2566 ส่องเจตนา กกต. กับการคำนวณ ส.ส. เขต นับรวมทั้งผู้ไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาด้วย สมชัยชี้ จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ 66 เขตเลือกตั้ง 5 จังหวัด

หลังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด เพื่อเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้ง 2566 การแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยต่อมา สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กกต. ได้นำจำนวนราษฎรที่ไม่มีสัญชาติไทยมาใช้คำนวณจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดด้วย 

โดยตัวเลขที่ กกต. ใช้คำนวณการแบ่งเขตเลือกตั้งรายจังหวัดในการเลือกตั้งปี 2566 พบว่า นำมาจากข้อมูลประชากรของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เมื่อ 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีจำนวนประชากร 66,090,475 คน ในจำนวนนี้  กกต. ได้นำจำนวนผู้ไม่มีสัญชาติไทย 801,073 มารวมกับการคำนวณจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัด 

ขณะที่ มาตรา 95 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย และหากเราไปดูนิยามตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานจะพบว่า ‘ราษฎร’ หมายถึง ผู้ที่เป็นคนของประเทศ ถือสัญชาติเดียวกัน อยู่ภายใต้การปกครองเดียวกัน มีสิทธิตามกฎหมาย และต้องปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมืองเหมือนกันทุกคน เมื่อพิจารณาตามความหมายดังกล่าว จำนวนราษฎรที่ใช้คำนวณจำนวน ส.ส. ในแต่ละจังหวัดจึงจะต้องใช้ราษฎรที่เป็นผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น

ประเด็นนี้ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย ได้ให้สัมภาษณ์ว่า “โดยหลักการแล้วคนต่างด้าวไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่นำมานับเพื่อคำนวณเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง อย่าว่าแต่ต่างด้าวเลย คนไทยที่อายุต่ำกว่า 18 ปีก็ต้องคิดอีกแบบหนึ่ง ตรงนี้ไง กรุงเทพฯ จาก 36 เขต จึงลดเหลือ 33 เขต เพราะนับไปนับมามีต่างด้าวจึงต้องนำออก”

ด้าน ปกรณ์ มหรรณพ หนึ่งใน กกต. ได้ออกมาชี้แจงว่า นิยาม ‘จำนวนราษฎร’ ไม่ใช่จำนวนผู้มีสิทธิการเลือกตั้ง และไม่ใช่เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้น โดยตั้งแต่ปี 2558 ทางสำนักทะเบียนกลางได้ประกาศจำนวนราษฎรโดยแยกเพศกำเนิดชายและหญิงของผู้ที่มีสัญชาติไทยและผู้ที่ไม่ได้สัญชาติไทย และหลังจากนั้นมีการปฏิบัติในลักษณะนี้เรื่อยมา กระทั่งการเลือกตั้งครั้งที่แล้วปี 2562 และยืนยันว่าเป็นสิ่งที่ทำมาตลอด

การให้เหตุผลของ กกต. ในทัศนะของ ณัชปกร นามเมือง หัวหน้าฝ่ายปฏิรูปโครงสร้างทางกฎหมายและการเมือง iLaw มองว่า  

“ปัจจุบันกรมการปกครองได้ใช้เกณฑ์แยกจำนวนผู้มีสัญชาติไทยและผู้ไม่มีสัญชาติไทยออกจากกันแล้ว อีกทั้ง กกต. ก็ไม่ได้ชี้แจงด้วยหลักเหตุและผลว่า ทำไมเราถึงต้องนับคนกลุ่มนี้เข้ามา เขาแค่บอกว่า เคยทำมาแล้ว แล้วก็ทำตามๆ กันมา ซึ่งมันฟังไม่ขึ้นครับ”

Voice รวบรวมข้อสังเกตของผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตั้งคำถามว่า การนับจำนวนคนไม่มีสัญชาติไทยเข้ามาในการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบเบ่งเขต มีนัยยะสำคัญทางการเมืองหรือไม่ และการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน มีความไม่ชอบมาพากลมากน้อยแค่ไหน และอย่างไร

ดีดลดจำนวน ส.ส. กระทบ 6 จังหวัด

Rocket Media Lab ได้ลองคำนวณ จำนวน ส.ส. แบบเเบ่งเขต ผ่าน 2 รูปคือ หนึ่ง-นับรวมจำนวนผู้ไม่มีสัญชาติไทย และ สอง-นับเฉพาะจำนวนผู้มีสัญชาติไทยเท่านั้น เพื่อหาคำตอบว่า ทั้งสองรูปแบบข้างต้นให้จะผลลัพธ์เช่นใด และมีนัยยะทางการเมืองอย่างไร จากข้อมูลพบว่า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการคำนวณของ กกต. ที่ใช้จำนวนราษฎรทั้งที่มีสัญชาติไทยและไม่มีสัญชาติไทยมาคำนวณ จะมีจำนวน ส.ส. 6 จังหวัดที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้ 

กลุ่มที่ 1 คำนวณในรูปแบบของ กกต. (รวมจำนวนคนไร้สัญชาติ) จะทำให้มีจำนวน ส.ส. มากขึ้นกว่าการคำนวณเฉพาะราษฎรที่มีสัญชาติไทย ดังนี้ 

  1. เชียงราย หากคำนวณโดยรวมคนไร้สัญชาติด้วย จะได้จำนวน  ส.ส. 8 ที่นั่ง เทียบกับการคำนวณโดยนับเฉพาะราษฎรสัญชาติไทย จะได้จำนวน ส.ส. 7 ที่นั่ง
  2. เชียงใหม่ หากคำนวณโดยรวมคนไร้สัญชาติด้วย จะได้จำนวน  ส.ส. 11 ที่นั่ง เทียบกับการคำนวณโดยนับเฉพาะราษฎรสัญชาติไทย จะได้จำนวน ส.ส. 10 ที่นั่ง
  3. ตาก หากคำนวณโดยรวมคนไร้สัญชาติด้วย จะได้จำนวน  ส.ส. 4 ที่นั่ง เทียบกับการคำนวณโดยนับเฉพาะราษฎรสัญชาติไทย จะได้จำนวน ส.ส. 3 ที่นั่ง

กลุ่มที่ 2 คำนวณในรูปแบบของ กกต. (รวมจำนวนคนไร้สัญชาติ) จะทำให้มีจำนวน ส.ส. น้อยลงกว่าการคำนวณเฉพาะราษฎรที่มีสัญชาติไทย ดังนี้ 

  1. อุดรธานี หากคำนวณจำนวน ส.ส.โดยนับเฉพาะราษฎรสัญชาติไทย จะได้จำนวน ส.ส. 10 ที่นั่ง  แต่ถ้านับโดยรวมคนไร้สัญชาติด้วย จะได้จำนวน  ส.ส. เพียง 9 ที่นั่ง
  2. นครศรีธรรมราช หากคำนวณจำนวน ส.ส.โดยนับเฉพาะราษฎรสัญชาติไทย จะได้จำนวน ส.ส. 10 ที่นั่ง  แต่ถ้านับโดยรวมคนไร้สัญชาติด้วย จะได้จำนวน  ส.ส. เพียง 9 ที่นั่ง
  3. ปัตตานี หากคำนวณจำนวน ส.ส.โดยนับเฉพาะราษฎรสัญชาติไทย จะได้จำนวน ส.ส. 5 ที่นั่ง  แต่ถ้านับรวมคนไร้สัญชาติด้วย จะได้จำนวน  ส.ส. เพียง 4 ที่นั่ง

เมื่อพิจารณาจากข้อมูล จะพบว่า  มี 3 จังหวัดที่จะได้จำนวน ส.ส. เขต เพิ่มขึ้นคือ  เชียงใหม่ เชียงราย ตาก และอีก 3 จังหวัด ได้ จำนวน ส.ส. เขตลดลง คือ อุดรธานี นครศรีธรรมราช ปัตตานี

อาจกล่าวได้ว่า ผลลัพธ์นี้จะนำไปสู่ความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองอย่างแน่นอนใน 6 จังหวัดข้างต้น ดังเช่นข้อสรุปหนึ่งจาก Ilaw ระบุว่า ในเขตที่คะแนนเสียงสูสีเป็นทุนเดิม เช่นจังหวัดปัตตานีที่มีการคำนวณของ กกต. จะทำให้มี ส.ส. น้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นหนึ่งคน ในการเลือกตั้ง 2562 เขต 2 ผู้ชนะ อับดุลบาซิม ได้คะแนนมากกว่าอันดับสองเพียงประมาณ 400 คะแนนเท่านั้น หมายความว่าในการเลือกตั้ง 2566 ตัวเลขที่นั่ง ส.ส. ที่ กกต. คำนวณมาอาจจะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงในเขต 2 มากขึ้น และอาจส่งผลต่อผลการเลือกตั้งและฐานเสียงของผู้สมัคร

“เราคิดว่า กกต. ยังมีเวลาในการตัดสินใจนะ มันยังอยู่ในช่วงรับฟังการคิดเห็น ซึ่งคุณโดนทั้ง สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และโดนทั้งวิษณุ เครืองาม ปรมาจารย์ด้านกฎหมายออกมาทักท้วงแล้ว คุณก็แค่ออกประกาศใหม่ว่า จะใช้เฉพาะจำนวนประชากรที่มีสัญชาติไทย ก็จบแล้ว ไม่ต้องไปถึงศาลเลย เราไม่เข้าใจความดื้อเเพ่งของ กกต. ว่าต้องการจะพิสูจน์อะไรหรอ” ณัชปกร นามเมือง กล่าว

พิรุธแบ่งเขต 5 จังหวัด ประชากรเฉลี่ยเกินเกณฑ์ 66 เขต

การเลือกตั้งในปี 2566 ใช้รูปแบบบัตร 2 ใบ โดยแบ่งเป็น ส.ส. เขต 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ดังนั้น การจัดตั้งรัฐบาลโดยทั่วไปต้องใช้ ส.ส. 250 คน รวมกับเสียงของ ส.ว. นั่นหมายความว่า ต้องได้เสียงในสภา 376 เสียง จึงจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

การแบ่งเขตจึงเป็นประเด็นสำคัญ เพราะหากเป็นการแบ่งเขตแบบเอาเปรียบและไม่เป็นธรรม (Gerrymandering  หรือการแบ่งเขตเลือกตั้งแบบ) ก็จะส่งผลได้เสียต่ออนาคตทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้

เช่น พื้นที่หนึ่งเป็นฐานเสียงใหญ่ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง หากผู้มีอำนาจไม่ต้องการให้พรรคนั้นชนะการเลือกตั้งก็อาจจะแทรกแซงให้ผ่าแบ่งอำเภอนั้นออกเป็น 2 เขต เพื่อให้คะแนนเสียงที่เป็นฐานของพรรคการเมืองนั้นกระจายตัวออกไปจนไม่สามารถรวมคะแนนเสียงเป็นอันดับ 1 ได้ รวมถึงการแบ่งเขตนั้น มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด 

โดยหลักเกณฑ์การแบ่งเขตเลือกตั้ง ระบุว่า ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส.หนึ่งคนในจังหวัดนั้น เว้นแต่เป็นกรณีมีความจำเป็นเพื่อให้ราษฎรในชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันสามารถเดินทางได้สะดวก

สมชัย ศรีสุทธิยากร ตั้งข้อสังเกตผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึงรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กทม. ที่ กกต. เสนอมา 5 รูปแบบ  เพื่อให้พรรคการเมืองและประชาชนในจังหวัดได้แสดงความคิดเห็น 7-16 กุมภาพันธ์ 2566  นั้น สะท้อนความผิดปกติทั้งหมด และ กตต. ต้องรื้อทำใหม่ให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง ดังนี้ 

ประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 ที่ลงนามโดยประธาน กกต. ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 31 มกราคม 2566 ข้อ 3(2) เขียนไว้ชัดเจนว่า ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง ไม่ควรเกินร้อยละสิบ ของจำนวนเฉลี่ยต่อสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหนึ่งคนในจังหวัดนั้น

ขณะที่จำนวนเฉลี่ยราษฎร ของ กทม. คือ 166,513 คน ต่อ ส.ส. 1 คน ดังนั้น ร้อยละ 10 คือ 16,651 คน หมายความว่า การแบ่งเขตและจำนวนประชากรไม่ควรสูงหรือต่ำเกินกว่า ค่าเฉลี่ย +/- 16,651 คน ทว่าการแบ่งเขตของ กทม. ทั้ง 5 รูปแบบนั้น มีผลต่างของประชากรเกินกว่าที่หลักเกณฑ์กำหนดไปมาก ดังนี้

  • แบบที่ 1 มีผิดเกณฑ์ 20 เขตใน 33 เขต  หรือคิดเป็นร้อยละ 60.6 ของจำนวนเขตทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เขต 11 สายไหม มีราษฎร 208,928 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.47 เขต 26 ทุ่งครุ มีราษฎร 123,761 คน ต่ำกว่า ค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.67 เท่ากับห่างกันถึง 85,167 คน
  • แบบที่ 2 มีผิดเกณฑ์ 19 เขต จาก 33 เขต หรือคิดเป็นร้อยละ 57.57 ของจำนวนเขตทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เขตที่ 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.59 เขต 22 สวนหลวง มีราษฎร 122,676 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.33 เท่ากับห่างกันถึง 86,444 คน
  • แบบที่ 3  มีผิดเกณฑ์ 19 เขต จาก33 เขต หรือคิดเป็นร้อยละ 57.57 ของจำนวนเขตทั้งหมด ตัวอย่างเช่น เขตที่ 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 25.59 เขตที่ 10 หลักสี่ ดอนเมือง (เฉพาะแขวงสนามบิน) ราษฎร 122,411 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 26.49 เท่ากับห่างกันถึง 86,709 คน
  • แบบที่ 4 มีผิดเกณฑ์ 22 เขต จาก 33 เขต หรือคิดเป็นร้อยละ 66.66 ของจำนวนเขตทั้งหมด ตัวอย่างเช่น  เขต 18 คลองสามวา มีราษฎร 209,120 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 25.59 เขต 6 บางซื่อ มีราษฎร 119,431 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 28.28 เท่ากับห่างกัน 89,689 คน
  • แบบที่ 5 มีผิดเกณฑ์ 21 เขต จาก 33 เขต หรือคิดเป็นร้อยละ 63.64 ของจำนวนเขตเลือกตั้งทั้งหมด ตัวอย่างเช่น  เขต 22 สวนหลวง ประเวศ (เฉพาะแขวงหนองบอนและแขวงดอกไม้) 217,818 คน เกินกว่าค่าเฉลี่ยร้อยละ 30.81 เขต 10 บางซื่อ มีราษฎร 119,431 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ร้อยละ 28.28 เท่ากับห่างกันถึง 98,387 คน

จากการทั้งท้วงของ สมชัย ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์  2566 แสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้กล่าวว่า การแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. เขตของ จังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ ปัตตานี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร มีผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด และต้องมีการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ทั้งสิ้น 66 เขตเลือกตั้ง แบ่งเป็นกรุงเทพมหานคร 33 เขตเลือกตั้ง เชียงใหม่ 11 เขตเลือกตั้ง ชลบุรี 10 เขตเลือกตั้ง สมุทรปราการ 8 เขตเลือกตั้ง และ ปัตตานี 4 เขตเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม การแบ่งเขตเลือกตั้งในครั้งนี้ เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล และเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องจับตามอง เพื่อทำให้การเลือกตั้งโปร่งใส่ที่สุด ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ และไม่มีการใช้อำนาจพิเศษใดๆ เข้าแทรกแซงดังเช่นที่เกิดขึ้นในปี 2562 กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบเห็นชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งขยายเวลาแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต. แม้ กกต.จะดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งเสร็จแล้ว โดยให้ กกต. แบ่งเขตใหม่ได้กรณีที่ คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนมา

โดยก่อนหน้านั้น กกต.แต่ละจังหวัดได้ทำการรับฟังความคิดเห็นและประกาศออกมาเป็นสามรูปแบบ แต่ผลการประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการพบว่ามีจำนวน 11 จังหวัดที่มีรูปแบบเขตเลือกตั้งไม่ตรงตามรูปแบบที่ กกต.จังหวัด เคยเสนอไว้ คือ นครราชสีมา สุรินทร์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร อุดรธานี นครสวรรค์ นครปฐม เชียงราย สุโขทัย และชัยนาท โดยการแบ่งเขตดังกล่าวถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพลังประชารัฐ และส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทย


อ้างอิง