ไม่พบผลการค้นหา
กระแสข่าวยุบสภาฯ จู่ๆก็ถูกจุดขึ้นมาในช่วงนี้ หลังสื่อมวลชนถามคำถามกับ 'วิษณุ เครืองาม' รองนายกรัฐมนตรีหาก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ผ่านสภาฯ จะต้องยุบสภาหรือไม่

โดย 'วิษณุ' ยอมรับว่า "ใช่ ถูก โดยธรรมเนียม"

'วอยซ์' ย้อนเข้าไปดูรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร (สมัยสามัญ) พ.ศ.2529 หรือเมื่อ 35 ปีที่แล้ว วันที่ 1 พ.ค.2529 คือการยุบสภาฯ ครั้งล่าสุดในการเมืองไทย หลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตคว่ำ พ.ร.ก.ที่ออกโดยครม.ขณะนั้น ซึ่งเป็น ครม.ชุดที่ 43 รัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

บรรยากาศการประชุมสภาฯ วันที่1 พ.ค. 2529 ซึ่งก่อนนำไปสู่การล่มลงของรัฐบาล พล.อ.เปรมที่จัดตั้ง ครม.ในวาระที่ 2 เมื่อปี 2526 ได้ถึงเวลาต้องแยกทางกันในวันนั้น

โดยเริ่มขึ้นในเวลา 13.45 น. โดย 'อุทัย พิมพ์ใจชน' ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งต่อที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วนที่ 2 เรื่องอนุมัติ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2529 ที่ ครม.เป็นผู้เสนอ

ประยุทธ์-วิษณุ
  • 'สมัคร'แจงสภาฯ ออก พ.ร.ก.เป็นเรื่องด่วน

จากนั้น สมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการ (รมว.) คมนาคมในขณะนั้น ได้ชี้แจงถึงเหตุผลของการเสนอ พ.ร.ก.นี้ ด้วยเหตุที่เป็นนการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกโดยให้้ยกเลิกบัญชีอัตราภาณีรถตามมาตรา 85 ท้าย พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 แล้วก็ให้เพิ่มข้อความตามมาตรา 88 ทวิ เหตุผลในการที่ต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็คือว่า โดยเหตุที่ในปัจจุบันมีรถจำนวนมากใช้น้ำมันดีเซลเป็นก๊าซเชื้อเพลิง แล้วทำให้เกิดความจำเป็นในการสั่งน้ำมันดีเซล หรือก๊าซเข้ามาในราชอาณาจักร ดังนั้น เพื่อป้องกันมิให้มีการเพิ่มเติมจำนวนรถ ที่ใช้น้ำมันดีเซลหรือก๊าซเชื้อเพลิง และเพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศ ในการนำน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่วเข้า สมควรแก้ไข พ.ร.บ.ขนส่งทางบก พ.ศ.2522 และโดยเหตุที่เป็นกรณีฉุกเฉินมีความจำเป็นเร่งด่วน ที่จะรักษาความมั่นคงเศรษฐกิจของประเทศ จึงจำเป็นจะต้องตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้

สมัคร สุนทรเวช Samak_Sundaravej_1976.jpg

ทันทีที่ 'สมัคร' ชี้แจงเสร็จสิ้น 'ปองพล อดิเรกสาร' ส.ส.สระบุรี พรรคชาติไทย ในฐานะฝ่ายค้าน ได้ลุกขึ้นอภิปราย พร้อมท้วงติงการออก พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว โดยระบุว่า "กระผมอยากจะเรียนถามในหลักการก่อว่าตามที่บอกว่าเป็นกรณีฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วน ที่จะรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศถึงต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้มานั้น กระผมคิดว่าเหตุผลนั้นยังไม่สมควรนัก ก็เพราะว่าในภายหลังรัฐบาลได้มาออก พ.ร.ฎ.อีก 2 ฉบับ ยกเว้นภาษีลดภาษีลงมา อันนี้เป็นเครื่องชี้ชัดให้เห็นว่า มันไม่กรณีฉุกเฉิน หรือเร่งด่วนเลย อันนี้ก็เห็นว่ารัฐบาลนี้คิดไม่รอบคอบในการที่จะออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ออกมา"

"กระผมขอให้สมาชิกของสภานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แทนฝ่ายรัฐบาลช่วยพิจารณาให้รอบคอบครับ ว่าเราจะปล่อยอันนี้ไปได้อย่างไรครับ ในเมื่อไม่มีหน่วยเงินบาทอยู่เลย กระผมคิดว่าถ้าออกไปใช้นี่มันจะมีปัญหา เพราะว่าการออกกฎหมายต้องสมบูรณ์และชัดเจนครับ อันนี้ที่ประเด็นกระผมอยากฝากให้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนแห่งนี้ได้ช่วยกันพิจารณาในประเด็นนี้ด้วยครับ" ปองพล ระบุ

เช่นเดียวกับ 'สมาน สมภูเทพ' ส.ส.ลำพูน พรรคกิจสังคม ก็อภิปรายว่า "เรายอมรับไม่ได้"

"เราต้องมองถึงเกษตรกรในชนบท ในร่าง พ.ร.ก.ฉบับนี้ ได้มีการช่วยเฉพาะรถบรรทุกหรือแก่ด้านเศรษฐกิจ แต่ปรากฎว่ารถบรรทุกเล็กนี่ครับท่านประธานที่เคารพก็เป็นส่วนหนึ่งของเกษตรกรท่านกลับไม่ยกเว้น เมื่อเป็นปัญหาอย่างนี้ รัฐบาลไม่มีความจริงใจที่คิดจะช่วยกันจริงจังในฐานะที่กระผมเองได้อยู่พรรคกิจสังคม ก็มีการถกเถียงเรื่องนี้ว่าประชากรนั้นเดือดร้อนเหลือเกิน ชาวบ้านถามพวกผมมาว่ จะทำอย่างไรครับท่านผู้แทน ผมก็เห็น พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่า ถ้าจะให้ผ่านก็ได้งงตัวเองเหมือนกันว่า ทุกวันนี้ฝ่ายบริหารนั้น จะอยู่เหนือฝ่ายนิติบัญญัติ จู่ๆ ก็ใช้วิธีเสนอเข้ามาเอาทีเดียว คือแบบมัดมือชก ย่ามใจทำมามากต่อมาก"

การพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าวเริ่มขึ้นได้ไม่นาน จ.ส.อ.ทรงธรรม  ปัญญาดี ส.ส.เชียงราย พรรคชาติไทยก็ให้ปิดการอภิปรายและลงมติทันที แต่ทว่า 'ไกรสร ตันติพงศ์' ส.ส.เชียงใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้เปิดอภิปรายต่อ ซึ่งปรากฎมีสมาชิกยกมือรับรองญัตติขอเปิดอภิปรายต่อด้วยมติ 137 ต่อ 119 เสียง

โดย 'เสริมศักดิ์ การุญ' ส.ส.ระยอง พรรคชาติไทย อภิปรายท้วงติงการออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่าเป็นเสนอมาผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ โดยทักท้วงว่า "รัฐบาลอาจสามารถเสนอ พ.ร.ก.ได้ แต่ว่าในกรณีอย่างนี้กระผมเห็นว่าเป็นการใช้อำนาจพร่ำเพรื่อเกินกว่าเหตุรัฐบาลประกาศ พ.ร.ก.ปรับโครงสร้างภาษี เก็บภาษีรถยนต์แพงเป็น 4 เท่า ทำให้เกิดวิพากษ์วิจารณ์แก่ประชาชนทั่วไปว่าเป็นการทำให้ประชาชนทั้งหลาย ซึ่งมีความเดือดร้อนอยู่แล้วต้องมีความเดือดร้อนยิ่งขึ้นไปอีก เพราะเหตุการณ์อย่างนี้ไม่ใช่เรื่องรีบด่วนที่จะออกเป็น พ.ร.ก."

"สิ่งที่จะเสนอเป็น พ.ร.บ.ได้ก็ไม่ทำ ทำเหมือนสภาไร้ความหมายท่วงทำนองของรัฐมนตรีหลายคนที่่นั่งปฏิบัติราชการบริหารบ้านเมืองอยู่ขณะนี้หลายท่านก็ใช้ท่วงทำนองเหมือนขุนนางในสมัยโบราณ จะเป็นเพราะว่ารัฐบาลมีความมั่นคงในการปกครองบ้านเมืองมากเกินไป จึงไม่อนาทรต่อประชาชน หรือไม่เห็นความสำคัญต่อประชาชน หรือแม้แต่ไม่เห็นความมสำคัญของผู้แทนราษฎรเท่าที่ควร"

'เสริมศักดิ์' ย้ำทิ้งท้ายว่า ถ้าปล่อยให้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ผ่านไปก็เหมือนว่ารัฐบาลนี้ไม่ให้เกียรติต่อตัวแทนของประชาชนหรือไม่ให้เกียรติต่อประชาชน ทางหนึ่งที่จะทำให้รัฐบาลรู้สึกสำนึกตัวก็คือการที่จะให้รัฐบาลนี้ไม่สามารถจะใช้ พ.ร.ก.ฉบับนี้ใช้บังคับได้ กระผมเห็นว่าไม่สมควรที่สภาฯ นี้จะอนุมัติ พ.ร.ก.ฉบับนี้"

สภา คว่ำ พระราชกำหนด สมัย เปรม 2529 -243E-4FBB-8788-8B9AB107046D.jpeg


  • สภาฯ โหวต 3 รอบ ผลลงมติคว่ำ พ.ร.ก.ทุกรอบ

ภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น 'อุทัย พิมพ์ใจชน' ประธานสภาผู้แทนราษฎรได้ขอมติจากที่ประชุมโดยผลการลงมติปรากฎว่า 140 เสียงไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ขณะที่ 137 เสียงเห็นควรอนุมัติ ท่ามกลางเสียงปรบมือแสดงความยินดีของ ส.ส.บางส่วน ทำให้ประธานสภาฯต้องเตือนว่า "ขอความกรุณาอย่าปรบมือนะครับ"

ทว่า 'ไกรสร ตันติพงศ์' ส.ส.เชียงใหม่ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอใช้ข้อบังคับการประชุมฯ นับคะแนนใหม่ โดยอ้างเหตุที่มีสมาชิกเดินเข้าเดินออกและพลุกพล่าน ทำให้ ประธานสภาฯ ถามที่ประชุมอีกครั้งเพื่อเป็นการลงคะแนนใหม่ว่า "ท่านผู้ใดเห็นสมควรอนุมมัติ พ.ร.ก.ที่รัฐบาลประกาศใช้ไปแล้วให้เป็นกฎหมายประกาศใช้ต่อไป โปรดยืนขึ้นครับ" ปรากฎว่ามีสมาชิกยืนขึ้น 142 คนเห็นควรให้อนุมัติ

จากนั้น ประธานสภาฯ ถามต่อไปถึงการถามมติว่าท่านใดไม่เห็นควรอนุมัติโปรดยืนขึ้น และอย่าเดิน ปรากฎว่ามีสมาชิกยืนขึ้น 143 คนไม่เห็นควรให้อนุมัติ

ทันใดนั้น 'สมัคร สุนทรเวช' รมว.คมนาคมก็ใช้สิทธิประท้วงโดยระบุว่า เนื่องจากตัวเลขผิดเพียงเลขเดียว ถ้าผิดกันมากกว่านี้ ตนจะไม่ขอท้วง ตนจึงขอเสนอให้มีการนับใหม่อีกครั้งหนึ่ง

ทำให้ 'อุทัย พิมพ์ใจชน'ประธานสภาฯ ที่อยู่บนบัลลังก์ต้องระบุว่า "2 ครั้งแล้วนะครับ รัฐมนตรี"

ขณะที่ 'สมัคร' ย้ำว่า "ครับด้วยการขานชื่อนะครับ ขอผู้รับรองครับ" ซึ่งมีสมาชิกรับรอง ทำให้ที่ประชุมต้องลงมติใหม่เป็นครั้งที่ 3 ด้วยวิธีการขานชื่อตามลำดับตัวอักษร โดยให้ 'บังอร อิ่มโอชา' เลขาธิการรัฐสภา ขานชื่อสมาชิกเพื่อลงมติ

เมื่อสมาชิกขานลงมติเสร็จสิ้น ประธานสภาฯ แจ้งที่ประชุมว่า ผลการนับคะแนนครั้งที่ 3 ออกมาแล้วนะครับ แล้วก็คะแนนครั้งที่ 3 นี้ตามข้อบังคับข้อที่ 72 เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้แล้ว อนุมัติ 143 เสียง ไม่อนุมัติ 147 เสียง งดออกเสียง 5 ก็เป็นอันว่าสภานี้ไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2529 จากนั้นประธานฯได้สั่งปิดการประชุมทันทีในเวลา 16.13 น. วันที่1 พ.ค. 2529

เปรม ติณสูลานนท์  A1C04732-38B9-4F41-AEC2-CC944DC9A399.jpeg
  • 'ป๋าเปรม' งัดอำนาจยุบสภาฯ ชี้พรรคการเมืองขัดแย้ง

เหตุแห่งการคว่ำ พ.ร.ก.ที่ตราโดย ครม.ในครั้งนั้น นำไปสู่การยุบสภาฯ ปิดฉากสภาผู้แทนราษฎรไทย ชุดที่ 14 (24 เม.ย. 2526 - 1 พ.ค. 2529) ที่มี ส.ส. 324 คนมาจากการเลือกตั้งแบบรวมเขตและแบ่งเขต 

ผลพวงจากความขัดแย้งระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีขณะนั้นได้ใช้อำนาจยุบสภาฯ ทันที

โดยพรรคร่วมรัฐบาลชุดนี้ ประกอบด้วย พรรคกิจสังคม พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชากรไทย และพรรคชาติประชาธิปไตย ที่เป็นฐานเสียงค้ำยันอำนาจให้ พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ต้องลงสนามสู้ศึกเลือกตั้ง

ขณะที่พรรคชาติไทยที่มี ส.ส.ในสภาฯมากที่สุด แต่เป็นฝ่ายค้านก็ลงสนามเลือกตั้งใหม่อีกครั้งเช่นกัน

กระทั่งมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2529 มีผลบังคับใช้วันที่ 2 พ.ค. 2529

โดยเนื้อหาของ พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ระบุว่า ด้วยนายกรัฐมนตรีได้กราบบังคมทูลฯ ว่า ตามที่ได้มีการตรา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2529 ออกใช้บังคับ และสภาผู้แทนราษฎร ในการประชุมเมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2529 ได้มีมติไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าว อันเป็นเหตุให้ พ.ร.ก.นั้นตกไป 

"จากการพิเคราะห์สาเหตุแห่งการไม่อนุมัติ พ.ร.ก.ดังกล่าว เห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรมิได้คำนึงถึงเหตุผลในการตรา พ.ร.ก.หากสืบเนื่องมาจากความแตกแยกในทางการเมืองของพรรคการเมืองบางพรรค หากให้สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ยังคงทำหน้าที่ต่อไป ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และกระทบถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศ และจะนำมาซึ่งความเสื่อมโทรมของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สมควรยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่"

โดย พ.ร.ฎ.ยุบสภาฯ ได้กำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 27 ก.ค. 2529 

ผลจากการยุบสภาฯ ครั้งนั้น พล.อ.เปรม ยังคงได้รับความไว้วางใจจากพรรคการเมืองในซีกรัฐบาลผสม ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ที่มี ส.ส.มากที่สุดในสภาฯ 100 เสียง พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม และพรรคราษฎรสนับสนุนให้ พล.อ.เปรม กลับมาให้นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในสมัยที่ 3

เป็นตำนานในหน้า 1 ของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ต้องย้อนไปเมื่อ 35 ปีที่แล้ว การเมืองไทยเคยมี รัฐสภาโหวตคว่ำกฎหมายที่ออกโดยรัฐบาล จนนำไปสู่การแสดงความรับผิดชอบด้วยการยุบสภาฯ

แต่ถ้าเทียบกับยุคปัจจุบัน คงเป็นเรื่องยากที่ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทจะถูกคว่ำโดยสภาฯ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อ้างอิง