ไม่พบผลการค้นหา
ดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาลล่มไม่เป็นท่า ถูกเลื่อนออกไปอีกครั้ง หลังจากเลื่อนรอบแรกจากวันที่ 26 พ.ย. มาเป็นวันที่ 3 ธ.ค. โดยให้เหตุผลว่า ให้ ส.ส.กลับไปเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล – นายกองค์การบริหารส่วนตำบล

แต่เมื่อใกล้ถึงเวลา 3 ธ.ค. 2564 “พล.อ.ประวิตรวงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล กลับบอกว่า “ไม่มีแล้ว เลื่อนไปก่อน เดี๋ยวจะคุยอีกที” ทิ้งเป็นปริศนาการเมืองเอาไว้

ท่ามกลางข่าวว่าภายในพรรคพลังประชารัฐ ที่มี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร กำลังระส่ำระสายนักการเมืองระดับบิ๊กต่างเตรียมตัวย้ายป้อมค่ายหนีพลังประชารัฐ

ร้อนถึงนักการเมืองตัวบิ๊กในพรรคพลังประชารัฐต้องออกมาปฏิเสธกันเป็นแถว 

ไม่ว่า “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ ที่มีครอบครัวนั่งเป็น ส.ส.ในสภา 3 คน และรัฐมนตรีอีก 1 คน ต้องออกมายืนยันว่ายังอยู่พลังประชารัฐ

ไม่ว่า “สุชาติ ชมกลิ่น” รมว.แรงงาน ส.ส.ชลบุรี พลังประชารัฐ ผู้คุมโซนตะวันออก ก็ยืนยันว่าอยู่กับลุงตู่ - ลุงป้อม 

ยิ่งรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบมีผลบังคับใช้ แม้อยู่ในช่วงเริ่มต้นทำกฎหมายลูก ทั้งกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายพรรคการเมือง

แต่ก็เห็นเงาลางๆ แล้วว่า กติกาเลือกตั้งบัตร 2 ใบ จะนับคะแนนแบบเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2554 แบบเลือกคน เลือกพรรค “วันแมน-วันโหวต” ไม่มีนับคะแนนตกน้ำ  

พรรคได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เท่าไหร่ ก็จะได้จำนวน ส.ส.เท่านั้น 

นักการเมืองพอเดากติกาออก และเริ่มกำหนดทิศทางการเมืองจะอยู่ค่ายเดิม หรือ ย้ายค่าย

ยิ่งตามประเพณีการเมืองไทย เมื่อมีการแก้ไขกติกาเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญจบเมื่อไหร่ รัฐบาลก็จะถูกกดดันให้ “ยุบสภา” เมื่อนั้น

ประวิตร-อยุธยา วิรัช พลังประชารัฐ _210922_4.jpg

ประกอบกับผลพวงจากความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ยังสำแดงผลถึงงานในสภา เมื่อสภา “หวิด” ล่มบ่อยครั้ง จนเป็นที่จับตา จะเป็นอีกหนึ่งชนวนให้รัฐบาลต้องยุบสภาหรือไม่ 

อีกด้าน ระหว่างทางฝ่ายค้าน 6 พรรค เล่นเกมปั่นประสาท พรรคฝ่ายรัฐบาล สั่งจับตา-จับตายสภาล่ม จ่อใช้เป็นเครื่องมือกดดันให้รัฐบาลยุบสภาทันที

ด้วยเหตุผลว่า การรักษาองค์ประชุมเป็นหน้าที่ฝ่ายรัฐบาล เมื่อมีการลงมติ ส.ส.ฝ่ายค้านจึงไม่เร่งรีบเข้าห้องประชุม

เป็นเหตุให้ “พล.อ.ประวิตร” หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องกำชับ ส.ส.ให้เข้าร่วมประชุมสภา ถึงกับบอกต่อหน้าลูกหาบในพรรคว่า “ถ้าองค์ประชุมล่มบ่อยๆ ก็จะโดนบอกให้ยุบสภา”  

นิโรธ พลังประชารัฐ ประชุมสภา 08C-E01FE015DD68.jpeg

ย้อนเหตุสภา “ล่ม - หวิดล่ม” เกิดขึ้น 3 ครั้ง 

ครั้งแรก 3 พ.ย. 2564  เป็นเหตุสภาฯ ล่ม ประเดิมการเปิดประชุมสภาสมัยสามัญครั้งที่ 2/2564 นัดแรก ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา จำนวน 11 มาตรา เมื่อมาถึง มาตรา 6 สุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้กดออดเรียกสมาชิก เพื่อเข้ามาแสดงตนก่อนลงมติก่อนโหวต

เมื่อทอดเวลาให้ ส.ส.เดินเข้าห้องประชุมกว่า 5 นาที แต่สมาชิกยังในห้องประชุมยังบางตา “สุชาติ” ตัดสินใจชิงปิดประชุมทันที โดยกล่าวว่า “เอาไว้ประชุมกันคราวต่อไป” และสั่งปิดประชุมเวลา 17.20 น

ครั้งสอง 1 สัปดาห์ต่อมา ต่อมาวันที่ 10 พ.ย. 2564 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะต้องลงมติในร่าง ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา กันต่อในมาตราที่ 6 หลังจากปิดประชุมหนีเหตุสภาล่ม แต่ปรากฏว่า ศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธาน ต้องกดออดเรียกให้ ส.ส.เข้าห้องประชุม และทอดเวลานานกว่า 5 นาที 

“ขอเชิญสมาชิกที่อยู่ด้านนอก และกำลังประชุมอยู่ห้องกรรมาธิการต่าง ๆ ขอให้เข้าห้องประชุม เพราะเมื่อกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา พ.ศ… นั่งประจำที่แล้วจะมีการตรวจสอบองค์ประชุม” ศุภชัย ระบุ 

ทำให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลต้องรีบวิ่งกลับเข้าห้องประชุม ก่อนลงมติประธานได้นับองค์ประชุมได้ 271 คน ซึ่งถือว่าครบองค์ประชุม เพราะเสียงเกินกึ่งหนึ่ง (238 เสียง) จากนั้นจึงมีการลงมติโหวตกฎหมายดังกล่าวในมาตราที่ 6

ในวันเดียวกันนั้น “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร เตือนสติ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลนอกห้องประชุมสภาว่า

“เรื่ององค์ประชุมโดยหลักแล้วทุกคนต้องร่วมมือกัน แต่ในระบบนี้ซึ่งผมพูดมาตลอด ไม่ว่าเป็น ส.ส.มากี่สมัยก็เป็นหน้าที่ของ ส.ส. แต่ในระบบนี้รัฐบาลอยู่ได้ด้วยเสียงข้างมาก เพราะถ้าไม่ใช่เสียงข้างมากก็เป็นรัฐบาลไม่ได้”

“ฉะนั้น รัฐบาลต้องเป็นหลักมีหน้าที่รักษาองค์ประชุม ส.ส.รัฐบาลก็จะมีน้ำหนักพิเศษกว่า ส.ส.ทั่วไป ถือว่าเป็นภารกิจจะต้องทำและอย่าไปโยนให้วิป เพราะวิปเป็นเพียงผู้ควบคุมเสียง ไม่ใช่คนที่จะบอกว่าให้คะแนนครบ หรือไม่ครบ”

ไพบูลย์ สภา อภิปรายไม่ไว้วางใจ  832-4C38FAC82497.jpeg

ครั้งที่ 3 วันที่ 24 พ.ย. 2564 สภาเกือบล่มอีกครั้ง เมื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ เปิดประเด็นกลางสภาให้เปิดเผยชื่อคนที่ไม่เข้าประชุม โดยพุ่งเป้าไปที่ฝ่ายค้านไม่เข้าห้องประชุม 

สถานการณ์ร้อนระอุ เกิดขึ้นภายหลังเสร็จสิ้นการโหวต ให้เลื่อนญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร เพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ ขึ้นมาพิจารณาก่อน

ทำให้ “พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน” ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย และ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์”ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นประท้วงและขอให้นับองค์ประชุมแบบขานรายชื่อ ผลปรากฏว่าฝ่ายรัฐบาลร่วมประชุม 263 คน ฝ่ายค้าน 1 คน เพราะไม่แสดงตน 

ต่อมา 26 พ.ย. 2564 “ไพบูลย์” จึงคิดมุกใหม่มาข่มฝ่ายค้าน เพื่อตรวจสอบการทำหน้าที่ของ ส.ส. ในการประชุมสภาฯสัปดาห์หน้าจะนำผลการโหวต นับองค์ประชุมทุกครั้งของสภาฯ ไปเข้าโปรแกรมประมวลผล เพื่อให้เห็นว่ามี ส.ส. รัฐบาล ฝ่ายค้าน มาประชุมกี่คน ขาดประชุมกี่คน 

แยกย่อยเป็นรายพรรคการเมือง และรายบุคคล เพื่อเป็นฐานข้อมูล เผยแพร่ทางเว็บไซต์ หรือทางออนไลน์ และจัดแถลงข่าวรายงานผลให้ประชาชนรับทราบ”

ขณะที่ฝ่ายค้านพรรคเพื่อไทย เตรียมแก้ลำ อาจไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุมเพื่อเปิดประชุม บีบให้ ส.ส.ซีกรัฐบาล ต้องมานั่งเป็นองค์ประชุมให้ถึงกึ่งหนึ่งจึงจะเปิดประชุมได้ โดยรัฐบาลต้องเกณฑ์ ส.ส.มานั่งให้เกินครึ่ง 238 คน

ไม่เช่นนั้นสภาล่ม...ล่มบ่อยๆ ก็จะถูกบีบให้ยุบสภา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง