วันที่ 2 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการเป็นวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.แบบบัญชีรายช่ือ พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณในส่วนของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า โครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ ถูกขอจัดสรร 30,537 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้นำงบที่อาจจะไปซุกซ่อนอยู่ในโครงการก่อสร้างที่มีราคาต่อหน่วยต่ำกว่า 10 ล้านบาท มารวม โดยในปีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 นี้ ตนขอแบ่งงบออกเป็น 5 ประเภท
เบญจา กล่าวว่า การขอจัดสรรผ่านหน่วยรับงบของส่วนราชการในพระองค์เป็นจำนวน 8,611 ล้านบาท และขอจัดสรรผ่านโครงการพิทักษ์รักษาเทิดทูนสถาบันฯ และโครงการตามพระราชประสงค์อีก 660 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2565 5% และขอจัดสรรผ่านโครงการถวายความปลอดภัย 4,933 ล้านบาท ผ่านโครงการหลวง และโครงการในพระราชดำริอย่างน้อย 13,533 ล้านบาท และสุดท้าย จัดสรรผ่านโครงการสนับสนุนกิจกรรมพิเศษหลวงอื่นๆ อีก 2,799 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 28% แต่ในจำนวนทั้งหมดนี้ มีส่วนที่ลดลงคือ งบประมาณโครงการถวายความปลอดภัยซึ่งลดไป 28% แต่เป็นเพราะ สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไม่มีการจัดตั้งเพื่อซื้อ เฮลิคอปเตอร์ หรือพระราชพาหนะเข้ามาแล้ว
เบญจา กล่าวอีกว่า โครงการในพระราชดำริ ถึงแม้ว่าปีนี้จะมีการขอจัดสรรเข้ามาลดลงไป 11% แต่ตนพบปัญหาว่า การตั้งงบที่เกี่ยวข้องโครงการในพระราชดำริ ซึ่งเป็นหน่วยรับงบจำนวนหลายหน่วยที่ทำโครงการที่มีชื่อเดียวกัน แต่กลับต่างคนต่างทำ ไม่ได้มีความร่วมมือในการดำเนินโครงการร่วมกัน เช่น โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงที่มีการจัดตั้งอยู่ใน 8 กระทรวง หรือโครงการเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ที่กระจายอยู่ใน 51 หน่วยงาน และซ่อนอยู่ในกระทรวงกลาโหมทุกเหล่าทัพ
“เราควรมอบหมายโครงกาารเหล่านี้ ให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อให้โครงการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเรื่องประหยัดงบประมาณ ลดภาระงานของบุคลากรภาครัฐ ทำให้ไม่เกิดโครงการที่เป็นเบี้ยหัวแตก ต่างคนต่างคิด” เบญจา กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีโครงการในพระราชดำริที่ทำอย่างไร ไม่เสร้จสักที ขอยกตัวอย่าง โครงการห้วยสโมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นโครงการในปราจีนบุรี ของกรมชลประทาน ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบ 10,000 ล้าน สร้างมากว่า 10 ปี แต่โครงการนี้ไม่เสร็จสัทกีทผ่านมติ ครม มาตั้งแต่52 และอนุมัติก่อสร้างตั้งแต่ 53 จนถึง 61 แต่นี่ปี 65 แล้ว โครงการไม่เสร็จ และขอเลื่อนระยะเวลาออกไปเรื่อยๆ
เบญจา กล่าวต่อว่า เมื่อเข้าไปสู่ในชั้นกรรมาธิการ งบที่มีชื่อเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ถูกปล่อยปะละเลย ไม่ถูกตรวจสอบ ไม่ปรับลดงบ ถูกปล่อยผ่านไปเลยในทันที โดยสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ไม่มีการประเมินความเหมาะสมของโครงการ ตนจึงอยากเรียนไปถึงรัฐบาลที่รับผิดชอบ ให้เอาโครงการไปศึกษาใหม่ว่ายังจำเป็นอยู่หรือไม่ เพราะหลายโครงการที่รัฐบาลได้รับสนองพระราชดำริ ตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว
นอกจากนี้ เบญจา ยังกล่าวถึงการจัดงานเฉลิมพระชนมพรรษาที่มองว่า ไม่จำเป็นต้องจัดทุกอำเภอ ทุกหน่วยงานท้องถิ่น แต่ให้จัดเพียงแค่จุดเดียว แต่ให้สมพระเกียรติ มีการออกร้านเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการเปิดสถานที่สำคัญที่เกี่ยวกับสถาบันฯ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น พระที่นั่งอนันตสมาคม พระที่นั่งวิมานเมฆเพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ไปเยี่ยมชม และเป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์
“สภาฯ ของเราซึ่งมาจากการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจ สภาของเราห้ามไม่ให้อภิปรายหน้าใด บรรทัดใด มาตราใด หรือบางหน่วยรับงบประมาณใดหรือไม่ และการทำหน้าที่ของส.ส. ถือเป็นหน้าที่ทำด้วยความซื่อสัตย์ และความผาสุขของพี่น้องประชาชน หรือเป็นการกระทำอันเป็นปฏิปักษ์” เบญจา กล่าว