'ลอยกระทง' เป็นเทศกาลใหญ่ประจำปีที่อยู่คู่สังคมไทยมานาน แม้จะมีข้อถกเถียงในกลุ่มนักประวัติศาสตร์อยู่บ้างว่าจุดเริ่มต้นของประเพณีเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ และมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไรกันแน่ แต่สำนักข่าวเก่าแก่ระดับโลกอย่าง 'รอยเตอร์' บันทึกบรรยากาศงานลอยกระทงในไทยต่อเนื่องหลายสิบปี ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเทศกาลนี้อย่างช้าๆ
วันที่ 20 พ.ย.2515 'รอยเตอร์' รายงานว่า เทศกาลลอยกระทงในประเทศไทยเริ่มขึ้นในช่วงพระจันทร์เต็มดวง หลังจากสิ้นสุดฤดูฝน และการเฉลิมฉลองเทศกาลลอยกระทงในกรุงเทพฯ จะเริ่มต้นด้วยการจุดพลุและดอกไม้ไฟ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กๆ และนักท่องเที่ยวต่างชาติรอชม ต่อจากนั้นจึงเป็นการลอยกระทง ซึ่งเป็นพิธีที่สงบและขรึมขลัง เพราะผู้ลอยกระทงจะจุดเทียนอธิษฐาน ก่อนจะนำกระทงไปลอยในแม่น้ำ
สิ่งที่ปรากฏชัดคือ 'กระทง' ในสมัยนั้นยังนิยมใช้กระทงโฟมประดับด้วยกระดาษย่นรูปกลีบบัวสีสันต่างๆ ส่วนกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติก็มีอยู่เช่นกัน แตมีให้เห็นน้อยกว่า
วันที่ 6 พ.ย.2538 เป็นปีที่ไทยเจอกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ เนื่องจากมีพายุฝนกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง หลายจังหวัดทั่วประเทศได้รับผลกระทบ ไม่เว้นแม้แต่ 'กรุงเทพฯ' และปทุมธานี ซึ่งถูกน้ำท่วมขังอยู่นานหลายเดือน ตั้งแต่สิงหาคมจนถึงพฤศจิกายน แต่เทศกาลลอยกระทงยังจัดขึ้นตามปกติ
สื่อต่างชาติยังเก็บบันทึกภาพผู้ทำหน้าที่เก็บกระทง หรือผู้ที่ช่วยผลักกระทงให้ลอยห่างไปจากฝั่ง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลลอยกระทงในไทยยุคนั้นด้วย
วันที่ 19 พ.ย.2545 เทศกาลลอยกระทงของไทยถูกจัดขึ้นหลังเหตุระเบิดแหล่งท่องเที่ยวยามกลางคืนที่เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นคดีสะเทือนขวัญ เพราะกลุ่มก่อการร้ายพุ่งเป้าโจมตีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทำให้การท่องเที่ยวในหลายพื้นที่แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซบเซาลง
อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวบางรายที่ร่วมงานลอยกระทงในไทย เปิดเผยกับสื่อต่างชาติว่า สาเหตุที่ไม่ยกเลิกการเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเพราะเชื่อว่าทุกที่มีโอกาสเกิดอันตรายได้เท่าๆ กัน จึงตัดสินใจมาใช้ชีวตตามปกติดีกว่าอยู่อย่างหวาดกลัว
วันที่ 8 พ.ย. 2546 รอยเตอร์รายงานบรรยากาศการลอยโคม 'ยี่เป็ง' ที่กว๊านพะเยา จ.พะเยา โดยระบุว่าเป็นหนึ่งในประเพณีลอยกระทงของชาวไทยในจังหวัดทางภาคเหนือ ซึ่งมีทั้งการลอยโคมจากเรือที่กำลังลอยอยู่กลางทะเลสาบ และการลอยโคมจากผู้ชมงานประเพณียี่เป็งที่อยู่บนฝั่ง ส่วนกิจกรรมอื่นๆ มีตั้งแต่ ไหว้พระ ชมดอกไม้ไฟ เที่ยวงานออกร้าน และรำวง
วันที่ 7 พ.ย.2557 มีการจำหน่ายกระทงประดับด้วยธงชาติ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่นิยมกันในกลุ่มผู้ประท้วงรัฐบาลที่ออกมาเคลื่อนไหวในปี 2556 จนถึงช่วงต้นปี 2557 นำไปสู่การรัฐประหารยึดอำนาจครั้งล่าสุดของไทย แต่กระแสรณรงค์ให้ลอยกระทงด้วยวัสดุย่อยสลายได้อื่นๆ เช่น กระทงจากขนมปัง มีให้เห็นชัดเจนขึ้น และกระทงโฟมได้รับความนิยมน้อยลง
ส่วนบรรยากาศเทศกาลลอยกระทงในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ ยังดำเนินไปอย่างคึกคัก ทั้งยังมีชาวต่างชาติมาเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง
วันที่ 22 พ.ย.2561 นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ประเมินว่ากระทงที่ถูกนำมาลอยในแม่น้ำเจ้าพระยาช่วงที่ไหลผ่านกรุงเทพฯ รวมเป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลมตร มีจำนวนกว่า 840,000 กระทง รวมเป็นน้ำหนักประมาณ 1,000 ตัน ซึ่งบางส่วนอาจหลุดไปสู่อ่าวไทย
อย่างไรก็ตาม กทม.ระบุว่าจะดำเนินการเก็บขยะกระทงเช่นเดียวกับทุกปี เพื่อนำกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติและกระทงโฟมไปกำจัดอย่างถูกวิธี ส่วนผู้ลอยกระทงบางรายที่เข้าร่วมงานเมื่อปีที่แล้วยอมรับว่า ปัญหาขยะจากกระทงเป็นสิ่งที่ต้องหาทางแก้ไข เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ
ส่วนเทศกาลลอยกระทงปีนี้ ตรงกับวันที่ 11 พ.ย.2562 มีกระแสรณรงค์ 'ไม่ลอยกระทง' หรือ 'ลอยกระทงออนไลน์' เพื่อลดปัญหาขยะและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งน้ำ รวมถึงป้องกันระบบนิเวศเสียหาย
ทั้งนี้ หนังสือ 'ลอยกระทง' ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 1 เดือนตุลาคม 2557 ของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม อ้างอิงเอกสารชื่อ 'ลอยกระทง ขอขมาธรรมชาติ' ของ 'สุจิตต์ วงษ์เทศ' ระบุความเป็นมาของประเพณีลอยกระทงเอาไว้ว่า "เป็นพิธีกรรมร่วมกันของผู้คนในชุมชนทั้งสุวรรณภูมิ หรือภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ "ขอขมาต่อธรรมชาติ" แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่าลอยกระทงเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อใดกันแน่
ขณะที่ 'ตำราท้าวศรีจุฬาลักษณ์' หรือ 'นางนพมาศ' เป็นหนังสือทรงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 แห่งรัตนโกสินทร์ "โดยสมมติให้ฉากของเรื่องเกิดขึ้นในยุคพระร่วงเจ้าสุโขทัย" พร้อมบรรยายว่า "ตำราดังกล่าวได้พูดถึงนางนพมาศว่าเป็นพระสนมเอกของพระร่วงที่ได้คิดประดิษฐ์กระทงใบตองเป็นรูปดอกบัวกมุทขึ้น ด้วยเห็นว่าเป็นดอกบัวพิเศษที่บานในเวลากลางคืนเพียงปีละครั้ง สมควรทำเป็นกระทงแต่งประทีปลอยไปถวายสักการะรอยพระพุทธบาท"
อ่านเพิ่มเติม: