ไม่พบผลการค้นหา
9 ขั้นตอนเลิกเหล้าที่ ร.อ.หญิง จิภัทรา นักให้คำปรึกษา จากสายด่วนเลิกเหล้า 1413 บอกว่า “เริ่มได้ทันทีเลยค่ะ”

เสียงโทรศัพท์จาก 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ดังถี่กว่าปกติ หลังรัฐบาลออกคำสั่ง “ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 

นักดื่มหลายคนวิ่งหากักตุนสินค้าไว้เพียงพอ ทว่าบางคนกำลังหงุดหงิด มือสั่น นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย อารมณ์เสีย และถึงขั้นลงแดง ประสาทหลอนซะแล้ว 

“เหล้าทำให้เรามีความสุข แอลกอฮอล์ส่งผลต่อสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความอยากและความพึงพอใจ เมื่อมันมีความสุข บวกรวมกับสภาพแวดล้อมอื่นๆ ในวงเหล้า ทั้งเพื่อนฝูง ผู้คน เรื่องราวสนุกๆ สมองยิ่งจดจำและเสพติดเป็นวงจร อยากได้อีกซ้ำๆ” ร.อ.หญิง จิภัทรา มรรยาทอ่อน นักให้คำปรึกษา จากสายด่วนเลิกเหล้า 1413 บอกเหตุผลที่หลายคนติดแอลกอฮอล์

เบียร์.jpg

เช็กยังไงคุณติดเหล้า 

ศูนย์ปรึกษาปัญหาสุรา ระบุว่า การดื่มสุราเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคมากกว่า 200 ชนิด โดยความเสี่ยงขึ้นอยู่กับปริมาณแอลกอฮอล์ รูปแบบของการดื่ม และความเสี่ยงสัมพันธ์กับการเกิดโรค หรือปัญหาสุขภาพ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งริมฝีปากและช่องปาก มะเร็งตับ โรคตับแข็ง และวัณโรค ซึ่งค่าความเสี่ยงในการเกิดโรคจะเพิ่มขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มต่อวัน 

ร.อ.หญิง จิภัทรา บอกว่า เช็กง่ายๆ ว่าคุณติดแอลกอฮอล์หรือไม่ ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองว่า ต้องการเพิ่มปริมาณการดื่มมากขึ้นหรือเปล่า อยากหยุดแต่หยุดไม่ได้ อยากดื่มทั้งที่รู้ว่ามีผลเสียต่อร่างกาย ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือหน้าที่การงาน 

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ดื่มแล้วทำให้คุณบกพร่องต่อหน้าที่ ประสิทธิภาพในการทำงานเสีย ร่างกายเริ่มย่ำแย่ คลื่นไส้อาเจียน ตัวเหลือง ตับไตเริ่มมีปัญหา นั่นหมายความว่าการดื่มของคุณมันเป็นปัญหาแล้วแหละ” พยาบาล ประจำโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า บอก 

ศูนย์เลิกเหล้า

คุณเสี่ยงติดเหล้าแล้วหรือยัง ? เช็กในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา 

1.ดื่มหนักขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เมา มีอาการดื้อเหล้า คอแข็งมากขึ้น ดื่มมากขึ้นเพื่อให้เมาเท่าเดิม

2.มีอาการลงแดง-อาการขาดเหล้า เมื่อดื่มน้อยลง หรือหยุดดื่ม หงุดหงิด มือสั่น ปวดหัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่หลับ เห็นภาพหลอน หูแว่ว ชัก

3.ดื่มแล้วติดลม มีการดื่มปริมาณมาก หรือนานกว่าที่ตั้งใจโดยหยุดไม่ได้

4.อยากลดหรือเลิกแต่ทำไม่สำเร็จ 

5.หมกหมุ่นกับการดื่มหรือดื่มเพื่อแก้อาการเมาค้าง 

6.เสียการเสียงาน 

7.รู้ว่าไม่ดีแต่ยังดื่มอยู่ แม้ว่าจะเกิดผลเสียต่อร่างกาย และจิตใจ

หากตอบว่า 1-2 ข้อ เรียกว่าเสี่ยงปานกลาง ควรหยุดดื่มหรือลดปริมาณ

หากตอบว่ามี 3 ข้อขึ้นไป เรียกว่า เสี่ยงติดสูงหรือติดเหล้า ควรหยุดดื่มหรือบำบัดรักษา

ข้อมูลจาก 1413 สายด่วนเลิกเหล้า ย้อนหลัง 3 ปี นับเฉพาะรายใหม่ที่โทรเข้ามารับบริการ พบว่า

  • ปี 2560 มีจำนวน 1575 ราย ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน จำนวน 756 ราย
  • ปี 2561 มีจำนวน 2564 ราย ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน จำนวน 1128 ราย
  • ปี 2562 มีจำนวน 2890 ราย ช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน จำนวน 1127 ราย
  • ช่วงมาตรการงดขายสุรา ตั้งแต่ 12-23 เม.ย.63 มีผู้ขอรับบริการรายใหม่ติดต่อเข้ามารับบริการ จำนวน 179 ราย

9 ขั้นตอนการเลิกเหล้า 

ต่อไปนี้คือ 9 ขั้นตอนเลิกเหล้าที่ ร.อ.หญิง จิภัทรา บอกว่า “เริ่มได้เลยค่ะ” 

1.ตั้งเป้าหมายในชีวิตก่อน

เราอยากจะเลิกเหล้าเพื่ออะไร บางคนเพื่อตัวเอง เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของตัวเอง หรือบางคนอยากเลิกเหล้าเพื่อคนที่คุณรัก บางคนอยากมีเงินเหลือจะเอาไปทำอะไรที่เราตั้งใจเอาไว้ แต่เป้าหมายนั้นต้องชัดเจน

2.ฝึกปฏิเสธเมื่อถูกชักชวน

การดื่มเหล้าร้อยละประมาณ 70 เป็นการดื่มกับเพื่อน และเริ่มจากถูกชักชวน เพราะฉะนั้นถ้าเป้าหมายคุณชัดเจน ว่าคุณจะไม่ดื่มแน่นอน คุณจะต้องฝึกปฏิเสธให้เป็นและใจแข็งที่จะยืนยัน 

3.หากิจกรรมที่ชอบทดแทน

ลองนึกดูว่าจริงๆ แล้วเราชอบอะไรและเปลี่ยนเวลากินเหล้าเป็นกิจกรรมนั้นๆ เช่น ออกกำลังกาย ดูหนังหรือซีรีส์ เรียนภาษาใหม่ๆ เป็นต้น 

4.หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เราอยากดื่ม เช่น ร้านเหล้า ผับบาร์ วงเหล้า กระทั่งร้านโชว์ห่วยของชำ รวมถึงกำจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบ้านทิ้ง เพื่อลดความเสี่ยงที่เราจะวิ่งเข้าหามัน

5.แก้อาการอยากดื่ม เมื่อหลีกเลี่ยงแล้ว อาจมีอาการเปรี้ยวปากหรือหิวเหล้าบ้าง แนะนำให้หาเครื่องดื่มที่มีรสหวาน รสเปรี้ยว เช่น น้ำส้ม น้ำมะนาว หรือประเภทที่มีความซ่าทดแทน โดยจิบบ่อยๆ ในช่วงเวลาที่เคยดื่ม 

อีกวิธีที่แนะนำคือการปรับเปลี่ยนความคิดและเล่นกับสมอง ‘เมื่อไหร่ที่อยากเหล้า ให้กินข้าว’

“หิวเหล้าปุ๊บกินข้าวทันที สมองจะถูกรบกวนและพึงพอใจระดับหนึ่งที่ได้รับการทดแทน และมันจะลดอาการอยากไปโดยปริยาย สังเกตได้ว่าเวลาคุณอิ่มๆ เราจะไม่ค่อยอยากกินเหล้า

ศูนย์เลิกเหล้า

6.ขอกำลังใจคนที่เรารักหรือรักเรา 

การเลิกเหล้าต้องมีจิตใจที่หนักแน่น เพราะฉะนั้นถ้ากำลังใจจากตัวเองไม่เพียงพอ ให้ขอกำลังใจและแรงสนับสนุนจากบุคคลสำคัญในชีวิต

7.เริ่มลดและเลิกทันที อย่ารอเดี๋ยว 

“อย่าต่อรองกับตัวเอง ถ้าเราต่อรอง เช่น วันนี้ทำงานดึกว่ะ ขอเพิ่มอีกกระป๋องแล้วกัน มันจะคลาดเคลื่อนกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ตอนแรก แล้วมันจะเป็นข้ออ้างที่ทำให้เรากินเพิ่มขึ้นๆ ต้องห้าม ตั้งใจแล้วแค่ไหนแค่นั้น” 

ตัวอย่างคติสำคัญคือ “หยุดให้ได้ครั้งละวัน” หรือที่เรียกกันว่า one day at a time หมายถึง การตั้งเป้าแค่วันเดียวเท่านั้นและทำให้สำเร็จ 

“วันนี้ฉันไม่ดื่ม ทุกเช้าที่ตื่นมาตั้งมั่นและทำให้สำเร็จในวันนั้นก็พอ แล้วพรุ่งนี้เริ่มต้นใหม่”

8.ชื่นชมตนเอง

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณทำได้ คุณต้องให้กำลังใจตัวเอง อย่ารอให้คนรอบข้างมาให้กำลังใจคุณเท่านั้น ผู้ที่สามารถเลิกเหล้าได้สำเร็จ คือคนที่ยอมรับตัวเองและชื่นชมเมื่อตัวเองทำได้สำเร็จ 

9.คิดไม่ออกให้โทรมา 1413 สายด่วนเลิกเหล้า

สายด่วนเลิกเหล้า มีผู้ให้คำปรึกษา ประเมินความเสี่ยงและช่วยหาหนทางเอาชนะปัญหา 

“เราไม่ได้ชี้นิ้วสั่งว่าคุณต้องเลิกนะ แต่เราอยากให้คุณเข้าใจตัวเอง นั่นคือการให้คำปรึกษาของเรา และช่วยคุณวางแผนการจัดการกับชีวิตคุณ” 

เลิกเหล้าเด็ดขาดอาจเป็นเรื่องยากสำหรับใครหลายคน สร้างสันติภาพให้ชีวิตด้วยการ ค่อยๆ ลด ละ เลิก และอยู่กับมันอย่างไม่เป็นปัญหา

“ถ้ายังไม่ได้อยากเลิก ให้มีลิมิตกับตัวเองแล้วกัน กินแค่ไหน ไม่เกินเท่าไหร่ต่อวัน คือถ้าตัดมันออกจากชีวิตไม่ได้ ก็ให้มันอยู่กับชีวิตแต่น้อยที่สุด น้อยแบบไม่ทำให้เราเดือดร้อน” ร.อ.หญิง จิภัทรา กล่าวทิ้งท้าย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

วรรณโชค ไชยสะอาด
ผู้สื่อข่าวสังคม Voice Online
118Article
0Video
0Blog