ที่โรงงานผลิตยา องค์การเภสัชกรรม (อ.ภ.) อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการผลิตสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ขององค์การเภสัชกรรม ระยะที่ 1”
นพ.ปิยะสกล ระบุว่า หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการยาเสพติดให้โทษ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา ได้อนุญาตให้องค์การเภสัชกรรมทำการปลูกกัญชาทางการแพทย์ พร้อมทั้งได้ลงนามในหนังสืออนุญาต เพื่อให้องค์การฯ ได้ดำเนินการปลูกกัญชาทางแพทย์สำหรับเป็นวัตถุดิบนำมาสกัดเป็นสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ เพื่อผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) นำไปใช้ในการทดลองทางคลินิกในผู้ป่วยที่ร่วมโครงการวิจัย
วันนี้เป็นการปลูกกัญชาทางการแพทย์ที่ถูกต้องตามกฎหมายต้นแรกในอาเซียน ซึ่งเมล็ดพันธุ์กัญชาที่ใช้ปลูกครั้งนี้เป็นเมล็ดจากสายพันธุ์ลูกผสม ที่มีคุณภาพเมล็ดพันธุ์สูง ปลูกในอาคาร (Indoor) ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์ หรือ Medical Grade บนพื้นที่ 100 ตารางเมตร จำนวน 140 ต้น ซึ่งจะทำให้ได้สารสกัดต้นแบบกัญชา ที่มีคุณภาพสูง มีปริมาณและสัดส่วนของสารสำคัญที่ใช้ในการออกฤทธิ์ คือ THC และ CBD เป็นไปตามความต้องการใช้ของแพทย์ในแต่ละโรคที่จะทำการศึกษาวิจัย
"วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ เรากำลังจะมีอนาคตที่ดีมากในใช้กัญชารักษาโรค" นพ. ปิยะสกล กล่าว
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า ก่อนหน้านี้องค์การฯ ได้นำกัญชาของกลาง มาทำการสกัดเพื่อทำการวิจัยและพัฒนาในเบื้องต้น แต่เมื่อตรวจคุณภาพกัญชาของกลางพบว่ามีปริมาณสารปนเปื้อนสูงกว่ามาตรฐาน ทำให้ไม่สามารถนำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ องค์การฯ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งปลูกกัญชาสายพันธุ์ลูกผสมบนพื้นที่แห่งนี้
การปลูกกัญชาทางการแพทย์ครั้งนี้เป็นการปลูกเพื่อนำไปใช้ในการศึกษาวิจัย พัฒนา ด้านต่างๆ ทั้งด้านการศึกษาวิจัยการปลูก พัฒนาสายพันธุ์ ด้านเทคโนยีการสกัดเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ด้านการนำไปใช้ในการวิจัยทดลองทางคลินิกของคณะแพทย์ผู้วิจัยในสาขาโรคต่างๆ ซึ่งการปลูกในครั้งนี้องค์การฯ จะใช้ระยะเวลาในการปลูกประมาณ 3-4 เดือน โดยประมาณเดือนกรฎาคม 2562 จะสามารถนำมาสกัดเป็นสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยาจากกัญชาชนิดน้ำมันหยดใต้ลิ้น (Sublingual Drop) ได้ประมาณ 2,500 ขวด ขวดละ 5 มิลลิลิตร หรือประมาณ 10,000 ขวดต่อปี
4 โรคใช้เพื่อควบคุมอาการ
นายแพทย์วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวว่า องค์การฯ ดำเนินการการวิจัย พัฒนาสารสกัดต้นแบบกัญชาทางการแพทย์ ตามแนวทางของหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล ตั้งแต่ต้นน้ำคือการเพาะปลูก จนถึงปลายน้ำคือผลิตภัณฑ์ถึงมือผู้ป่วย ซึ่งผู้ผลิตกัญชาทางแพทย์ชั้นนำของโลก ใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน ประกอบไปด้วย 7 G ดังนี้ GAP : Good Agricultural Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการเพาะปลูกที่ดี GLP : Good Laboratory Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านห้องปฏิบัติการที่ดี GMP: Good Manufacturing Practice หลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาที่ดี GCP : Good Clinical Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการวิจัยทางคลินิกที่ดี GDP : Good Distribution Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านการจัดส่งยาที่ดี GSP : Good Security Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ดี GIP : Good Information Practices หลักเกณฑ์มาตรฐานการปฏิบัติข้อมูลสารสนเทศที่ดี
ผู้อำนวยการฯ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการปลูกเพื่อให้ได้กัญชาในระดับเกรดสำหรับใช้ทางการแพทย์นั้นต้องมีการควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามมาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ เทคโนโลยีการปลูก การเก็บเกี่ยวเป็นวัตถุดิบกัญชาแห้ง การรักษาความปลอดภัย ซึ่งการปลูกสามารถปลูกได้หลายวิธีแต่ต้องมีการความคุมทุกขั้นตอน ในเบื้องต้นนี้องค์การฯ ใช้การปลูกในอาคาร (Indoor) ด้วยเทคโนโลยีระบบรากลอย (Aeroponics) ซึ่งเป็นระบบหนึ่งในระบบการปลูกกัญชาเกรดมาตรฐานทางการแพทย์หรือ Medical Grade การปลูกด้วยระบบนี้จะทำให้สามารถควบคุมสารอาหารให้เป็นไปตามมาตรฐานและได้ปริมาณสารสำคัญตามสัดส่วนและปริมาณ THC และ CBD ที่เหมาะสมสำหรับมาใช้ทางการแพทย์ และที่สำคัญจะไม่มีการปนเปื้อนโลหะหนักและยาปราบศัตรูพืช ซึ่งหากปลูกกัญชาบนดินทั่วๆ ไปแล้วธรรมชาติของกัญชาจะมีคุณสมบัติพิเศษที่ดูดซึมสารพิษเหล่านั้นได้ดีกว่าพืชชนิดอื่น จึงเชื่อมั่นได้ว่าการปลูกด้วยระบบนี้จะทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้บริโภค ตลอดจนมีมาตรการควบคุมความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้มีการนำไปใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย
ผู้อำนวยการฯ กล่าวว่า ประโยชน์ของสารสกัดจากกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์นั้น THC มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท แก้ปวด ต้านอาเจียน และลดการอักเสบ CBD ระงับอาการวิตกกังวลและมีฤทธิ์ต้านการชัก โดยนำมาใช้ทางการแพทย์และการวิจัย ในกลุ่มที่ใช้เพื่อการรักษาโรค ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด โรคลมชักรักษายากในเด็กและโรคลมชักที่ดื้อต่อยารักษา ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาการปวดประสาทที่รักษาด้วยวิธีต่างๆ ไม่ได้ผล
กลุ่มที่น่าจะใช้เพื่อควบคุมอาการ ได้แก่ โรคพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ โรคปลอกประสาทอักเสบ โรควิตกกังวล ผู้ป่วยที่ดูแลแบบประคับประคอง ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย
ทั้งนี้องค์การเภสัชกรรมยังได้มีโครงการการปลูกกัญชาทางการแพทย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม (Pilot Phase) ระยะที่ 2 ใช้งบประมาณ 164.04 ล้านบาท ที่อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี บนพื้นที่ 1000 ตารางเมตร มีทั้งปลูกในอาคาร indoor และโรงเรือนปลูกพืช (greenhouse) เพื่อวิจัย และพัฒนาสายพันธุ์ ที่ให้สารสำคัญสูง และทนต่อโรคต่างๆ และสามารถปลูกในโรงเรือนปลูกพืช ที่ลดต้นทุนลงมาได้ต่อไป การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ระยะที่ 3 การผลิตสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในระดับอุตสาหกรรม (Industrial Phase) โดยเริ่มการปลูกและผลิตสารสกัดระดับอุตสาหกรรมแบบครบวงจรภายในเดือนมกราคม 2564 ที่พื้นที่อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี
ปรับทัศนคติเลิกรังเกียจผู้ใช้
ขณะที่นายบัณฑูร นิยมาภา หรือ ลุงตู้ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้กัญชาทางแพทย์ชี้ว่า รู้สึกมีความสุขที่ได้ร่วมเปลี่ยนแปลงทัศนคติเเละค่านิยมของการใช้กัญชาในเมืองไทย จากผู้ต้องหาในอดีต กัญชากำลังเป็นตัวช่วยรักษาโรคให้กับชาวไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
"เป็นเรื่องน่ายินดีที่คนป่วยเข้าถึงกัญชาได้เหมือนกับผู้ป่วยในประเทศอื่นๆ"
นายบัณฑูร ระบุด้วยว่า ในอนาคตหากไทยต้องการพัฒนาให้กัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจและสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง ต้องเปิดโอกาสให้มีการปลูกในระดับรากหญ้า
"ตอนนี้กัญชาทางการเเพทย์จบไปเเล้ว ต่อไปต้องทำให้เกิดกัญชาเสรีเหมือนในนานาอารยประเทศ อย่ารังเกียจ และมองว่าคนใช้กัญชาสร้างภาระทางสังคมหรือเป็นคนขี้ยา" นายบัณฑูรกล่าว