ไม่พบผลการค้นหา
การสอบถูกบีบอัดให้เด็ก ม.6 ต้องรับชะตากรรม ผู้มีอำนาจบอกว่าสิ่งนี้ยุติธรรมแล้ว ส่วนเด็กนักเรียน และอาจารย์สะท้อนรากเหง้าปัญหาที่มากกว่าแค่ 'การเข้ามหาวิทยาลัย'

ในวันที่เลือดเนื้อเชื้อไขกำลังจะก้าวเท้าเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย คงไม่ใช่เรื่องแปลกที่พ่อแม่จะเอื้อนเอ่ยฝากคำแนะนำ "ลองสอบนิติไว้หน่อยนะลูก สมัครรัฐศาสตร์ไว้ด้วยก็ดี ขออักษรให้แม่อีกสักอันดับ" โดยหารู้ไม่ว่า บุตรหัวแก้วหัวแหวนกำลังต้องเจอกับอะไร 

ขณะที่เมื่อกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.), กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทศ.) ประกาศไม่เลื่อนการสอบรายวิชาเพื่อคัดเด็กเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา พวกเขาทราบอย่างแจ่มแจ้งว่าอนาคตของชาติจะต้องเจออะไร 


อัดสอบชอบธรรม...
ผู้เรียนต้องเตรียมพร้อม

เรื่องราวเริ่มขึ้นท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อการเปิดภาคเรียน ปีการศึกษา 2563 ถูกเลื่อนจากกลางเดือนพฤษภาคมไปเป็นวันที่ 1 ก.ค. สภาพการเรียนการสอนจึงถูกบีบคั้นหนัก ครูต้องเร่งอัดเนื้อหาให้นักเรียนเพื่อให้เป็นไปตามตัวชี้วัดอย่างที่หลักสูตรกำหนดไว้ และผลกระทบก็ลามไปถึงการสอบระดับชาติเพื่อเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา (TCAS) เช่นเดียวกัน 

ย้อนกลับไป 30 ก.ค. 2563 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ TCAS ออกประกาศปฏิทินการรับสมัคร-การสอบที่เกี่ยวข้องทั้งหมด อาทิ GAT/PAT, O-NET และ 9 วิชาสามัญ รวมถึงการสอบวิชาเฉพาะอื่น เช่น ข้อสอบความถนัดแพทย์ โดยกำหนดให้เริ่มสอบวัดความรู้ระดับชาติอย่าง GAT/PAT ในวันที่ 20 มี.ค. 2564 

ทว่าในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2563 โควิดกลับมาระบาดระลอก 2 บางโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงต้องยุติการสอนชั่วคราว กระทบถึงชั่วโมงการเรียนที่ไม่ครบถ้วน และไม่สามารถจัดสอบปลายภาคให้มีเวลาเหลือเพียงพอที่เด็กจะเตรียมตัวสำหรับการสอบระดับชาติ 

'แพรนวล จอนบำรุง' นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ไม่ได้มีชะตากรรมต่างจากเพื่อนๆ ที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยปี 2564 พวกเขาต้องเจอมหกรรมทำข้อสอบมาราธอน ไม่ต่ำกว่า 20 วิชา ติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์ โดยแทบไม่มีเวลาหยุดพักหายใจ 

สอบ
  • 'แพรนวล จอนบำรุง' นักเรียนม.6 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย

เธอเล่าให้ 'วอยซ์' ฟังว่า บางคนสอบปลายภาคเรียนเสร็จได้เพียง 1 วัน ก็ต้องกระโจนเข้าสู่การสอบระดับชาติอย่าง GAT/PAT ต่อทันที

เท่านั้นยังไม่พอ ระหว่างทางยังมีการสอบวัดสมรรถภาพของบางมหาวิทยาลัย ก่อนจะไปสู่การสอบระดับชาติอีกประเภทอย่างการสอบ O-NET และต่อด้วย 9 วิชาสามัญ จนไปปิดท้ายที่การสอบเฉพาะทางของสายวิชาชีพ 

เมื่อความกดดันจำนวนมหาศาลมารวมกัน เด็กนักเรียนเหล่านี้จึงออกมาเรียกร้องให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเห็นใจและช่วยเลื่อนกำหนดการสอบระดับชาติออกไปราว 2 สัปดาห์เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัว หลังเสร็จสิ้นการสอบปลายภาคเรียนตามปกติในวันที่ 19 มี.ค. 

ทว่าผลการพิจารณาคำร้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกมาในวันที่ 7 มี.ค.ปฏิเสธคำขอดังกล่าว มีใจความว่า ระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาเป็นการคัดเลือก "คนที่พร้อม" 

ยิ่งเมื่อหน่วยงานประกาศไทม์ไลน์ไปแล้วเป็นเวลากว่า 7 เดือน (ประกาศวันที่ 30 ก.ค. 2563) จึงเป็นหน้าที่ของผู้สอบที่ต้องจัดสรรเวลาเตรียมตัวให้พร้อม เพราะการเปลี่ยนแปลงวันสอบตามคำร้อง อาจนำไปสู่การเปลี่ยนสนามสอบ รวมไปถึงรายละเอียดอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบกับ "ผู้ที่มีความพร้อม" คนอื่นๆ 

พร้อมปิดท้ายว่า อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการทุกฝ่ายตระหนักถึงความต้องการของผู้ร้องเรียน แต่การทำงานในระบบ TCAS เกี่ยวข้องกับหน่วยงานหลายภาคส่วนและมีนักเรียนที่เกี่ยวข้องนับแสนคน จึงต้องยึดมั่นในกติกา-เวลา ที่ประกาศไปตั้งแต่ต้น เพื่อสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 

หลังรับทราบถึงประกาศทางการฉบับนั้น 'แพรนวล' บอกกับเราว่าตัวเธอไม่คิดมาก่อนว่าผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีอำนาจตัดสินชะตาชีวิตของเด็กนักเรียนจะขาด "empathy" หรือ 'ความเข้าอกเข้าใจ' ถึงเพียงนี้ 

เธออธิบายอย่างเรียบง่ายว่า การที่เด็กนักเรียนรวมตัวเพื่อขอให้ทางการช่วยเลื่อนระยะเวลาสอบออกไปราว 2 สัปดาห์ ไม่อาจเป็นการเอื้อประโยชน์เพื่อให้เด็กที่ไม่เคยเตรียมตัวเปลี่ยนไปเป็นเด็กเก่งได้

ระยะเวลาที่วิงวอนตรงนี้ เป็นเพียงเพื่อขอให้ 'ร่างกาย' และ 'จิตใจ' ของเด็กๆ พร้อมสำหรับการสอบที่จะเป็นตัวตัดสินอนาคตของพวกเขาเพียงเท่านั้น 

สอบ 7.png

เธอย้ำว่าการสอบเป็นเรื่องของการสั่งสม ไม่มีทางที่เวลา 2 สัปดาห์จะทำให้คนเราเก่งขึ้นอย่างฉับพลัน แท้จริงแล้วสิ่งนี้คือการยื่นโอกาสให้กับเด็ก ให้เด็กรู้สึกว่า ยังมีผู้ใหญ่ที่คอยเคียงข้าง ไม่ใช่เขาต้องแบกภาระอยู่ฝ่ายเดียว

ด้าน 'ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล' คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์กับ 'วอยซ์' ว่า มหกรรมการสอบนี้ ลองนับเล่นๆ แล้วมีไม่ต่ำกว่า 20 วิชา ที่เด็กต้องอ่านหนังสือและไปต่อสู้ในสนามการแข่งขัน จึงไม่ใช่เรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสอบจะมองแต่จากฝั่งตัวเองเท่านั้น

ต้องไม่ลืมว่า ปัญหาดังกล่าวเกี่ยวพันกับชีวิตเด็กเกือบ 400,000 คน ทั้งยังต่อเนื่องไปถึงครอบครัว อีก 400,000 ครอบครัว 

สอบ.JPG
  • ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

"เรามีหน้าที่ออกแบบระบบที่เอื้อเพื่อเด็กทุกคนให้มากที่สุด แล้วมันต้องรอบคอบด้วยการฟังกัน แต่พอผู้ใหญ่ในการตัดสินใจเขาปิดประตูไม่ฟังเด็กแต่ต้น ... อะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีใครสักคนนึงรับความกดดันช่วงนี้ไม่ไหว แล้วทำร้ายตัวเองขึ้นมา" 

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงการเรียกร้องครั้งนี้จะเป็นกระแสการเคลื่อนไหวของเด็กนักเรียนในโลกออนไลน์เท่านั้น เว็บไซต์ 'นักเรียนเลว' ยังเปิดให้มีการร่วมลงชื่อเพื่อยื่นเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครอง โดย ณ วันที่ 18 มี.ค.(ปิดรับรายชื่อแล้ว) มีตัวเลขผู้ร่วมลงชื่อทั้งสิ้น 9,315 คน 

ขณะที่ ผศ.ดร.อรุณี กาสยานนท์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรค รวมถึงทนายความ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย พร้อม 'ภูมภัสส์ หิรัญวีวิชญ์' และกลุ่มนักเรียนรวม 6 คน เข้ายื่นศาลปกครองกลางแล้ว ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา

เพื่อขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉิน กรณีการออกประกาศขององค์กรด้านการศึกษาให้ยืนยันการสอบ TCAS ตามกำหนดการเดิมโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านการเตรียมความพร้อมของเด็กและการระบาดของโควิด-19  


ชีวิตเด็กใน 'เกมการศึกษา' 

เด็กหญิงวัย 18 ปี เลือกบรรยายชะตากรรมที่ตัวเธอและเพื่อนๆ ต้องเผชิญว่าเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้ตนเองรู้สึกว่า ระบบการศึกษาที่บิดเบี้ยวกำลังกัดกร่อนความฝันของตัวเธอให้กลายเป็นเพียงเรื่อง 'เพ้อเจ้อ' ที่อยู่ห่างไกลความจริง ทั้งที่ความ 'เพ้อเจ้อ' เหล่านี้อาจหมายถึง ความพยายามยกระดับฐานะครอบครัว

"คำพูดจากผู้ใหญ่ที่บอกว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องของคนที่พร้อมอยู่แล้ว เป็นคำพูดที่ฟังแล้วน่าเศร้า เราบอกว่าเราอยากได้การศึกษาที่มีความเท่าเทียม ความเหลื่อมล้ำน้อย ทุกคนเข้าถึงการศึกษาได้เหมือนกันหมด แต่ผู้ที่มีอำนาจด้านการศึกษากลับเป็นผู้ที่ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ มันทำให้เราเห็นว่าเขาเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ แต่เลือกที่จะเพิกเฉย"

"ในขณะที่คุณเป็นผู้ที่มีอำนาจทางด้านการศึกษา คุณกลับใช้ความรู้สึกว่า มือใครยาวสาวได้สาวเอา" แพรนวล ชี้

"ในสังคมที่มันมีความเหลื่อมล้ำสูงขนาดนี้ พูดกันตามตรงว่า นักเรียนส่วนใหญ่ เราคิดนะคะ ว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดี คณะที่ดี มันคือการที่เราสามารถยกระดับฐานะครอบครัวได้เลย เหมือนเราอายุแค่นี้ เราแบกรับความหวังจากคนรอบข้างมากกว่าตัวเรา มันเป็นเรื่องที่หนักหนา มันคือความกดดัน"

เธอระบายความรู้สึกต่อไปว่า ขณะที่การศึกษาเป็นรากฐานของชีวิต มีความสำคัญในการหล่อหลอมพลเมืองของประเทศ แต่เด็กทุกรุ่นกลับต้องเผชิญกับสภาพทุกข์ทรมานกับระบบการศึกษาที่ทั้งกดทับและ 'ไม่เห็นหัว' 

โควิด การศึกษา โรงเรียน นักเรียน

"ระบบการศึกษาไม่เคยเอาเด็กเป็นตัวตั้งเลย พวกเราไม่เคยรู้สึกว่าผู้ใหญ่ได้ตั้งเราเป็นศูนย์กลางในการออกแบบระบบการศึกษาเลย พอวันนี้ มันเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบาก มันยิ่งทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเรากำลังถูกทิ้งจริงๆ ผู้ใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาของเราเลย"

เมื่อกลับไปที่ประเด็นการวิงวอนขอให้เลื่อนสอบออกไป 2 สัปดาห์ 'แพรนวล' ย้ำว่า เด็กนักเรียนไม่ได้เพิ่งออกมาเรียกร้องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ร้องขอความช่วยเหลือมาตลอด แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอ้างว่า ทุกคนทราบกฎเกณฑ์ถึง 7 เดือน "เพราะฉะนั้นยุติธรรมสำหรับทุกคน ในเกมเกมนี้"


"เขาทำให้การศึกษาเป็นเกม พวกเราคือผู้เล่น ทั้งที่พวกเราเป็นตัวแปรสำคัญ ท่านบอกว่าเราเป็นอนาคตของชาติ แต่ท่านมองว่าเราเป็นแค่ผู้เล่นในเกมที่ท่านสร้าง มันคือสิ่งที่ถูกต้องแล้วเหรอคะ" 

เท่านั้นยังไม่พอ เธอแย้งหน่วยงานการศึกษาที่ระบุว่าระยะเวลา 7 เดือนเพียงพอแล้วสำหรับความยุติธรรมที่เด็กนักเรียนเหล่านี้จะหาวิธีเตรียมตัวเองให้พร้อม โดยชี้ว่า การเรียนการสอนตลอดปีการศึกษาที่ต้องอาศัย 'การเรียนออนไลน์' เป็นตัวกลาง สะท้อนให้สังคมเห็นความเหลื่อมล้ำอยู่เต็มตา 

ขณะที่บางโรงเรียนสามารถจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนสามารถสอบเสร็จได้ตั้งแต่เดือน ก.พ.บางโรงเรียนทำไม่ได้ ขณะที่บางโรงเรียนมีเด็กนักเรียนเข้าถึงการสอนออนไลน์กว่า 80% อีกหลายโรงเรียนทำไม่ได้ ยังไม่นับว่ามีเด็กที่ศึกษาอยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัดหรือพื้นที่ห่างไกลจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เร็วพอสำหรับการศึกษา

มากไปกว่านั้น กระบวนการสอบคัดเลือดเฟ้นหานักเรียนที่พร้อมต่อการเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ยังไม่เปิดพื้นที่อย่างเท่าเทียมให้กับผู้ที่มีทุนทรัพย์น้อย ทั้งในแง่ของค่าสมัครสอบไปจนถึงค่าเดินทางจากการสอบนั้นๆ

"เราไม่สามารถพูดได้ว่า วิธีที่ทำอยู่ตอนนี้มันยุติธรรม หรือถ้าท่านคิดว่ามันยุติธรรม หนูก็มองว่ามันยุติธรรมได้มากกว่านี้อีก" แพรนวล กล่าว

อรรถพล เสริมว่า หากมองอย่างเป็นธรรมอาจเข้าใจได้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามแก้ปัญหาแล้ว แต่สิ่งที่ทำน้อยไปคือ การรับฟังเด็กนักเรียน 

"เราเห็นในทวิตเตอร์ เด็กพยายามเสนอทางออก กลายเป็นเด็กมัธยมต้องมานั่งคิดให้ว่า มันเลื่อนสอบแบบไหนได้บ้าง แล้วผู้ใหญ่ก็บ่นเด็กว่าคิดแบบนี้เป็นไปไม่ได้ อ้าว ก็เด็กเขาไม่รู้เงื่อนไขของคุณ ว่า สทศ.มีเงื่อนไขในการตรวจข้อสอบกี่วัน ทปอ.ต้องกำหนดกรอบในการรับยื่นวันไหนถึงวันไหน เมื่อคุณไม่เคยเปิดประตูให้เด็กมานั่งคุยกับคุณ เขาจะนึกออกได้ยังไงว่าฝั่งผู้ใหญ่มีข้อจำกัดอะไรบ้าง เขาก็คิดบนฐานข้อจำกัดเขา แล้วคุณก็ไปหาว่าเขาเอาแต่เรียกร้อง ทำไมไม่ไปอ่านหนังสือ ซึ่งมันไม่เป็นธรรมกับเด็ก"

อาจารย์จากคณะครุศาสตร์ ชี้ว่า เหนือสิ่งอื่นใด เมื่อหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องอยู่ในฐานะผู้ใหญ่กว่า อย่างน้อยที่สุด ต้องแสดงวุฒิภาวะให้เด็กเห็นด้วยการออกมาเปิดรับการพูดคุย ไม่ใช่ลุกขึ้นมาเสียงแข็งจนทำให้เด็กกลายเป็น 'คู่กรณี' 

"ยิ่งเด็กออกมาส่งเสียงเท่าไหร่ แสดงว่าเขาอยากคุยกับคุณ ผู้ใหญ่ยิ่งต้องพยายามฟังเขา เขาตะโกนดัง คุณปิดประตูใส่เขา เขายิ่งตะโกนดังขึ้น แล้วสุดท้ายมันจะกลายเป็นความเป็นเขา-เป็นเรา แล้วเขาไม่ใช่ใคร เขาคือเด็กปี 1 รุ่นหน้าที่จะมาเรียนกับพวกเรา อาจารย์ทั้งหลายที่ออกแบบระบบ ดูแลระบบใน ทปอ.ตอนนี้ต้องอย่าลืม เขาคือลูกศิษย์เราปีนี้ที่จะเข้ามาในมหาวิทยาลัย แล้วคุณกำลังผลักเขาเป็นคู่ขัดแย้งคุณได้ยังไง"

สอบ 1.JPG
  • ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

เขากล่าวต่อว่า มันประหลาดเหลือเกินที่ทุกฝ่ายเรียกร้องให้เด็กทุกคนต้องปรับตัวเข้าหาความปกติใหม่ ขณะที่ผู้ใหญ่ไม่ปรับตัวอะไรเลย ทุกคนยึดตารางเวลาของตัวเองเหมือนเดิม คิดอะไรไว้เมื่อ 7 เดือนที่แล้วก็จะทำเหมือนเดิม จะเปิดเทอมกรอบเวลาเดิม ไม่ยอมขยับให้เด็กเห็นเลย แต่เรียกร้องให้เด็กปรับตัว เด็กต้องรับมือการเปลี่ยนแปลงเอาเอง

เมื่อมองลึกลงไปถึงประเด็น 'เกมการศึกษา' และตัวละครเบื้องหลังการจับเด็กมาเป็น 'ม้าแข่ง' เหล่านี้ อรรถพล ชี้ว่า ในมิติหนึ่ง ผู้สร้างเกมการศึกษาตกไปอยู่ในฝั่งของเหล่าผู้เกี่ยวข้องกับการสอบ 

ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คอยจัดวางว่า เด็กจะต้องเดินไปทางใด ตั้งเป้าหมายอย่างใด ราวกับเป็นมือ(บังคับ)ที่มองไม่เห็น อย่าง ครู หรือ ผู้ปกครอง ที่ยังอาจยึดติดกับแนวคิดแบบเดิมๆ จนกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้การสอบเข้าศึกษาต่อของเด็กๆ ในระยะเวลา 3-4 สัปดาห์นี้ ไม่ได้มีแต่เรื่องการสอบเข้า แต่ยังเป็นความกดดันจากความหวังของครอบครัว-สังคม ทุกฝ่ายจึงต้องกลับมาทบทวนบทบาทของตนเองด้วยเช่นกัน 

"เด็กเขากลายเป็นผู้เล่นในเกม แต่ผู้สร้างเกมคือใคร" อรรถพล ตั้งคำถาม

ทั้งหมดนี้สะท้อนสาระสำคัญว่า 'เป้าหมายการศึกษาในไทย' ผิดเพี้ยนไปทั้งองคาพยพ เมื่อคุณค่าถูกผูกอยู่กับการสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำจากค่านิยมเก่าๆ ที่สืบทอดกันมา ความกดดันจึงไปตกอยู่กับเด็กว่าต้องทำให้ได้ ต้องเข้ามหาวิทยาลัยชัั้นนำให้ได้

อีกทั้งยังเริ่มมีแนวคิดในการเอาสาขาวิชาในระดับอุดมศึกษามาเป็นเกณฑ์ออกแบบหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย อาทิ การเรียนเน้นเพื่อเข้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ หรือ แพทยศาสตร์ โดยเฉพาะ ก็ยิ่งมีความเสี่ยงอย่างใหญ่หลวงซ่อนอยู่กับแนวคิดเช่นนั้น

เนื่องจากทุกฝ่ายบีบบังคับให้เด็กต้องค้นตัวเองให้พบว่าต้องการเรียนสิ่งใดตั้งแต่ขึ้นมัธยมปลาย โดยไม่เปิดโอกาสให้เด็กได้ลองเรียนรู้หรือได้รับประสบการณ์ว่าเขาชอบสิ่งนั้นจริงหรือไม่ หรือเป็นเนื้อหาวิชาที่เขาสามารถเรียนรู้ได้อย่างเชี่ยวชาญหรือเปล่า 

เมื่อวันที่เด็กตกไปอยู่ในเกมการศึกษาที่เขาดิ้นไปไหนไม่ได้ ในมุมหนึ่งคือความกดดันจากสังคม อีกมุมคือระบบการศึกษา-การสอบ ที่คนออกข้อสอบไม่เคยไปตะลุยสอบกันเอง

หากพวกเขาตกบันไดขั้นนี้ก็อาจไม่สามารถปีนไปถึงดวงดาวได้ และวิ่งไม่ทันม้าตัวอื่นในสนามแข่ง ท้ายสุดแล้วก็เป็นเด็กเองที่ถูกปล่อยให้ทุกข์ทรมานจากความพ่ายแพ้ในเกมที่เขาไม่ได้เป็นคนเริ่มหรืออยากเข้าไปตั้งแต่ต้น 

ความทรมานของการเป็นม้าแข่งที่ถูกบีบตลอดเวลาสะท้อนออกมาจากปากของ 'แพรนวล' เช่นกัน เมื่อเธอยอมรับว่าอยากหลุดพ้นจากวงจรนี้เสียที เพราะมันมีความเจ็บปวดหลายด้านเหลือเกิน 

สอบ สอบ.JPG
  • 'แพรนวล จอนบำรุง' นักเรียนม.6 โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย

ทั้งหมดไม่ใช่แค่เรื่องของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่เป็นกลไกการแข่งขันที่ได้รับเชื้อเพลิงจากค่านิยมของคนในสังคม ที่อยากเห็นเด็กเก่ง คั้นเด็กให้เป็นหัวกะทิ โดยที่ไม่เคยลงมาสัมผัสเองว่าเด็กเหล่านี้ทุกข์ทรมานแค่ไหน 

"เราเป็นเด็กอายุ 18 ไม่คิดหรอคะว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญอยู่ มันคือการแบกรับสิ่งที่มากเกินตัวของพวกเรา พวกเราเป็นแค่เด็กคนนึง แต่ความหวังทั้งหมดมันมาทุ่มอยู่ที่เรา แล้วภาระทุกอย่างตอนนี้มันแบกอยู่บนบ่าเรา" แพรนวลทิ้งท้าย ก่อนขอตัวไปอ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบ