สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่าช่วงค่ำวันที่ 19 ส.ค.จนถึงเช้าวันที่ 20 ส.ค. 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ทยอยจับกุมผู้เข้าร่วมการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ซึ่งจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค.ที่ผ่านมา และมีการตั้งข้อกล่าวหาหลายกระทง รวมถึง 'ยุยงปลุกปั่น'
The Guardian รายงานข่าวเกี่ยวกับการเมืองไทย โดยอ้างถึง 'อานนท์ นำภา' ทนายความด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ถูกออกหมายจับเป็นคนแรกๆ ทั้งยังมีการตั้งข้อหาเพิ่ม สืบเนื่องจากการชุมนุมครั้งอื่นๆ ทำให้เขาถูกจับกุมเป็นครั้งที่ 2 ในเดือนนี้ และไม่ได้รับอนุญาตประกันตัวเมื่อคืน 19 ส.ค.ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีผู้ร่วมการชุมนุมถูกจับกุมเพิ่มอีก 4 ราย ได้แก่ บารมี ชัยรัตน์, สุวรรณา ตาลเหล็ก, กรกช แสงเย็นพันธ์ และเดชาธร บำรุงเมือง
เดอะการ์เดียนอ้างอิงความเห็นของ 'ชาลส์ ซานติอาโก' ประธานกลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) ซ่ึงเป็นเครือข่ายสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร-วุฒิสภาของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยระบุว่า การจับกุมผู้ชุมนุมเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
"การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะไม่ใช่อาชญากรรม ผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบไม่ควรต้องสูญเสียอิสรภาพของตัวเองไปเพราะเหตุนี้" ประธานกลุ่ม APHR ระบุ
ส่วน 'แบรด อดัมส์' ผู้อำนวยการ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ประจำภูมิภาคเอเชีย (HRW) ระบุว่า รัฐบาลไทยย้ำอยู่เสมอว่าจะเคารพและรับฟังผู้เห็นต่างจากรัฐ แต่การไล่จับกุมผู้ชุมนุมไม่หยุดหย่อน พิสูจน์ว่าคำพูดเหล่านั้น 'ไร้ความหมาย'
แม้แต่สื่อวิเคราะห์เศรษฐกิจ Financial Times ก็ติดตามรายงานสถานการณ์การชุมนุมและการจับกุมผู้เห็นต่างจากรัฐบาลไทยเช่นกัน โดยมีการเผยแพร่บทบรรณาธิการเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า เยาวชนไทยรุ่นใหม่ค้นพบเสียงของตัวเองแล้ว (In Thailand, a new generation finds its voice)
บทบรรณาธิการระบุด้วยว่า เยาวชนชั้นมัธยมเริ่มเคลื่อนไหวต่อจากกลุ่มนิสิตนักศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เพื่อสะท้อนความไม่พอใจต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ประเด็นหลัก คือ การยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และยุติการคุกคามประชาชนผู้เห็นต่างจากรัฐ ทั้งยังเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันหลักของไทย ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
ขณะที่ South China Morning Post (SCMP) เผยแพร่บทวิเคราะห์การเมืองไทยเมื่อวันที่ 20 ส.ค. (Thailand protests: the students are revolting – and Prayuth’s army-backed government isn’t sure what to do) โดยระบุว่า การชุมนุมของนักเรียนกำลังจะยกระดับสู่การปฏิวัติ แต่รัฐบาลที่มีกองทัพหนุนหลังไม่แน่ใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
SMCP รายงานอ้างอิง 'แมททิว วีเลอร์' นักวิเคราะห์การเมืองขององค์กรระหว่างประเทศ International Crisis Group (ICG) ประเมินว่า ถ้ารัฐบาลไม่จับกุมผู้ชุมนุม การเคลื่อนไหวต่อต้านหรือวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็จะยิ่งขยายวงกว้างใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ แต่การจับกุมผู้ชุมนุมก็เปรียบได้กับการสาดเชื้อเพลิงลงไปในกองไฟเช่นกัน
ด้าน 'รศ.ภวิดา ปานะนนท์' สาขาวิชาการบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ผลงานที่ไม่เข้าตาของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เป็นหลักฐานบ่งชี้ว่า 'รัฐประหาร' ใช้จัดการความขัดแย้งทางการเมืองไทยไม่ได้ผลอีกต่อไป
ส่วนการออกมาให้คำมั่นสัญญาเรื่องการจ้างงานและเศรษฐกิจแก่เยาวชน เป็นเรื่องที่ออกจะ 'สายเกินไป' เพราะที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวได้ แม้จะอยู่ในตำแหน่งมานานหลายปี และกลุ่มเยาวชนบางส่วนอาจมองว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้เชื่อมโยงกับข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปเชิงโครงสร้างทางการเมืองแต่อย่างใด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: