ไม่พบผลการค้นหา
ไม่มีข่าวดีจากนักวิเคราะห์ระดับโลกสักรายถึงภาวะเศรษฐกิจในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะเอเชียและกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เสี่ยงเผชิญภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ยาวนาน 5 - 10 ปี หากเหตุการณ์ควบคุมไม่ได้ภายใน มิ.ย.นี้

บทความล่าสุดจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กชี้ว่า ในช่วงตั้งแต่นี้ไปจนถึงอีก 2 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจโลกจะต้องสูญเสียเงินประมาณ 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 165 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินในมูลค่าเท่ากับที่ประเทศในกลุ่มจี 20 มองว่าเป็นงบประมาณในการพยุงเศรษฐกิจโลก และมีค่ามากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของญี่ปุ่นทั้งประเทศ 

การประเมินดังกล่าวมีขึ้นจากหลายธนาคารในตลาดหุ้นของสหรัฐฯ อาทิ เจ.พี.มอร์แกน และมอร์แกน สแตนลีย์ ที่ออกมาประกาศว่าเศรษฐกิจของโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 30 อันเนื่องมาจากมาตรการปิดกิจการและธุรกิจต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

แม้ว่าการถดถอยนี้จะถูกมองว่าเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น แต่ผลกระทบที่ตามมารวมถึงระยะเวลาในการฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องใช้เวลาประมาณหนึ่ง และแม้แต่ละประเทศจะออกมาตรการช่วยเหลือ ทั้งฝั่งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังในมูลค่ามหาศาลแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน

นักวิเคราะห์มองว่า มาตรการที่ประเทศต่างๆ ออกมา ไม่เพียงพอที่จะพาเศรษฐกิจโลกกลับไปอยู่ในจุดที่เป็นอยู่ก่อนวิกฤตครั้งนี้ ทั้งยังต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีในการฟื้นตัว ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกับเมื่อครั้งที่โลกพยายามฟื้นตัวจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ (ซับไพรม์) เมื่อ 10 กว่าปีก่อน 


ไม่มีข่าวดีจากนักวิเคราะห์

นักเศรษฐศาสตร์จากเจ.พี.มอร์แกน มองว่า 5.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (165 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 8 ของจีดีพีโลกจะหายไป ณ สิ้นปีหน้า ขณะที่มอร์แกน สแตนลีย์ ก็มองไม่เห็นหนทางที่เศรษฐกิจจะขยายตัวในแดนบวกจนกว่าจะถึงไตรมาส 3/2563 เป็นอย่างเร็วที่สุด  

ธนาคารดอยซ์แบงก์ชี้ว่า “ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเต็มไปหมดและผลกระทบที่เป็นรอยลึก” จะทำให้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ และยุโรปอย่างเดียว มีมูลค่าลดลง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 33 ล้านล้านบาท จากตัวเลขประมาณการก่อนเกิดวิกฤต 

องค์การการค้าโลก (WTO) ก็ออกมาประกาศเช่นเดียวกันว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจด้านการค้าระหว่างประเทศลดลงต่ำที่สุดนับตั้งแต่หลังยุคสงครามเป็นต้นมา 

‘แดน แฮนสัน’ นักเศรษฐศาสตร์จากบลูมเบิร์กชี้ว่า “เศรษฐกิจโลกได้หดตัวแล้ว และเสียหายรวดเร็วกว่าในช่วงต้นของวิกฤตการเงินด้วยซ้ำ” ขณะที่ ‘สตีฟ ชวอซแมน’ ซีอีโอของแบล็กสโตน กรุ๊ปชี้ว่า “มันจะเป็นเรื่องชั่วคราว แต่มันดันส่งความตึงเครียดไปยังทุกภาคส่วน” 

นอกจากนี้ ‘แอมลาน รอย’ ยังแสดงความกังวลต่อประเทศเขตเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ว่า หากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายภายในเดือน มิ.ย. ปีนี้ ประเทศเหล่านี้อาจต้องอยู่กับภาวะเศรษฐกิจถดถอยไปอีกนานหลายปี และอาจจะยาวนานถึงระดับ 5 - 10 ปี

อ้างอิง; Bloomberg, WSJ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :