ไม่พบผลการค้นหา
ภาคีกลุ่มชาติพันธุ์ แนะทางการไทยเปิดรับฟังทุกฝ่าย หลังผลักดันมรดกโลก ด้วยการเพิกเฉยปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ กรณีกลุ่มป่าแก่งกระจานได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย (คชท.) โดยมีเนื้อหาระบุว่า การขึ้นทะเบียนสมบัติของประเทศเป็นมรดกโลกนั้น ล้วนเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจของคนไทยในชาติทุกหมู่เหล่า แต่ตามที่คณะกรรมการมรดกโลก มีมติเสียงส่วนใหญ่ขึ้นทะเบียนกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มิอาจร่วมแสดงความยินดีได้เนื่องจาก 

1. กระบวนการพิจารณา ไม่ได้ยึดมั่นในหลักเกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนมรดกโลกของยูเนสโก้ (UNESCO) อย่างครบถ้วนโดยเฉพาะหลักเกณฑ์ในข้อ 123 ที่ระบุว่าการขอจัดตั้งมรดกโลกนั้นถ้าหากมีชุมชนชนเผ่าพื้นเมืองหรือชุมชนท้องถิ่นอาศัยอยู่ ต้องขอฉันทามติและการยินยอม (FPIC) ของชุมชนเหล่านั้นก่อน ซึ่งถือเป็นการละเลยและไม่คำนึงถึงสิทธิของชุมชนดั้งเดิมที่อยู่อาศัยมาก่อนการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ และขัดกับข้อตกลงในปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง ที่รัฐบาลไทยได้รับรองไปแล้ว 

2. การเพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะขององค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และผู้จัดทำรายงานพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และชะตากรรมของชุมชนกะเหรี่ยงที่กำลังประสบอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน ทั้งเรื่องการถูกบังคับอพยพ การเยียวยาที่บกพร่อง การถูกจับกุมและดำเนินคดี และการประสบสภาวะการขาดแคลนอาหารและขาดสารอาหารอันเนื่องมาจากการกระทำดังกล่าว  

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทยขอเรียกร้อง

1. ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาของพี่น้องกะเหรี่ยงในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานโดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับที่ดินทำกินอย่างจริงจังและจริงใจ โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและสอดคล้องกับวิถีการดำเนินชีวิตตามจารีตประเพณีของชาวกะเหรี่ยง โดยใช้กลไกคณะอนุกรรมการที่มีอยู่แล้ว หรือกลไกอื่นๆ ที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่า แนวทางดังกล่าวนอกจากจะเป็นความต้องการของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว ยังเป็นไปตามมติของคณะกรรมการมรดกโลกด้วย

2. ยกฟ้องการดำเนินคดีกับชาวบ้านบางกลอยในข้อหาบุกรุกและทำลายป่า เพราะสิ่งที่ชาวบ้านกระทำไปนั้นเป็นการทำมาหากินเพื่อเลี้ยงชีพตามแนววิถีปฏิบัติ ตามประเพณีในพื้นที่บรรพบุรุษของตนเท่านั้น  

3. ยุติการคุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ลงไปให้ความช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานในทุกรูปแบบ

4. รับฟังความคิดเห็นและเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่มรดกโลก ซึ่งเป็นพื้นที่บรรพบุรุษและพื้นที่จิตวิญญาณของชาวกะเหรี่ยงด้วย ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ 

เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมือง (คชท.) จะร่วมสนับสนุนและติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาของชุมชนในพื้นที่ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และให้แน่ใจว่าชุมชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการมรดกโลกได้อย่างมีความหมาย เพื่อให้พื้นที่มรดกโลกนี้ถูกประกาศบนฐานของความภาคภูมิใจของทุกๆ คน และเป็นแบบอย่างที่ดีของการจัดการพื้นที่มรดกโลก ที่แสดงให้เห็นว่า คนและธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเกื้อกูล สันติและมีความยั่งยืน