ไม่พบผลการค้นหา
ธปท.ชี้โควิดระลอกล่าสุดทำลายเศรษฐกิจมากกว่าที่ประเมินไว้ "อาจต้องใช้เงินกู้อีก 5 แสนล้านจนหมดหน้าตัก" ห่วงแรงงานภาคบริการและกลุ่มอาชีพอิสระเสี่ยงตกงานหรือรายได้ลดกระทบการเงินครัวเรือนที่แย่อยู่แล้ว

เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ติดตามและประเมินผล กระทบด้านเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เกี่ยวกับมาตรการกึ่งล็อกดาวน์ โดยดูว่าหลังจากมาตรการกึ่งล็อกดาวน์จบแล้ว รัฐบาลจะมีมาตรการอะไรออกมาอีกหรือไม่ หรือหากสถานการณ์ดีขึ้นจนสามารถประกาศผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้อย่างต่อเนื่องหรือไม่

การระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาในประเทศไทยนั้น ถือเป็นอีกความเสี่ยงสำคัญที่อาจจะทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดและการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ทำได้ช้าลง ซึ่ง ธปท.และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะติดตามและประเมินผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ ระบบการเงินอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาว่านโยบายที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่

ด้านชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า จากข้อมูลในวันที่ 22 มิ.ย. 2564 ที่ใช้ทำการประเมิน ทำให้คาดว่าประเทศไทยจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 ได้ภายในต้นไตรมาส 4/2564 โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญหลักๆ ที่ต้องจับตา คือการกลายพันธุ์ของไวรัส

รวมถึงต้องจับตามองแรงกระตุ้นทางการคลัง เนื่องจากการจัดเก็บรายได้ภาษีที่ลดลงจะมีผลต่อแรงกระตุ้นทางการคลังในระยะต่อไป และฐานะทางการเงินของภาคธุรกิจในปัจจุบันอาจจะนำไปสู่การ จ้างงาน ที่จะส่งต่อไปยังฐานะทางการเงินของครัวเรือน ซึ่งก็จะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

"จากสมมติฐานเดิม ธปท.ประเมินว่าในปีนี้รัฐบาลจะมีการเบิกจ่ายเงินกู้ตามพ.ร.ก. กู้เงินเพิ่มเติม วงเงิน 5 แสนล้านบาท จำนวน 1 แสนล้านบาท เพราะยังมีการเบิกจ่ายวงเงินกู้ตามพ.ร.ก. กู้เงิน 1 ล้านล้านบาทค้างอยู่ และจะเบิกจ่ายอีก 2 แสนล้านบาทในปีหน้า แต่จากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป รวมถึงการล็อกดาวน์ มีความเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจำเป็นต้องใช้ พ.ร.ก.กู้เงินเพิ่มเติมเต็มจำนวนที่ 5 แสนล้านบาท"

ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2564 พบว่า ภาคบริการและการลงทุนมีการปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนติด เป็นตัวสะท้อนชัดเจนว่าเศรษฐกิจเริ่มได้รับผลกระทบจากการระบาดในระลอกที่ 3 ขณะที่การส่งออกและการผลิตยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น

ตลาดแรงงานมีความเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ พบว่าแรงงานในภาคการค้ามีรายได้ลดลง และเริ่มเห็นการปลดพนักงาน ส่วนภาคบริการรายได้ปรับลดลงชัดเจน รวมทั้งลดวันทำงาน ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของครัวเรือนที่เดิมเปราะบางอยู่แล้ว