ไม่พบผลการค้นหา
นายกรัฐมนตรีรายล้อมด้วยนักการเมืองที่มือไม่ถึง และมีวาระเร้น จนทำให้การตัดสินใจในสถานการณ์วิกฤติ ดำเนินไปล่าช้าหลายก้าว ขณะที่ในด้านการสื่อสาร โฆษกรัฐบาลพร้อมด้วยทีมงานกรมประชาสัมพันธ์ที่ไปประจำยังศูนย์โควิดทำเนียบรัฐบาล ถูกตำหนิอยู่บ่อยครั้งว่าเอาไม่อยู่ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่โลกโซเชียลพร้อมตั้งคำถาม ตรวจสอบ การบริหารวิกฤติแบบละเอียดยิบ

ก่อนหน้าวันที่ 25 มีนาคม นายกรัฐมนตรีทำให้คนไทยผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำอีก การแถลงข่าวก่อนหน้านี้ ไม่เกิดผลในทางจิตวิทยา ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้อย่างที่ตั้งใจไว้

นายกรัฐมนตรีตัดสินใจล่าช้าไปหลายก้าว จนกระทั่งได้บรรดาอาจารย์หมอ ที่นำทีมโดย นพ.ปิยะสกล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในรัฐบาลประยุทธ์ 1 และบรรดาคณบดีแพทย์ จากมหาวิทยาลัยต่างๆ มาร่วมเป็นคณะที่ปรึกษา

เป็นที่มาของการประเมินซีนาริโอ ยอดผู้ติดเชื้อ-ยอดผู้เสียชีวิต อย่างจริงจัง

เป็นที่มาของการเริ่มรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” “การสร้างระยะห่างทางสังคม” ไปจนถึง “โรคติดต่อ จะไม่ติดต่อ ถ้าคนไม่ติดต่อกัน”

ทว่าการตัดสินใจล๊อกดาวน์ประเทศก็ดำเนินไปล่าช้า ไร้แผนการโดยละเอียด-โดยลำดับ เห็นได้จาก หลัง ผู้ว่า กทม. ตัดสินใจปิดเมือง ก็ปรากฏภาพผึ้งแตกรังที่หมอชิตทันที มีประชาชนทั้งไทย และต่างด้าว เดินทางกลับภูมิลำเนาต่อเนื่อง

ตามด้วยการออกหนังสือสั่งการด่วนให้มหาดไทยตั้งด่านในทุกท้องถิ่น แสกนคนเข้าหมู่บ้าน พร้อมกำชับให้ประชาชนที่กลับจาก กทม.-ประเทศเสี่ยง ต้องกักตัว 14 วัน

จำเป็นที่ คณบดีแพทย์ฯศิริราช ต้องออกมากำชับอีกรอบว่า หากรัฐบาลไม่ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหยุดการเคลื่อนย้ายของประชาชน ไทยอาจเป็นเหมือนอิตาลี!!

ตามมาซึ่งการขยับของนายกรัฐมนตรีในวันอังคารที่ผ่านมา ที่ได้ขอความเห็นชอบจาก ครม. ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินแก้วิกฤติโควิด

สถานการณ์ภายในรัฐบาล นายกรัฐมนตรีขาดความไว้วางใจต่อรัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะปฏิกิริยาที่มีต่อ รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ เห็นได้จากการสั่งย้าย อธิบดีกรมการค้าภายในแบบข้ามหัวทั้งรัฐมนตรี-ปลัดกระทรวง ชนิดไม่ได้แจ้งล่วงหน้า

เห็นได้จากการเรียก นพ.ปิยะสกล และบรรดาอาจารย์หมอ ร่วมเป็นคณะที่ปรึกษา จนปรากฏออกมาเป็นนโยบายการรับมือโรคระบาดที่เป็นรูปธรรม แทนที่จะเชื่อมั่นในการบริหารงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งรับผิดชอบโดยตรง

การแถลงของนายกรัฐมนตรีเมื่อ 25 มีนาคม แตกต่างไปจากการแถลงหลายครั้งที่ผ่านมา หน้าตาไม่ซูบผอม ถอดหน้ากากอนามัย อ่านจากบทที่เตรียมมาอย่างเคร่งครัด น้ำเสียงเข้มแข็ง มีถ้อยคำที่แสดงถึงภาวะผู้นำ เป็นก้าวขยับที่ทำให้เกิดผลในทางจิตวิทยา

1. ทำให้คนฟัง สัมผัสได้ถึงภาวะผู้นำ-ความเด็ดขาด-การจัดรูปองค์กร เพื่อรับมือวิกฤติ

“ผมจะเข้ามาบัญชาการ การจัดการกับไวรัสโควิด-19 ในทุกมิติอย่างเต็มตัว ทั้งด้านการป้องกันการระบาด การรักษาพยาบาลไปจนถึงการเยียวยาและฟื้นฟูประเทศ”

“ผมจะเป็นผู้นำในภารกิจนี้ และรายงานตรงต่อประชาชนชาวไทยทุกคน”

“บูรณาการทุกส่วนราชการ และสั่งการทุกส่วนราชการได้อย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว เนื่องจากในสถานการณ์วิกฤตเช่นนี้ จำเป็นต้องรวมศูนย์สั่งการไว้ที่เดียวเพื่อกำหนดแนวทางที่ชัดเจนและขจัดปัญหาการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ของหน่วยงานต่างๆ โดยมีผมเป็นประธาน”

2.​ กระชับอำนาจ “นักการเมือง” ต่อสายตรง “ระบบราชการ” เลือกใช้งาน “เครือข่ายหมอ-เครือข่ายมหาดไทย-ผอ. เหล่าทัพ” แก้ไขวิกฤติโควิดโดยตรง

ในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้างานผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งกำหนดให้ “ปลัดกระทรวง” อันประกอบด้วย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้ามาร่วมแก้วิกฤติโควิดในหลายเรื่อง

นัยยะอยู่ที่การกระชับอำนาจ-ต่อสายตรงอำนาจ เลือกใช้งาน “ปลัดกระทรวง” (ตำแหน่งสูงสุดในระบบราชการ) แทน “รัฐมนตรี” ซึ่งมาจากฝ่ายการเมือง

“นักการเมือง” ซึ่งการบริหารงานที่ผ่านมา เต็มไปด้วยวาระเร้น ทำให้การบริหารงานแก้ไขวิกฤติไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว

จากระบบสั่งการเป็นลำดับชั้น จึงตัดรัฐมนตรีออกไป แทนที่ด้วยการสั่งตรงจาก “นายกรัฐมนตรี” ถึง “ปลัดกระทรวง” จาก “ปลัดกระทรวง” ถึง “อธิบดี”

แม้เนติบริกรจะเบี่ยงประเด็นว่า ภายหลังการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แล้ว อำนาจของ “รัฐมนตรี” ไม่ได้หายไปไหน แต่นั่งเป็นกรรมการอยู่ใน “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19” ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 5/2563 เรื่องการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษเพื่อปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ทว่าเมื่ออ่านคำสั่งในข้อ 2 จะพบว่าอำนาจของ “รัฐมนตรี” ในการร่วมตัดสินใจถือว่า “เบาบาง”

เพราะในคำสั่งระบุชัดว่า “ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการโดยรวดเร็วและจะเรียกประชุมคณะกรรมการให้ทันท่วงทีมิได้ นายกรัฐมนตรีมีอำนาจใช้อำนาจคณะกรรมการไปพลางก่อนได้ หรือจะประชุมร่วมกับกรรมการเฉพาะบางคนในเรื่องที่อยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบกรรมการผู้นั้น..... มติของที่ประชุมถือเป็นมติคณะกรรมการ”

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อำนาจของรัฐมนตรีพาณิชย์และรัฐมนตรีสาธารณสุข ที่ “มือไม่ถึง” จึง “หมดสภาพ” ไม่อยู่ในโครงสร้างการบัญชาการวิกฤติที่แท้จริง

แต่อำนาจจะถูกหั่นไปมากขนาดไหน ให้ดูตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมเป็นต้นไป!!

3. ปรับปรุงวิธีการสื่อสารใหม่ หลังโฆษกรัฐบาล มือไม่ถึง-เอาไม่อยู่-แถลงขัดกัน

โฆษกรัฐบาล แถลงข้อมูลขัดกับ กรุงเทพมหานคร จนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่ว

จนผู้ว่าฯ ​กทม. ต้องออกมาบอกว่า ในยามวิกฤติ ขอให้ฟังข้อมูลจาก กทม. เท่านั้น!!

ปัญหาตลอดมาของการแถลงข่าวสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด คือ มีคนพูดเยอะเกินไป มีสารที่จะสื่อเยอะเกินไป จำเป็นต้องหา คนไม่กี่คน กับสารที่ชัดเจน

เป็นที่มาของการรื้อสื่อสารใหม่ เหมือนที่นายกรัฐมนตรีย้ำในการแถลงเมื่อวานนี้ว่า

“ผมจะปรับปรุงให้การสื่อสารเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 กับประชาชนให้มีความถูกต้อง ชัดเจน และครบถ้วน โดยผมได้สั่งการให้มีการแถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์และมาตรการต่างๆ รวมถึงคำแนะนำต่อประชาชนเพียงวันละหนึ่งครั้ง เพื่อลดความซ้ำซ้อน ลดการบิดเบือนข้อมูล และลดการสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน”

“ผมขอยืนยันว่าประชาชนจะได้รับข้อมูลที่เป็นทางการ ตรงไปตรงมาโปร่งใส และชัดเจน จากเพียงแหล่งเดียว เป็นประจำทุกวัน”

“ผมขอความร่วมมือให้สื่อมวลชน เพิ่มความรับผิดชอบในการรายงานข่าว ขอให้ใช้ข้อมูลจากการแถลงประจำวันของทีมสื่อสารเฉพาะกิจ และทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นหลัก แทนการขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อให้ท่านเหล่านั้น สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มที่”

4. ในการแถลงเมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวปิดท้ายได้ดี เป็นจุดเร่ิมต้นที่ดีในการเรียกความเชื่อมั่นจากพี่น้องประชาชน ต่างจากหลายหนที่ผ่านมา

“ช่วงเวลานี้ อาจเป็นช่วงเวลาที่สร้างความเจ็บปวด และท้าทายความรัก ความสามัคคีของพวกเราทุกคน

แต่ขณะเดียวกัน ช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงเวลา ที่จะดึงสิ่งที่ดีที่สุดในตัวของพวกเราคนไทยทุกคนออกมา นั่นก็คือ ความกล้าหาญ ความรัก ที่มีต่อพี่น้องร่วมชาติ ความเสียสละที่จะช่วยเหลือผู้อื่น รวมถึงความเอื้ออาทรต่อกันและกัน

ซึ่งจะนำพาให้เราก้าวผ่านช่วงเวลาที่ท้าทายนี้ไปได้ด้วยความสามัคคี ความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ความมีน้ำใจของคนไทย ซึ่งหาไม่ได้จากชาติใดในโลก”

“ ไวรัสโควิด-19 ที่น่ากลัวและอันตราย ได้สร้างความเสียหายไปทั่วโลกก็จริง แต่สิ่งหนึ่งที่ไวรัสโควิด-19 ไม่สามารถทำร้ายได้ก็คือ ความดีงามในใจและความสามัคคีของคนไทยจะกลับมาเปล่งประกายไปทั่วผืนแผ่นดินไทยอีกครั้ง”

ทว่าในการแถลงเมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีพูดถึงข้อกำหนดหรือแนวปฏิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพี่น้องประชาชน น้อยเกินไป

ผู้นำการแก้ไขวิกฤติ ต้องบอกให้ชัดด้วยว่า จะให้พี่น้องประชาชนปฏิบัติตัวอย่างไร จะป้องกันการระบาดด้วยวิธีการใด

เพราะเนติบริกร ที่ชอบการพรรณนาโวหาร เล่าเรื่องอย่างคลุมเครือ ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีนักในสถานการณ์วิกฤติ

อารมณ์ของสังคมไทยในเวลานี้ เปิดทางให้กับการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อแก้ไขวิกฤติโควิดอย่างเต็มที่ เห็นได้จากขนาดพรรคก้าวไกล ตั้งคำถามต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังเจอปรากฏการณ์แบบตายคาบ้าน

อำนาจที่ประกาศใช้ จึงต้องเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์แก้วิกฤติการระบาดของโรคให้สำเร็จ

ในระหว่างทางการบังคับใช้กฎหมาย ต้องไม่ให้อภิสิทธิ์กับหน่วยงานใดเป็นพิเศษ เช่นกรณีเดินหน้าเปิดสนามมวยของกองทัพบก แม้ได้รับคำเตือน-คำแนะนำจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ให้ยุติตามมติ ครม.-ข้อสั่งการของ นายกรัฐมนตรี แต่กองทัพก็ยังเดินหน้าต่อไป

จนเป็นที่มาของ Super Spreader ขนาดใหญ่

กรณีแบบนี้ต้องมีคำตอบ คำอธิบาย การยอมรับผิด คำขอโทษและการลงโทษ

ถ้าไม่มีทั้งหมดนี้ มีแต่คนผิดลอยนวลต่อไป จะให้ประชาชนเชื่อมั่นรัฐบาลได้อย่างไร ?

วยาส
24Article
0Video
63Blog