ไม่พบผลการค้นหา
นักคณิตศาสตร์มองคดียุบพรรคอนาคตใหม่อาจเกิดเดดล็อก เพราะการเลือกตั้งแบบนี้ไม่ได้เขียนมาให้ยุบหรือย้ายพรรค กกต.ต้องหาทางออกไม่ให้ 6.3 ล้านเสียงที่เลือก อนค. ตกน้ำ

อาจารย์ลอย ชุนพงษ์ทอง นักคณิตศาสตร์และนักดาราศาสตร์ แสดงความคิดเห็นต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญจะมีการตัดสินคดีเงินกู้ 191 ล้านบาทของพรรคอนาคตใหม่ หากมีคำตัดสินยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค ซึ่งจะเกิดคำถามต่อมาคือจะส่งผลอย่างไรต่อคะแนนเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ แม้ว่าในรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 จะระบุว่าถ้าไม่มีการทุจริตเลือกตั้ง จะไม่กระทบต่อการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ แต่นั่นหมายความว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็อื่นๆ ก็ย่อมจะไม่ได้ผลประโยชน์ด้วย กล่าวคือ ส.ส. พึงมีของพรรคอื่นๆ ก็จะมีเท่าเดิม จะมี 2 พรรคเท่านั้นที่จำนวน ส.ส. เปลี่ยนไปคือ พรรคที่ถูกยุบ และพรรคที่ ส.ส. ของอนาคตใหม่จะย้ายเข้าไปอยู่ใหม่

ทั้งนี้ อาจารย์ลอย กล่าวว่า คะแนนต้องมาก่อน ส.ส. เพราะมีคะแนนจึงทำให้เกิด ส.ส. ไม่ใช่ ส.ส. ทำให้เกิดคะแนน ดังนั้นหากยุบพรรคอนาคตใหม่ก็ตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค แล้วจะส่งผลอย่างไรต่อคะแนนเสียงของประชาชน 6.3 ล้านเสียงที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ จะโยนทิ้งน้ำก็ไม่ได้ จะให้ประชาชนที่เลือกพรรคอนาคตใหม่ลงมติใหม่ก็ไม่ได้ ตนเห็นว่าพรรคการเมืองก็เปรียบเสมือนมูลนิธิที่มีคนมาบริจาคเงิน แล้วให้กรรมการมูลนิธินั้นบริหารเงิน ดังนั้นกรรมการบริหารพรรคก็ควรจะต้องเป็นคนลงมติตัดสินว่าจะให้คะแนนไปไหน จึงจะดูต่อได้ว่า ส.ส. จะไปไหน ดังนั้นหากตนเป็น กกต. ก็จะให้กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ลงมติไว้ก่อนมีคำตัดสินของศาลว่าจะให้คะแนนไปไหน หรือกรรมการบริหารพรรคก็ควรลงมติไว้ล่วงหน้าว่าจะให้คะแนนไปอยู่ที่ไหน หรือจะให้ติดตัว ส.ส. ที่จะย้ายไปพรรคใดก็ได้ แล้วจึงนำมาคำนวณ ส.ส. พึงมีของพรรคที่ ส.ส. จะย้ายเข้าไปอยู่ใหม่นั้นได้ แต่ทั้งนี้ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ไม่ได้เขียนมาเพื่อให้มีการย้ายหรือยุบพรรค

“การเลือกตั้งแบบ proportionate representative หรือการเลือกตั้งตัวแทนตามสัดส่วนของคะแนนเสียง แบบบัตรเดียวกาครั้งเดียว ไม่ได้ออกแบบมาให้ย้ายหรือยุบพรรค เพราะคะแนนเสียงเป็นของพรรคไม่ใช่ของคน”

ลอย ชุนพงษ์ทอง-นักกฎหมาย


เตือน กกต. ระวังพรรคอื่นได้ประโยชน์ มี ส.ส. เกินจำนวนพึงมี หากมีงูเห่าย้ายพรรค

ขณะเดียวกันกรณีที่เกิดงูเห่า หรือ ส.ส. ที่ย้ายพรรคใหม่โดยไม่เป็นไปตามมติของพรรค หลังเกิดเหตุการณ์ยุบพรรคอนาคตใหม่ ส.ส. คนนั้นก็จะขนคะแนนไปไม่ได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากกรรมการบริหารพรรคก่อน ในทางกลับกัน หากจะย้ายไปอยู่พรรคใหม่ เช่น หากย้ายไปพรรคภูมิใจไทยที่มี ส.ส. พึงมี 51 คน ก็ต้องเอา ส.ส. ที่มีอยู่ออก 1 คนก่อนรับคนใหม่เข้ามา เพื่อให้ไม่เกินจำนวน ส.ส. พึงมี เนื่องจาก ส.ส. คนนั้นที่ย้ายเข้ามาไม่มีสิทธิ์ขนคะแนนมาด้วย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 94 ไม่เช่นนั้นจะถือว่าจำนวน ส.ส. เกินกว่า ส.ส. พึงมี ตามที่ได้กล่าวไว้ว่าไม่ใช่พรรคอนาคตใหม่แล้วพรรคภูมิใจไทยจะได้ประโยชน์ อาจารย์ลอยยกตัวอย่าง ส่วนกรณีของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคประชาชนปฏิรูป แม้กรรมการบริหารพรรคจะลงมติแล้วว่าคะแนนที่ได้ก็ขนไปอยู่พรรคพลังประชารัฐด้วย แต่ถ้าถามว่า ส.ส. พึงมีของพรรคพลังประชารัฐจะได้เพิ่มหรือไม่ เพราะคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคคนสุดท้ายไม่ใช่แค่ 45,000 คะแนน แต่ 71,000 กว่าคะแนนเสียง อาจจะขัดกับมาตรา 94 ดังนั้น กกต. ต้องแสดงการคำนวณให้ดูกว่าเพิ่มคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปไปแล้ว พรรคพลังประชารัฐได้ ส.ส. เพิ่มจริงหรือไม่

นอกจากนี้หากตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ จะทำให้ ส.ส. บัญชีรายชื่อที่เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย หายไป 10 คน อาจารย์ลอย เห็นว่า หากปล่อยให้จำนวน ส.ส. รวมลดลงจาก 500 คนเหลือ 490 คน จะสร้างความไม่มีเสถียรภาพ หากไม่ตัดสินยุบพรรคด้วยก็ควรให้มีการเลื่อนผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคอนาคตใหม่ขึ้น แต่หากตัดสินยุบพรรคด้วยก็ควรเลื่อนผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคใหม่ที่ย้ายไปขึ้นมาเป็น ส.ส. แทน หากกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่มีมติให้คะแนนของพรรคไปอยู่กับพรรคนั้น แต่ถ้าไม่เป็นเช่นนี้จะผิดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพราะพรรคอื่นจะได้รับประโยชน์ เพราะยอดคะแนนขั้นต่ำของ ส.ส. 1 คนจะลดลง อาจทำให้ ส.ส. พรรคอื่นๆ ได้เข้าสภาด้วย และการคำนวณจะยุ่งยากขึ้นไปอีก

ลอย ชุนพงษ์ทอง-นักกฎหมาย


กกต. ติดกระดุมเม็ดแรกผิด ทำให้การคำนวณยุ่งยาก

ทั้งนี้ อาจารย์ลอย ย้ำว่า กกต. ติดกระดุมผิดเม็ดแรกคือการนำจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทยไปคำนวณผิด จากติดลบกลายเป็น 0 จึงส่งผลต่อการคำนวณในขั้นตอนอื่นๆ ให้ผิดตามไปด้วย อีกทั้งการจัดสรรจำนวน ส.ส. พึงมีที่หากคำนวณตามขั้นตอนแรกถูกต้องก็จะมี ส.ส. เกินมาทั้งระบบ 2 คน แล้วค่อยใช้ระบบอัตราส่วนเพิ่มเกณฑ์ขั้นต่ำของคะแนน ส.ส. แต่ละคนไปเรื่อยๆ จนมีจำนวน ส.ส. ที่ผ่านเกณฑ์ พอดีก็จะได้ ส.ส. ทั้งหมด 16 พรรคเข้าสภา แต่ กกต. กลับใช้วิธีลดคะแนนพรรคละ 14% จนทำให้จำนวน ส.ส. รวมขาดแล้วค่อยปัดเศษขึ้น ทำให้มีถึง 26 พรรคที่มี ส.ส. เข้าสภา ทั้งที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส. มาตรา 131 (5) และรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 (4) ก็บอกแล้วว่าให้เป็นไปตามอัตราส่วน ดังนั้นเมื่อการคำนวณผิดเพี้ยนไปจากอัตราส่วนเยอะ และถ้าคำนวณใหม่หลังยุบพรรคอนาคตใหม่เพี้ยนไปอีกพรรคอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 35 พรรค


ระวังคะแนน 6.3 ล้านเสียงตกน้ำ ขัดเจตนารมณ์ รธน.

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ลอยเห็นว่าหากไม่มีการเตรียมการเพื่อลงมติว่าคะแนนจะย้ายไปที่ไหนก่อน และหากศาลมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ ย่อมเกิดเดดล็อก และเพื่อไม่ให้เกิดเดดล็อก กกต. ควรเอาเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญเป็นที่ตั้ง ต้องยุติธรรมกับประชาชน 6.3 ล้านคน เพื่อให้มีทางออกว่าจะทำอย่างไรกับคะแนนต่อไป ไม่อย่างนั้นอาจจะมีการฟ้องร้อง กกต. ได้ ขณะเดียวกัน กกต. เองก็ต้องอธิบายว่าที่ตัดสินแบบนี้เพราะอะไร ไม่ใช่เงียบๆ แล้วโผล่มามีแต่ตัวเลข แล้วไม่อธิบาย แต่ กกต. ต้องแสดงเจตนารมณ์อันบริสุทธิ์ของตัวเองออกมา เช่น เวลาคำนวณของพรรคประชาชนปฏิรูปกับพรรคพลังประชารัฐก็ต้องแสดงการคำนวณว่าพรรคพลังประชารัฐเมื่อมีคะแนนของพรรคประชาชนปฏิรูปเข้ามาเพิ่มแล้วมีจำนวน ส.ส. พึงมีเพิ่มจริงหรือไม่

ขณะที่อาจมีข้อโต้แย้งได้ว่า หากไม่มีการเลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อขึ้นมาแทน 10 ตำแหน่งที่ว่างลงก็ไม่ถือว่าเป็นคะแนนตกน้ำ เพราะการเลือกตั้งนั้น ก็เป็นการเลือก ส.ส. แบบเขตไปด้วยในตัว อาจารย์ลอย เห็นต่างไปว่า ส.ส. เขต เกิดจากคะแนนที่ชนะการเลือกตั้ง แต่คะแนน 6.3 ล้านเสียงของพรรคอนาคตใหม่ยังรวมไปถึงคะแนนของผู้สมัคร ส.ส. ที่สอบตกด้วย กกต. จึงต้องตอบว่าแล้วคะแนนเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน และไม่มีสิทธิ์เอาไปเฉลี่ยแจกทุกพรรค ด้วยเกณฑ์คะแนนของ ส.ส. ต่อ 1 คนลดลง

ลอย ชุนพงษ์ทอง-นักกฎหมาย


ถึงเวลาแก้ รธน. ให้ไม่คลุมเคลือ

เมื่อถามถึงความเห็นบนโลกออนไลน์ที่หลายคนแสดงความคิดเห็นว่า “ศาลไม่ควรยุบพรรคที่เกิดมาจากเสียงการเลือกตั้งของประชาชน?” อาจารย์ลอยแสดงความเห็นส่วนตัวว่า การจะยุบพรรคต้องเป็นความผิดร้ายแรงจริงๆ ต้องไม่มีการตั้งคำถามเลยว่าผิดจริงหรือไม่ เพราะหากเกิดกรณียุบพรรค กรรมการบริหารพรรคต้องร่วมกันทำความผิดร้ายแรง ซึ่งเป็นความผิดอาญา ไม่ใช่ว่ามีคนหนึ่งไปกระทำความผิดแล้วต้องยุบทั้งพรรค

สุดท้าย อาจารย์ลอย กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะบอกกับคนไทย คือ รัฐธรรมนูญและการคำนวณแบบนี้มีช่องโหว่เยอะ และควรแก้ไข โดยจะปล่อยให้ตีความกันแบบปิดรัฐธรรมนูญแล้วถือว่า กกต. และศาลรัฐธรรมนูญเป็นรัฐธรรมนูญเสียเองไม่ได้ ต้องอุดช่องโหว่ก่อน ยกเว้นถ้าไม่มีทางออกแล้วถึงจะไปรบกวนศาลให้วินิจฉัย ไม่ใช่ตีความภาษา 1 คำไม่ได้ก็ให้ศาลวินิจฉัย ขณะเดียวกันยังเสนอว่าสูตรการคำนวณ ส.ส. ควรเขียนเป็น ซูโดโคว้ท (Pseudo Code) แค่ 6 บันทัดก็จบแล้ว ไม่ต้องไปเขียนเป็นคำบรรยายเป็นหน้าๆ แล้วตีความไม่รู้จักจบ นอกจากนี้ยังต้องถามประชาชนว่าเรายังอยากได้เลือกตั้งแบบใบเดียวไหม เพราะมันไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ย้ายพรรคหรือยุบพรรค และถ้าจะมีย้ายหรือยุบพรรคต้องบอกว่าคะแนนจะไปไหน ซึ่งในกฎหมายไม่มีบอกส่วนนี้ ทั้งนี้ตนหวังว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ยืดเยื้อหรือเตะถ่วงกัน ไม่อยากให้นักการเมืองเล่นเกมการเมือง เพราะประชาชนเขาเฝ้าดูอยู่ ยิ่งยืดเยื้อก็ยิ่งเปลืองภาษีของประชาชนที่ต้องจ่ายไปทุกครั้งที่เข้าประชุมสภาและกรรมาธิการ