ไม่พบผลการค้นหา
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยประชุม 'อาร์เซ็ป' รอบดานังคืบหน้า ปิดดีลได้ 13 ข้อบท เหลือเรื่องสำคัญ 7 บท เตรียมชงรัฐมนตรีอาร์เซ็ปให้นโยบายในการประชุมที่กรุงเทพฯ 12 ต.ค. นี้ ตั้งเป้าประกาศความสำเร็จเจรจาภายในสิ้นปีนี้

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP (อาร์เซ็ป) รอบที่ 28 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 19-27 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่เมืองดานัง สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งนายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการเจรจา ว่ามีความคืบหน้าเป็นที่พอใจ ถือเป็นสัญญาณที่ดี หลังจากที่มีการเจรจามายาวนานกว่า 7 ปี โดยผู้แทนจากสมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ ได้แสดงความยืดหยุ่นมากขึ้นในหลายประเด็น และร่วมกันผลักดันการเจรจาอย่างเต็มที่ ทำให้สามารถสรุปได้แล้ว 13 บท จากทั้งหมด 20 บท 

ประกอบด้วย บทบัญญัติพื้นฐานและคำนิยามทั่วไป บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน บทพิธีการศุลกากร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า บทมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช บทมาตรฐาน กฎระเบียบทางเทคนิค และกระบวนการตรวจสอบและรับรอง บทความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ บทวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม บทการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ บทการค้าสินค้า บททรัพย์สินทางปัญญา บทบัญญัติทั่วไปและข้อยกเว้น บทการระงับข้อพิพาท และบทบัญญัติสุดท้าย รวมถึงภาคผนวกภายใต้บทการค้าบริการ คือ ภาคผนวกโทรคมนาคม ภาคผนวกการเงิน ภาคผนวกวิชาชีพ

สำหรับอีก 7 บทที่เหลือ ได้แก่ บทการเยียวยาทางการค้า บทการแข่งขัน บทการค้าบริการ บทกฎถิ่นกำเนิดสินค้า บทการเคลื่อนย้ายบุคคลธรรมดา บทการลงทุน และบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ยังติดเพียงไม่กี่ประเด็นเท่านั้น และน่าจะสามารถได้ข้อสรุปในปีนี้ โดยไทยจะเปิดบ้านเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 9 ในวันที่ 12 ต.ค. 2562 เพื่อเสนอรัฐมนตรีให้นโยบายในเรื่องที่ยังค้างอยู่ และดำเนินการตามความตั้งใจของผู้นำสมาชิกอาร์เซ็ปทั้ง 16 ประเทศ ที่จะประกาศความสำเร็จการเจรจาอาร์เซ็ปในปีนี้

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในโลกทางการค้าที่มีความตึงเครียดอยู่ในปัจจุบัน และหลายประเทศยังคงใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง อาร์เซ็ปจะเป็นเครื่องมือหนึ่งบรรเทาและลดการกีดกันทางการค้า รวมถึงสร้างความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค โดยอาร์เซ็ปถือเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ ครอบคลุมประชากรรวมกันกว่า 3,500 ล้านคน หรือประชากรกว่าครึ่งโลก มีมูลค่า การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) กว่า 27 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 810 ล้านล้านบาท) หรือร้อยละ 32 ของมูลค่าจีดีพีโลก 

โดยในปี 2561 ไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปมีมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ประมาณ 2.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 8.7 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 59.8 ของการค้ารวมทั้งหมดของไทย นอกจากนี้ ไทยมีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป กว่า 1.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.2 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 58.8 ของการส่งออกของไทยไปโลก และไทยนำเข้าสินค้าจากประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปกว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท) คิดเป็นร้อยละ 60.7 ของการนำเข้าไทยจากโลก

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถสรรหาแหล่งวัตถุดิบที่มีความหลากหลายทั้งเชิงคุณภาพและราคามากขึ้น จากเดิมที่สรรหาวัตถุดิบเพียง 10 ประเทศ ในอาเซียน ขยายเป็น 16 ประเทศ ทำให้ไทยเข้าไปอยู่ในเครือข่ายภาคการผลิต และการกระจายสินค้าของภูมิภาค รวมถึงลดความซ้ำซ้อนกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ช่วยให้ผู้ประกอบการปรับแผนการผลิต เลือกสรรหาแหล่งวัตถุดิบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถวางยุทธศาสตร์การลงทุนในประเทศที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อภาคการผลิตได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :