ไม่พบผลการค้นหา
กรรมาการจริยธรรมฯ สภาผู้แทนราษฎร ตักเตือน 'พีระวิทย์' ให้กำชับคนใกล้ชิดปมถูกร้องฐานฉ้อโกงโควตาหวย 5 แสนบาท จับตาสอบจริยธรรม 'มงคลกิตติ์' ตั้งคนไม่เหมาะสมนั่ง กมธ. ขณะที่ 'อมรัตน์-ชลน่าน' วินิจฉัยไม่ผิดข้อบังคับ

วันที่ 30 พ.ค. 2565 คณะกรรมการจริยธรรม สภาผู้แทนราษฎร โดยมี ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการจริยธรรมฯ ได้ประชุมพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการ ดังต่อไปนี้

กรรมการจริยธรรม ชวน หลีกภัย.jpgพีระวิทย์ ไทรักธรรม ประชุมสภา  C3376E035F.jpeg

ตักเตือน 'พีระวิทย์' กำชับคนใกล้ชิดปมฉ้อโกงโควตาหวย 5 แสนบาท

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรม กรณีการกล่าวหา พีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทรักธรรม ผู้ถูกร้อง หลอกลวงผู้ร้องให้หลงเชื่อว่าผู้ถูกร้องได้รับโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 2,000 เล่ม เพื่อแลกกับการไม่อภิปรายทั่วไปรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงท่านหนึ่ง ผู้ร้องหลงเชื่อส่งมอบเงิน จำนวน 500,000 บาท (ห้าแสนบาทถ้วน) ให้กับเลขานุการส่วนตัวของ พีระวิทย์ เมื่อถึงเวลาส่งมอบสลากกินแบ่งรัฐบาลตามที่ตกลงกันไว้ พีระวิทย์ ไม่สามารถนำโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาลมาส่งมอบได้ และมีพฤติกรรมบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบ ทั้งยังไม่คืนเงินมัดจำ ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายและเชื่อโดยสุจริตว่าถูกฉ้อโกง 

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำตามที่กล่าวหายังไม่มีพยานหลักฐานรับฟังได้ว่าผู้ถูกร้องฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563  ข้อ 8 ข้อ 9 ข้อ 10 และข้อ 20 แต่รับฟังได้ว่าการกระทำที่นำมาซึ่งเหตุแห่งการเรื่องเรียน เกิดขึ้นจากบุคคลใกล้ชิดกับผู้ถูกร้อง ได้นำชื่อผู้ถูกร้องไปกล่าวอ้างในการเจรจาจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาล และได้นำบุคคลภายนอกเข้ามาเจรจาเกี่ยวกับการจัดหาสลากกินแบ่งรัฐบาลในบริเวณอาคารรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่ราชการ

ในฐานะที่ พีระวิทย์ ผู้ถูกร้อง ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ย่อมมีหน้าที่ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ในการระมัดระวังการปฏิบัติงาน หรือการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลใกล้ชิด มิให้มีการกระทำใด ๆ อันเป็นที่เสื่อมเสียแก่สภาผู้แทนราษฎร สมาชิก หรือกรรมาธิการ การที่บุคคลใกล้ชิดไปกระทำการอันนำมาซึ่งการร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาและร้องเรียนจริยธรรมกับ พีระวิทย์ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายและความเสื่อมเสียต่อสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว

ที่ประชุมคณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าผู้ถูกร้องได้กระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและกรรมาธิการ พ.ศ. 2563 ข้อ 17 ได้มีมติด้วยเสียงข้างมากให้ลงโทษผู้ถูกร้องโดยการตักเตือนเป็นหนังสือ โดยให้ผู้ถูกร้องพึงระมัดระวังการปฏิบัติงานหรือปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลใกล้ชิดกับตนมิให้กระทำการใดอันนำมาซึ่งความเสื่อมเสีย

มงคลกิตติ์ FF5C8626CC72.jpeg

จับตาบทสรุป สอบ 'มงคลกิตติ์' ตั้งคนไม่เหมาะสมเป็น กมธ.

คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาเรื่องที่ มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์ กรณีเสนอชื่อบุคคลที่มีพฤติกรรม ไม่เหมาะสมและไม่ควบคุมกำกับบุคคลดังกล่าวหลังจากได้รับการแต่งตั้งในคณะกรรมาธิการ และกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก คณะกรรมการฯ ได้พิจารณาคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกร้อง และมีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาสอบหาข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียนจริยธรรมดังกล่าว 

ทั้งนี้ ก่อนที่คณะกรรมการฯ จะได้วินิจฉัยการกระทำของผู้ถูกร้องว่าเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมฯ หรือไม่นั้น ผู้ร้องหรือผู้ถูกร้องอาจทำคำแถลงการณ์เป็นหนังสือสรุปความเห็นของตนเสนอต่อคณะกรรมการก่อนการวินิจฉัยก็ได้ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งสิทธินี้ และคณะกรรมการฯ จะได้กำหนดวันประชุมเพื่อวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวต่อไป

'ปารีณา' เรื่องร้องเรียนสิ้นสุด เหตุพ้นสภาพ ส.ส.

ส่วน ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก โดยใช้ถ้อยคำที่มีการเปรียบเปรย ด้อยค่า หมิ่นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ต่อคนพิการ คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ศาลฎีกาพิพากษาว่าผู้ถูกร้องฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ผู้ถูกร้องจึงพ้นจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2564 ดังนั้น เรื่องร้องเรียนจริยธรรมจึงยุติ

กรรมการจริยธรรม.jpg

'อมรัตน์' ร่วมม็อบ-ประกันตัวผู้ชุมนุม ไม่ผิดจริยธรรม

กรณี อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม การโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก และการใช้ตำแหน่งประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การกล่าวหาผู้ถูกร้องเข้าร่วมชุมนุมหรือเข้าร่วมกิจกรรมการชุมนุม ยังมิได้บรรยายกล่าวหาโดยชัดแจ้งว่า ผู้ถูกร้องมีการกระทำที่มีส่วนร่วมในการชุมนุม หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการชุมนุมอย่างไร และการกระทำในแต่ละครั้งเป็นความผิดหรือเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมหรือมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างไร และการกล่าวหาผู้ถูกร้องในบางเหตุการณ์ ผู้ร้องได้บรรยายในลักษณะว่าผู้ถูกร้องเข้าร่วมสังเกตการณ์ ซึ่งก็มิได้อยู่ในฐานะผู้เข้าร่วมชุมนุมตามที่กล่าวหา

สำหรับกรณีกล่าวหาผู้ถูกร้องเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่ม REDEM ซึ่งเป็นการชุมนุมที่มีการกระทำผิดกฎหมาย โดยมีภาพถ่ายของผู้ถูกร้องอยู่ในสถานที่ชุมนุม ก็ไม่สมควรจะนําไปรวมว่าการอยู่ในที่ชุมนุมของผู้ถูกร้องเป็นความผิดอาญา และไม่สมควรนำไปรวมว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้จัดการชุมนุม หรือของการชุมนุมโดยรวม  

สำหรับกรณีผู้ถูกร้องได้กล่าวแสดงความคิดเห็นและโพสต์ข้อความในการแสดงความคิดเห็น การแจ้งข่าวสารต่าง ๆ เกี่ยวกับการชุมนุม หรือการประกันตัวผู้ต้องหา ก็เป็นเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่สามารถกระทำได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย การโพสต์มิได้มีลักษณะที่ใช้คำไม่สุภาพหรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลใด

ส่วนกรณีที่ผู้ถูกร้องใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหรือจำเลย เป็นการใช้สิทธิของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พึงกระทำได้ โดยไม่มีกฎหมายห้ามการใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการประกันตัวผู้ต้องหาหรือจำเลย ซึ่งจะทำให้การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

ดังนั้น เรื่องร้องเรียนดังกล่าวจึงยังไม่มีมูลที่ชัดเจนเพียงพอตามที่กล่าวหาว่าผู้ถูกร้องกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย คณะกรรมการฯ จึงไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา 

กรรมการจริยธรรม ชลน่าน ศรีแก้ว.jpg

'ชลน่าน' ฉะ 'ประยุทธ์' อภิปรายทั่วไป เป็นสิทธิตาม รธน. 

ส่วนกรณี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ใช้ถ้อยคำในการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่อาจฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม

คณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า การอภิปรายของผู้ถูกร้องเป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งผู้ถูกร้องได้อภิปรายแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามประเด็นของญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล การอภิปรายย่อมได้รับเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 124 ซึ่งผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องทางใดๆ มิได้ ซึ่งรวมถึงไม่สามารถนำมาเป็นเหตุร้องเรียนหรือดำเนินการใดๆ ในทางจริยธรรมด้วย คณะกรรมการฯ จึงไม่รับเรื่องร้องเรียนไว้พิจารณา