ไม่พบผลการค้นหา
'อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย' เผยกรณีแบงค์ล้มละลายในสหรัฐฯ ในสวิตเซอร์แลนด์ ชี้ให้เห็นว่าการบริหารนโยบายการเงินและสถาบันการเงิน จะขึ้นดอกเบี้ยแบบกระหน่ำมากๆ เร็วๆ ไม่ได้ ดีที่ว่าแบงค์ชาติไทยได้ระวังเรื่องนี้

วันที่ 18 มี.ค. 2566 ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจมหภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และอดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณี​​ธนาคาร 2 แห่งในสหรัฐฯ ถูกสั่งปิดการดำเนินงาน คือ Silicon Valley Bank (SVB) และ​ Signature Bank และยังมีแบงค์เล็กๆ​ ที่ถูกถอนเงินช่วงสัปดาห์​ที่แล้ว และวันนี้ก็มี ธนาคารเครดิตสวิส ใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งหมดมีปัญหาขาดความเชื่อมั่น (Credit confident) จึงถูกแห่ถอนเงิน (Bank run) และราคาหุ้นตกมาก ทั้งนี้สาเหตุหลัก​เกิดจากการที่ธนาคารกลางประเทศต่างๆ ขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ​เร็ว​ๆ ทำให้ภาคธนาคารและภาคธุรกิจปรับตัวไม่ทัน​ และการบริหารผิดพลาดไม่ระมัดระวังของตัวแบงค์เอง

ดร.สุชาติกล่าวอีกว่า Silicon Valley Bank มีเงินฝาก 175,400 ล้านดอลลาร์​ และ​ Signature Bank มีเงินฝาก 89,000 ล้านดอลลาร์​ รวม 264,400 ล้านดอลลาร์ ​ในขณะที่สถาบันคุ้มครองเงินฝากสหรัฐ ณ สิ้นปี 2022 มีเงิน 128,218 ล้านดอลลาร์​ และคุ้มครองเพียง​ 250,000 เหรียญฯ แรกต่อบัญชี​ ไม่เต็มวงเงิน​ จึงจะทำให้เกิดการถูกแห่ถอนเงิน แล้วแบงค์ต่างๆ อาจล้มเป็นระบบได้​

รัฐบาลสหรัฐฯ​ มีกฎหมายให้​กระทรวงการคลัง ธนาคาร​กลาง​ และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก​ออกมาตรการคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนทุกบัญชีได้​ เพื่อให้ประชาชน​หยุดแย่งกันถอนเงิน​ไม่ให้แบงค์​ล้มเป็นโดมิโน ให้แบงค์​ต่างๆ ดำเนินการ​ไปได้ รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ก็ออกมาประกาศจะอุ้มธนาคารเครดิตสวิส จะไม่ปล่อยให้ล้ม

"เราจะเห็นได้ว่า​ หากมีภาวะความเสี่ยง ที่สถาบันการเงินอาจล้มเป็นระบบ​ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก​ (ตอนนี้ประเทศไทยคุ้มครองไม่เกิน​1 ล้านบาทต่อบัญชี)​ ก็ช่วยไม่ได้​ รัฐฯ​ ต้องพิมพ์เงิน​มาคืนเงินฝากประชาชน​อยู่​ดี​แล้วไปลดส่วนของทุนแบงค์ที่มีปัญหา​ ลดส่วนเจ้าหนี้ที่ไม่ใช่ผู้ฝากเงิน​และนำทรัพย์สิน​มาขายชำระหนี้​ ส่วนที่ยังขาดทุนก็ให้กองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินฯ​รับภาระไป​ ไปเก็บเงินจากระบบแบงค์มาคืนในอนาคต​" ดร.สุชาติกล่าว

ดร.สุชาติกล่าวอีกว่า ตอนมีปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ล้มละลายในปี​ 2008 กระผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้สั่งให้สถาบันคุ้มครองเงิน​ฝาก​ไทย คุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวนทุกบัญชี​ เพื่อป้องกันไว้ก่อนไม่ให้เกิดการถูกแห่ถอนเงิน ประเทศไทยจึงไม่เกิดปัญหา Bank run ในปี 2551-52

แบงค์ SVB ​ให้กู้และรับฝาก​เงินจาก​ Hedge funds, Venture cap, Tech startup จึงมีผู้ฝากเงินรายใหญ่เกินกว่า​ 250,000 เหรียญ​จำนวนมาก​ โดยในช่วงโควิด​ ได้​นำเงินฝากไปลงทุนซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และพันธบัตรเอกชนที่มั่นคงไว้​ ได้ดอกเบี้ย​ 1.7-1.8%

แต่เนื่องจากธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Federal Reserve Bank) รีบขึ้นดอกเบี้ยสูงๆ และเร็วมาก​ ใน 1 ปีที่ผ่านมา จาก​ 0.50-75% เป็น​ 4.50-4.75% จึงทำให้ราคาพันธบัตรฯ ​ลดลงมาก​ เมื่อมีคนมาถอนเงินฝาก​ 2-3 พันล้านเหรียญฯ​ แบงค์ SVB ก็ต้องขายพันธบัตรเพื่อนำมาคืนเงินฝาก​ทำให้​ขาดทุน​ไป 1.8 พันล้านเหรียญ​ฯ

จึงมีข่าวแบงค์ SVB ​ขาดทุน​ ประชาชน​กลัวเงินฝากจะสูญ​ จึงเกิด​การแห่ถอนเงินจากนั้นก็กระจายไปแบงค์อื่นๆ​และกระจายไปทั่วโลก รัฐบาลสหรัฐ​ฯ​ จึงใช้มาตรการแรง​ โดยคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน​(ไม่ใช่แค่​ 250,000​ เหรียญฯ ต่อบัญชี)​เพื่อหยุดปัญหา​แบงค์ล้ม​เป็นระบบ

"เราจะเห็นได้ว่า​การรีบขึ้นดอกเบี้ย​มากๆ (เพื่อลดเงินเฟ้อ)​ นอกจากจะลดการจ้างงาน​และลดอัตรา​ความเจริญเติบโตของประเทศแล้ว​ยังทำให้สถาบันการเงินต่างๆ ล้มลงได้ เช่น แบงค์ SVB​ ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี​1983 เกือบ 40​ ปี​แล้ว​​ กรณี ธนาคารเครดิตสวิส ซึ่งตั้งมาแล้ว 167 ปี ก็เช่นเดียวกัน" ดร.สุชาติกล่าว

นอกจากนี้ การขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ​เร็ว​ๆ​ ยังทำให้ธุรกิจ​ต่างๆ​ ปรับตัวไม่ทัน​และล้มลงได้ เพราะต้นทุนขึ้น​ยอดขายลด​ รายได้ลด​ รัฐบาลจึงควรระมัดระวัง อย่าให้​ธนาคารกลางใช้มาตร​การ​ขึ้นดอกเบี้ยมากๆ​เร็วๆ โดยคิดไม่รอบคอบ​เพราะ "การปรับตัวใดๆ​ ต้องใช้เวลา ควรค่อยเป็นค่อยไป" 

"เมื่อปีที่แล้ว​ 2565 นักการเงินไทย​หลายคน ออกมาเรียกร้องให้แบงค์​ชาติ​ไทย​รีบขึ้นดอกเบี้ยมากๆ เร็วๆ​ ตามสหรัฐฯ หากแบงค์ชาติ​ไทยได้ทำตาม​ เราคงเห็นระบบการเงินและสถาบันการเงินไทย​​มีปัญหา​การแห่ถอนเงินฝาก และอาจล้มลงได้ ครับ "The financial sector must always be prudent" ดร.สุชาติ กล่าว