ไม่พบผลการค้นหา
'ก้าวไกล-เพื่อไทย' เห็นด้วยบนเวทีดีเบต 'ม.112-ม.116' มีปัญหา 'หมอมิ้ง' แนะฟื้นคณะกรรมการกลั่นกรอง กันการบังคับใช้-นักร้องฟ้องมั่ว 'ไอติม' ปิ๊งลดโทษเหลือแค่ 1 ปี ไม่มีขั้นต่ำ ทำให้คนอยู่แบบเป็นสากล

วันที่ 13 มี.ค. ที่โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ ถนนรางน้ำ เครือมติชนจัดเวทีดีเบต "ย้ำจุดยืน ชูจุดขาย ประกาศจุดแข็ง" ภายใต้แคมเปญ "มติชน : เลือกตั้ง 66 บทใหม่ประเทศ" โดยมีตัวแทนจาก 8 พรรคการเมือง ร่วมขึ้นเวทีประชันนโยบาย ประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ประธานพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.)

วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ประธานยุทธศาสตร์การเมือง พรรคพลังประชารัฐ 

S__10027312.jpg

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ประธานคณะกรรมการด้านนโยบายและเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และตัวแทนจากพรรค และ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย 

รูปแบบการจัดเวทีเสวนาครั้งนี้ ที่น่าสนใจไม่ใช่เพียงนโยบายของแต่ละพรรคเท่านั้น แต่ตัวแทนของแต่ละพรรคต้องตอบคำถามกันสดๆ ในรูปแบบกึ่งเกมโชว์ โดยแบ่งเป็น โดยเวทีประชันนโยบายนี้ จัดขึ้นภายใต้กฎ-กติกาที่เป็นธรรม ทั้ง 8 พรรคมีเวลาและโอกาสในการพูดเท่ากัน โดยแบ่งออกเป็น 3 รอบ ได้แก่ รอบที่ 1 "ย้ำจุดยืน" รอบที่ 2 "ชูจุดขาย" และรอบที่ 3 "ประกาศจุดแข็ง" 

โดยสำหรับไฮไลท์สำคัญที่น่าสนใจนั้น อาทิ พรรคก้าวไกล โดย พริษฐ์ วัชรสินธุ์ ผู้จัดการการสื่อสารนโยบายพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นตัวแทนช่วงแรก จับสลากได้คำถามแรกเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมาย ม.112 และ 116 โดยพริษฐ์ตอบว่า พรรคก้าวไกลยืนยันว่ามาตรา 112 และ 116 เป็นอุปสรรคต่อการแสดงออก มีปัญหาในการบังคับใช้และเนื้อหาของกฎหมาย โดยการแก้ปัญหาในแบบองพรรคก้าวไกล คือการเอาปัญหามานั่งพูดุกันอย่างตรงไปตรงมา และร่วมกันหาทางแก้ไข เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพการแสดงออก

S__10027307.jpg

ไอติม กล่าวต่อว่า พรรคก้าวไกลมองว่า มาตรา 112 มีทั้งหมด 3 ปัญหาจึงเสนอให้มีการแก้ไข 1.การบังคับใช้ แม้เนื้อหากฎหมายจะเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ แต่เราเห็นว่าการบังคับใช้หลายครั้งไม่เข้าข่าย ยกตัวอย่างหลายกรณีที่ไม่เข้าข่าย แต่ถูกดำเนินคดีและตัดสินว่าผิด จากการแชร์บทความจาก บีบีซีไทย พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้เขียนให้ชัดเจนในตัวบทกฎหมาย เพื่อคุ้มครองการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯในทางสุจริต ถ้าติชมเพื่อเป้นประโยชน์ต่อสาธารณะ สามารถกระทำได้ 

ส่วนประเด็นที่ 2 คือ ความหนักของโทษ จะเห็นว่าโทษจำคุก 3-15 ปี ของไทยสูงกว่ามาตรฐานสากล โดยพรรคก้าวไกลได้เสนอลดโทษจำคุก เหลือ 0-1 ปี สำหรับจำคุก ซึ่งถ้าดูควบคู่ไปกับการแก้โทษหมิ่นประมาทบุคคลธรรม ที่พรรคก้าวไกลเสนอแก้นั้น พบว่าจะมีโทษที่ต่ำกว่า ซึ่งมีแค่โทษปรับ 

และประเด็นสุดท้าย คือ ใครมีสิทธิ์ร้องทุกข์กล่าวโทษก็ได้ ซึ่งพรรคก้าวไกล กังวลว่าจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง หรือกรณีที่มีการทุจริต มีการนำชื่อถาบัน ไปจัดตั้งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ หวังให้คนทั่วไปหวาดกลัวต่อการตรวจสอบ ทำให้มีการเข้าใจว่าสถาบันมีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งที่สถาบันอาจจะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆเลย พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีการจำกัดเรื่องคนที่มีสิทธิร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยให้เป็นตัวแทนของผู้เสียหาย คือสำนักพระราชวัง มีสิทธิ์ร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียว ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในต่างประเทศด้วย 

S__10027302.jpg

หลังจากนั้น พริษฐ์ เลือก นพ.พรหมินทร์ ตอบคำถามเดียวกันต่อ โดย นพ.พรหมินทร์ ตอบคำถามว่า "ขอบคุณมากนะครับ ผมเดาไว้แล้วว่า พรรคก้าวไกลจะต้องส่งมาให้ผม" จากนั้น นพ.พรหมินทร์ กล่าวตอบว่า พรรคเพื่อไทยยึดมั่นและมีจุดยืนประชาธิปไตย มีบทบาทและของจริงมาตลอด ตั้งแต่ไทยรักไทย มาจนถึงเพื่อไทย ในอดีต เราเคยมีความพยายามที่จแก้ไขกฎหมาย แต่ถูกร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองฯ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพูดถึงมาตรา 112 ในส่วนตนนั้นเห็นด้วยว่าการมีกฎหมายดูแลปกปักษ์รักษาประมุขของประเทศเป็นเรื่องจำเป็น แต่เมื่อโลกหมุนไปข้างหน้า เกิดการเปลี่ยนแปลง ในสาระของกฎหมายก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัยมากยิ่งขึ้น

ซึ่งการแก้ไข ม.112 นี้ มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันสูงมาก กระบวนการแก้ไขโดยสันติวิธีต้องกลับเข้าไปในสภาฯ แล้วหารือกันว่าข้อใดจะต้องมีการแก้ไข ซึ่งตนนั้นก็เห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลในหลายประเด็นว่า ยังมีหลายจุดที่ต้องแก้ไข ซึ่งต้องถกเถียงกันเพื่อหาทางออก ประเด็นสำคัญตนเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการลดโทษ และผู้มีสิทธิ์ร้องทุกข์กล่าวโทษ

ประเด็นอีกเรื่องที่สำคัญมาก นั่นคือกระบวนการใช้กฎหมาย ผมยกัวอย่างสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย การใช้ ม.112ก็เคยเกิดขึ้นแต่มีกระบวนการและองค์กรต่างๆ ไม่ใช่แค่สำนักพระราชวังเท่านั้น แต่ยังมีคณะกรรมการจากหลายภาคส่วน มาช่วยกันกลั่นกรองพิจารณาและถกเถียงกันว่าเรื่องเหล่านี้เข้าข่ายหรือไม่ 

"ผมยกตัวอย่าง ยุครับบาลไทยรักไทย มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ในกระทรวงสาธารณสุข เคยเป้นแคนดิเดตปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยจะถูกแจ้งความดำเนินคดี ม.112 เพียงเพราะต้นเหตุเรื่องการกระทำบางอย่างที่ถูกมองว่าไม่เหมาะสมกับธนบัตรฉบับละ 500 บาท และมีคนไปแจ้งว่าผิด ม.112 แต่คณะกรรมการชุดนี้เข้ามากลั่นกรอง และลงว่าไม่ฟ้อง เหตุผลไม่เพียงพอ" นพ.พรหมิทร์เล่าตอนหนึ่ง 

S__10027299.jpg

ประธานนโยบายพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวต่ออีกว่า ดังนั้น เราเห็นด้วยว่าจะต้องมีการแก้ไข แต่เรื่องนี้มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันมาก จึงต้องเข้ากระบวนสภาฯ แล้วหารือกัน แต่เรายึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข