ทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (DPA) ชี้แจงกระแสความกังวลจากภาคประชาชนต่อกรณีธนาคารพาณิชย์อาจล้มจากภาวะหนี้เสียสูง ซ้ำรอยช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง โดยระบุว่า "มีความเป็นไปได้น้อย" ที่ธนาคารพาณิชย์ของไทยจะมีปัญหาไปจนถึงระดับดังกล่าว เนื่องจากไทยเรียนรู้และเก็บเอาบทเรียนในครั้งปี 2540 มาเป็นแนวทางในการป้องกันปัญหาตลอดช่วงที่ผ่านมา
ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ย้ำว่า องค์กรของตนเปรียบเสมือน 'นักดับเพลิง' เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะมีไฟไหมหรือไม่มี องค์กรก็พร้อมเข้ามาช่วยเหลือประชาชนเสมอ จึงอยากขอให้ประชาชนไม่ต้องตื่นตระหนกและแห่ไปถอนเงินออกจากบัญชี
ปัจจุบันหลักเกณฑ์ในการคุ้มครองเงินฝากของประชาชนอยู่ที่วงเงิน 5 ล้านบาท ครอบคลุมสถาบันการเงินทั้งหมด 35 แห่งในประเทศ
ภายใต้เงื่อนไขว่าเงินฝากดังกล่าวนอกจากจะต้องอยู่ในรูปสกุลเงินบาท ยังต้องเป็น 1 ใน 5 ประเภทเงินฝากต่อไปนี้ ได้แก่ 1. เงินฝากกระแสรายวัน 2. เงินฝากออมทรัพย์ 3. เงินฝากประจำ 4. บัตรเงินฝาก และ 5. ใบรับเงินฝาก
ตามกฎหมายปัจจุบัน ประชาชนที่มีเงินฝากตรงตามเงื่อนไขข้างต้น จะได้รับการคุ้มครองในกรณีที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต ภายในระยะเวลา 30 วัน ซึ่ง ทรงพล ย้ำว่า จากกรณีเงินช่วยเหลือในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา องค์กรรับทราบดีถึงความจำเป็นในการใช้เงินยามวิกฤตของประชาชน และมีการซักซ้อมระบบโอนเงินคืนให้ประชาชนในกรณีธนาคารพาณิชย์ล้มลง ซึ่งศักยภาพในปัจจุบันสามารถโอนเงินคืนให้ประชาชนได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น
ผอ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก ชี้ว่า นับตั้งแต่ DPA ก่อตั้งขึ้นมาในปี 2551 จนถึงปัจจุบัน องค์กรมีเงินสะสมจากเงินนำส่งของสถาบันการเงินทั้งสิ้น 129,969.13 ล้านบาท โดยที่ผ่านมา องค์กรได้บริหารจัดการเงินดังกล่าว ด้วยการนำไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำผ่านพันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก และได้ผลตอบแทนอยู่ที่ราว 2% ต่อปี
ตามข้อมูล ณ สิ้นเดือน มิ.ย. ปัจจุบัน 98% ของการฝากเงินเป็นบัญชีของผู้ฝากรายย่อยที่มีเงินฝากไม่เกิน 1 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ DPA สามารถคุ้มครองเงินฝากได้ถึง 80.51 ล้านราย ด้วยวงเงินสูงสุด 5 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 99.63% ของผู้ฝากทั้งระบบ
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ฝากเงินมากกว่า 5 ล้านบาทขึ้นไป DPA จะคุ้มครองในวงเงิน 5 ล้านบาทก่อน และจะช่วยดำเนินการเข้าไปดูแลสถาบันการเงินที่ล้มลงไป ด้วยการขายทรัพย์สินต่างๆ เพื่อมาใช้คืนในที่สุด โดยใช้ระยะเวลาเฉลี่ยราว 5 ปี และไม่เกิน 10 ปี
ยอดเงินฝาก 6 เดือนแรกของปีนี้ มีจำนวนรวมทั้งสิน 80.82 ล้านบาท โดยมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาถึง 6.18% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งทรงพล ชี้ว่าเป็นเพราะในช่วงดังกล่าวมีความไม่แน่นอนของสถานการณ์โควิด-19 และประชาชนต้องการโยกเงินจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงเข้ามายังบัญชีเงินฝากที่มีความเสี่ยงต่ำ
อย่างไรก็ตาม ทรงพล แนะนำว่า ประชาชนควรจัดน้ำหนักการฝากสินทรัพย์ของตนเองไว้หลายส่วน ทั้งบัญชีออมทรัพย์, บัญชีฝากประจำ, พันธบัตรรัฐบาล, ทองคำ หรือหุ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงและเพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เนื่องจากการฝากเงินทิ้งไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ทั่วไปให้ผลตอบแทนน้อยมาก
ทรงพลชี้ว่า หากแบ่งการจัดการเงินออกเป็น 5 กอง ได้แก่ บัญชีออมทรัพย์, บัญชีฝากประจำ, พันธบัตรรัฐบาล, ทองคำ หรือหุ้น ด้วยผลตอบแทบต่อปีที่สัดส่วน 0.72%, 1.88%, 2.41%, 2.31% และ 10.01% ตามลำดับ
กรณีที่ประชาชนแบ่งเป็นเข้าบัญชีออมทรัพย์และทองคำ 10% และไปลงทุนในบัญชีฝากประจำ 1 ปี และพันธบัตรรัฐบาล 3 ปี ในสัดส่วน 25% เท่าๆ กัน พร้อมกับไปลงในหุ้นอีก 30% เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี ผลตอบแทนที่ได้จะสูงถึง 53.52% ขณะที่ถ้าประชาชนนำเงินทั้งหมดฝากไว้ที่บัญชีออมทรัพย์ ในระยะ 10 ปีต่อจากนี้ จะมีผลตอบแทนเพียง 7.44% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ทรงพล ย้ำว่า เหนือสิ่งอื่นใด ในช่วงวิกฤตที่มีความไม่แน่นอนสูง ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ายังมีสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่จะคอยช่วยเหลือประชาชนในยามที่เกิดวิกฤตธนาคารพาณิชย์ขึ้นมาจริงๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;