นพ.เอกภพ เพียรวิเศษ ส.ส. พรรคก้าวไกล ในฐานะกรรมาธิการการสาธารณสุข เปิดเผยถึงผลการประชุมของคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเรื่องปัญหาการควบคุมการบริโภคยาสูบ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ได้เชิญผู้แทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด มาร่วมพิจารณาข้อกฏหมายในประเด็น “ผู้มีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครองเพื่อสูบ ถือว่าผิดกฎหมายหรือไม่”
นพ.เอกภพ ระบุว่า สาเหตุที่มีการพูดคุยกันในประเด็นนี้ เนื่องจากช่วงที่ผ่านมีการประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่กลับพบว่ายังคงมีบุหรี่ไฟฟ้าขาย และใช้กันทั่วไป โดยไม่สามารถควบคุมการเข้าถึงของเยาวชน และไม่สามารถควบคุมคุณภาพของบุหรี่ไฟฟ้าได้ อีกทั้งยังมีข่าวการดำเนินการจับกุม เรียกค่าปรับจากผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นช่องทางในการเรียกรับสินบนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในการประชุมของคณะอนุฯ ได้มีการพิจารณาข้อกฎหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักอ้างใช้เวลาดำเนินการจับกุมผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อสูบ คือ พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 มาตรา 246 ซึ่งบัญญัติว่า
“ผู้ใดช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้โดย ประการใดซึ่งของอันตนพึงรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามมาตร 242 ต้องระวางโทษจาคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับ เป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วหรือทั้งจำทั้งปรับ”
ขณะที่มาตรา 242 ที่มีการอ้างถึงในมาตรา 246 นั้นเป็นการบัญญัติถึงการนำเข้าส่งออกของที่ยังไม่ได้ผ่านพิธีศุลกากร หรือเคลื่อนย้ายของโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานศุลกากร
ที่ประชุมได้ตีความร่วมกันและ เห็นว่า ของที่จะเข้าข่ายความผิดในมาตรา 246 นั้น จะต้องเป็นของซึ่งเป็นสินค้าที่สามารถคิดภาษีศุลกากรได้ แต่สถานะของบุหรี่ไฟฟ้าจัดเป็นสินค้าที่ถูกแบน โดยประกาศห้ามนำเข้า ฉะนั้นจึงไม่สามารถใช้มาตรานี้ในการดำเนินคดีได้
ทั้งนี้ นพ.เอกภพ ระบุว่า การจับกุมดำเนินคดีในช่วงที่ผ่านมา มักมีการอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นของต้องห้ามตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ พ.ศ. 2559 ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 แตกต่างจากกฎหมายฉบับเก่า โดยมีการตัดคำว่า ‘ของต้องห้าม’ ออกจากมาตรา 246 คำถามที่เกิดขึ้นคือ การตีความกฎหมายจะสามารถตีความแบบกว้างเพื่อให้ครอบคลุมไปถึงของต้องห้ามได้หรือไม่ เมื่อไปดูคำนิยามใน พ.ร.บ.ศุลกากร 2560 พบว่ามีการนิยามความหมาย ‘ของต้องห้าม’ ไว้ว่า ของที่มีกฏหมายกำหนดห้ามมิให้นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนำผ่านราชอาณาจักร
ซึ่งนั่นหมายความว่า ตอนเขียนกฏหมายผ่านสภาตั้งใจจะไม่ใส่คำนี้ไว้ในมาตรานี้ ดังนั้น การมีของต้องห้าม ในครอบครองจึงไม่ผิดตามมาตรา 246 และ 242 ของ พรบ.ศุลกากร 2560
นพ.เอกภพ ย้ำชัดว่า ที่ประชุมและตัวแทนหน่วยงานได้พิจารณากฏหมายร่วมกันมีความเห็นตรงกันว่า จะจับกุมดำเนินคดีกับผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่ใช่ผู้ขายไม่ได้ โดยขั้นตอนต่อไปทางกรรมาธิการจะส่งข้อมูลไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หน่วยงานมีความเห็นอีกครั้ง แล้วถ้าเห็นด้วยก็จะมีการส่งหนังสือเวียนให้รับทราบทั่วกัน และถ้ายังมีการจับกุมดำเนินคดีอีกก็น่าจะเข้าข่าย แจ้งข้อกล่าวหาและดำเนินคดีโดยมิชอบได้
นอกจากนี้ นพ.เอกภพ ยังให้ความเห็นเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ด้วยว่า ในปัจจุบันแม้จะมีการประกาศแบนบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ แต่ในทางปฏิบัติจริงก็ไม่สามารถทำได้จริง เพราะยังเห็นมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันทั่วไป ซึ่งเรื่องนี้ทางคณะกรรมการควบคุมยาสูบอาจจะบอกว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แต่เมื่อมาดูข้อกฎหมายแล้วก็ไม่ได้ให้อำนาจกับตำรวจ หรือศุลกากรในการเข้าจับกุมผู้สูบ นั่นหมายความว่าการแบบนี้คือการ แบนทิพย์ หรือการแบนที่ไม่มีอยู่จริง
ทั้งนี้ทางคณะอนุกรรมาธิการฯ ยังได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในแวดวงวิชาการทางการแพทย์เข้ามาให้ข้อมูลด้วย โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีการเชิญนักวิชาการจากประเทศอังกฤษมาให้ข้อมูล ได้ข้อสรุปที่สังเคราะห์มาจากงานวิชาการทั่วโลกที่น่าสนใจ 2 ประเด็นคือ 1.บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวนเป็นอย่างยิ่ง ชนิดที่เทียบกันไม่ติด 2.มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่มวนได้
“สองข้อที่เขาสรุปมานี้เป็นข้อสำคัญที่คนในแวดวงวิชาการในประเทศไทย โดยเฉพาะศูนย์วิจัยยาสูบ ซึ่งได้งบประมาณจาก สสส. เลือกที่จะไม่ใช้ข้อมูลตรงนี้ แต่ในวันที่เราได้เชิญนักวิชาการต่างชาติมา เราก็ได้เชิญตัวแทนศูนย์วิจัยยาสูบมาด้วย ซึ่งในที่ประชุมทางตัวแทนก็ไม่ได้โต้แย้งในทางวิชาการ นั่นแปลว่าคุณก็ยอมรับหรือไม่” นพ.เอกภพ กล่าว
นพ.เอกภพ กล่าวต่อไปว่า หากเรายอมรับในทางหลักวิชาการ และย้อนกลับมาดูกฎหมายของประเทศเวลานี้แม้จะมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างทั่วไป แต่ยังไม่มีการออกกฎหมายมาควบคุมจัดการ สถานะการณ์เช่นนี้จะยิ่งทำให้ผู้บริโภคเสียผลประโยชน์ แต่ถ้ามีการนำบุหรี่ขึ้นมาบนดิน ทำให้ถูกกฎหมายเหมือนบุหรี่มวน ก็จะทำให้ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครอง เพราะจะมีขั้นตอนของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ มีการรับรองมาตรา และสามารถควบคุมการซื้อขายในกลุ่มเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปี รวมทั้งกำหนดโทษสำหรับการซื้อขายโฆษณาออนไลน์ได้ ซึ่งภายในเดือน ก.ย. คาดว่าทางคณะอนุฯ จะมีการสรุปผลการศึกษา เพื่อส่งให้ กมธ.การสาธารณสุขรับไปพิจารณาต่อ
มากไปกว่านั้น นพ.เอกภพ ยังเปิดเผยการศึกษาของคณะอนุฯ ด้วยว่า ได้เจอข้อมูลความเชื่อมโยงที่น่าสงสัยว่าจะเป็นการทุจริตในวงการต่อต้านยาสูบ และการรณรงค์เลิกบุหรี่ไฟฟ้าด้วย โดยมีความเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทับซ้อนในการใช้งบประมาณของ สสส. ซึ่งพบว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการร่าง พ.ร.บ.ยาสูบ 2560 โดยนั่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในของคณะกรรมการควบคุมยาสูบ และยังมีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายควบคุมยาสูบ ซึ่งการทำงานของ สสส. นั้นก็เป็นการทำงานตามนโบายของคณะกรรมการควบคุมยาสูบ
แต่เมื่อมีการไปสืบค้นดูข้อมูลของผู้รับทุน สสส. ที่ทำงานรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า รายใหญ่ รายหนึ่งคือมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พบว่ามีชื่อของบุคคลซึ่งมีรายชื่อเป็นผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการควบคุมยาสูบ เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธินี้ด้วย จึงทำให้เกิดข้อสงสัยว่า นี่คือการทุจริตรูปแบบหนึ่งหรือไม่ เพราะมีลักษณะที่เรียกได้ว่า “ชงเองกินเอง” โดยในประเด็นนี้จะมีการยื่นเรื่องให้กับ กมธ.การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ ที่มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส เป็นประธาน เพื่อดำเนินการตรวจสอบต่อไป