ไม่พบผลการค้นหา
พบโรคเนื้อเน่าและหนังเน่า หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคนระบาดช่วงหน้าฝน ที่ รพ.น่าน เฉพาะเดือน ก.ค. มีป่วยรักษาแล้ว 25 ราย อาการรุนแรงเข้าไอซียู 1 ราย แพทย์เตือนผู้ที่ทำนา ถ้ามีแผลตามร่างกายให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน

นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่าน เปิดเผยว่า ได้ตรวจอาการผู้ป่วย โรคเนื้อเน่า และหนังเน่า (Necrotizing Fasciitis) หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคนที่กำลังระบาดในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด โดยขณะนี้มีผู้ป่วยจากพื้นที่ต่างๆ เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลน่าน ด้วยอาการเป็นไข้ เท้าบวมแดง มีแผลตุ่มพุพอง ลุกลามเป็นบริเวณกว้าง จำนวน 25 ราย และมีอาการรุนแรง ติดเชื้อ เข้ารับการรักษาในไอซียู 1 ราย

ทั้งนี้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ จะมีประวัติไปดำนา ลุยโคลน และโดนหอย หรือเศษแก้วบาด เศษไม้ตำเท้า และไม่ได้ทำแผล หรือรักษาใด ๆ เนื่องจากต้องทำนาให้เสร็จ ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในบาดแผล และเพิ่มจำนวนจนเกิดอาการรุนแรงได้

แพทย์.jpg

รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลน่านระบุด้วยว่า ส่วนใหญ่โรคนี้จะระบาดในฤดูฝน ในช่วงที่เกษตรกรลงดำนา ลุยโคลน โดยโรคเนื้อเน่าส่วนใหญ่ อาการจะมีผิวหนังบวมแดง ร้อน ถ้าเชื้อลงลึกกินทั้งชั้นผิวหนังจะพบตุ่มพุพอง และค่อยๆ เปลี่ยนสีเป็นสีม่วง และถ้าเนื้อตายจะกลายเป็นสีดำ บางรายอาจจะต้องตัดขา หรืออาจจะมีการติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ไข้สูง และทำให้เสียชีวิต 

การรักษานั้น แพทย์จำเป็นต้องตัดเนื้อตายออกให้หมด และให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อ ถ้าเชื้อยังไม่ลุกลามเข้ากระแสเลือด ผลลัพธ์ของการรักษาจะค่อนข้างดี 

สำหรับผู้ป่วยบางรายที่ไม่ได้ลงนา หรือไม่มีบาดแผลก็อาจติดเชื้อดังกล่าวได้ โดยการเกา หรือมีบาดแผลถลอกเล็กน้อย เชื้อสเตรปโตคอคคัส หรือสแตปฟิโลคอคคัส ที่อยู่บริเวณผิวหนังอาจจะเข้าไปในแผลแล้วเกิดการติดเชื้อ ถ้าผู้ใดมีผิวหนังบวมแดงอย่างรวดเร็ว แล้วมีตุ่มพุพองที่ผิวหนัง แนะนำให้รีบมาตรวจรักษาก่อนที่อาการจะลุกลามจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

ด้วยเหตุนี้จึงขอเตือนให้ผู้ที่ทำนา ถ้ามีแผลตามร่างกาย ขอให้รีบขึ้นจากโคลน รีบล้างแผลโดยให้น้ำสะอาดไหลผ่าน ซับด้วยผ้าสะอาด และปิดแผล ถ้ามียาฆ่าเชื้อโพวิโดนไอโอดีนสามารถใช้ทาแผลได้ แล้วรีบมาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือโรงพยาบาลใกล้บ้านเพื่อให้ตรวจรักษาต่อไป

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรณีพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าใน จ. น่าน รวม 26 ราย ต้องเข้า ไอ.ซี.ยู 3 ราย และเสียชีวิตแล้ว 1 รายจากโรคเนื้อเน่า หรือ Necrotizing Fasciitis นั้น มักเกิดกับกลุ่มเกษตรกร ชาวนาชาวไร่ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ประเทศไทยพบผู้ป่วยโรคเนื้อเน่าประมาณ 100-200 รายต่อปี และพบมาสุดช่วยฤดูฝน พบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เป็นมากที่สุดบริเวณขา รองลงมาบริเวณเท่า ส่วนผู้ป่วยเนื้อเน่าทั้งประเทศมีกี่รายอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจน โดยได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ที่ 1 จ.เชียงใหม่ ลงไปสอบสวนโรคถึงสาเหตุของโรคที่จ.น่าน