ไม่พบผลการค้นหา
"ศรีสุวรรณ" โวย กกพ.ปล่อยให้มีไฟฟ้าล้นประเทศ ฉกเงินจากกระเป๋าผู้ใช้ไฟฟ้าเดือนละกว่า 2 แสนล้าน ขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิก เลื่อนหรือชะลอการสร้างหรือซื้อไฟฟ้าไปก่อน

วันที่ 27 พ.ค. 2563 ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน โดยเปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้ศึกษาต้นเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ผู้ใช้ไฟฟ้าแต่ละครัวเรือนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าแพงในแต่ละเดือน หรือทุกรอบบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้านั้น มีต้นเหตุหลักมาจากการคำนวนและการกำหนดการใช้ไฟฟ้าที่ผิดพลาดของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งเรียกว่าแผนการใช้ไฟฟ้า (PDP 2015 และ PDP 2018) โดยมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นกลไกเครื่องมือนั่นเอง       

ทั้งนี้ ปัจจุบันการใช้ไฟฟ้าของคนไทยทั้งประเทศมีประมาณ 28,636 เมกะวัตต์/วันเท่านั้น แต่กลับปล่อยให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ๆ ขึ้นมาตลอดเวลาโดยเฉพาะโรงไฟฟ้าของเอกชนและซื้อไฟฟ้ามาจากต่างประเทศสะสมมากถึง 45,595 เมกะวัตต์ (ไม่รวมโรงไฟฟ้าที่ผู้ประกอบการผลิตเอง ใช้เอง และไฟฟ้าบนหลังคาเรือนของชาวบ้าน รวมทั้งหมดอาจมีมากกว่า 55,000 เมกะวัตต์) โดยที่เป็นสัดส่วนที่ กฟผ. ผลิตได้เพียง 15,424 เมกะวัตต์ หรือประมาณร้อยละ 33.83 เท่านั้น

ส่วนเอกชนมีปริมาณการผลิตมากถึง 30,171 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 66.17 ซึ่งทำให้มีปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ มีมากถึง 16,595 เมกะวัตต์ หรือร้อยละ 59 เกินกว่ามาตรฐานสากลที่กำหนดไว้ประมาณร้อยละ 15 เท่านั้น

ซึ่งไฟฟ้าที่ผลิตได้ภาครัฐต้องจ่ายให้เอกชนทุกหน่วยที่ผลิตได้ตามเงื่อนไขสัญญาที่ผูกมัดกันมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งจะใช้ไฟฟ้าหรือไม่รัฐก็จ้องจ่ายให้เอกชนตลอดเวลา หรือเรียกว่าค่าพร้อมจ่ายนั่นเอง ซึ่งแน่นอนว่าเงินที่ภาครัฐจ่ายก็คือ เงินที่ซ่อนเก็บมาจากบิลค่าไฟฟ้าทุกครัวเรือนทั่วประเทศเฉลี่ยเดือนละประมาณ 200,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

ดังนั้น กกพ.และกระทรวงพลังงาน จะต้องรีบแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นการเร่งด่วน โดย

1.ยกเลิกสัญญาซื้อขายไฟฟ้าหรือสัญญาที่ยังไม่สมบูรณ์ 6,149 เมกะวัตต์ เช่น โรงไฟฟ้า IPP ใหม่(ภาคตะวันตก) 1,400 เมกะวัตต์ (ทั้งของ กฟผ. ซื้อไฟฟ้าจากลาว และของเอกชนทุกโครงการ) โรงไฟฟ้าเชิงนโยบายหรือโรงไฟฟ้าชุมชน(โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ โรงไฟฟ้าขยะภาคนโยบาย โรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำ โรงไฟฟ้าพลังน้ำ และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็กมาก) รวม 2,099 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้า กฟผ. (ปี 2568-2569) 1,950 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าต่างประเทศพลังน้ำ(ลาว) 700 MW

2.เลื่อนการซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาแล้วไปอีก 2-3 ปี (เดิมจ่ายไฟปี 2564-2569) เช่น โรงไฟฟ้า SPP รวม 974.4 เมกะวัตต์

3.ชะลอการสร้างโรงไฟฟ้า (เดิมจ่ายไฟปี 2570-2571) รวม 5,588 เมกะวัตต์

การผลักดันให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมากมายทั้งๆ ที่มีไฟฟ้าล้นประเทศแล้วในขณะนี้ เชื่อว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เพราะผู้กำหนดนโยบายไม่ต้องรับผิดชอบอะไร แต่ภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามสัญญา กลับเป็นการผลักภาระให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกมิเตอร์ ทุกหม้อแปลง ทุกครัวเรือนทั่วประเทศ โดยไม่เคยพูดความจริงกับประชาชน 

เพื่อระงับปัญหาดังกล่าวสมาคมฯ จำต้องนำความมาร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้สอบหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขอให้สั่ง ยกเลิก เลื่อน หรือชะลอ การสร้างและซื้อขายไฟฟ้าดังกล่าวเสีย