คณะกรรมการญาติพฤษภา 35 และสภาที่สาม จัดเสวนา "บัญญัติกลโกง 10 ประการ" ลำดับที่ 1 รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน-อีอีซี-กระทรวงคมนาคม นายวันมูหะมัดอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ กล่าวว่า รถไฟความเร็วสูงเริ่มดำเนินการในยุค คสช. ตามมาตรา 44 ที่รวบรัด ไม่โปร่งใสและเกิดความเสียหายต่อประชาชน และเห็นว่า ควรยกเลิกโครงการและพัฒนาระบบรางคู่ที่มีอยู่แล้วด้วยการเพิ่มความเร็วรถไฟแทน โดยนำที่ดินมักกะสัน ให้เอกชนทำโครงการ 30 ปี เชื่อว่า มีคนยอมเช่าในราคาถึง 2 แสนล้านบาท โดยภาครัฐไม่จำเป็นต้องให้เจ้าสัวมาหลอกการรถไฟแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตามเชื่อว่ารัฐบาล จะเดินหน้าเซ็นต์สัญญากับผู้ได้ประมูลปลายเดือนนี้แน่นอน เพราะเอาจริงเอาจังมาก แม้แต่การตั้งกรรมาธิการ หรือ กมธ.ศึกษาเรื่องอีอีซีที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลก็อภิปรายเห็นด้วยว่าควรจะตั้ง กมธ. แต่จู่ๆก็กลับลำ บอกว่าผู้ใหญ่ระดับรองนายกรัฐมนตรีไม่ต้องการ เพราะอาจกระทบกับการเซ็นต์สัญญา และ ส.ส.รัฐบาลก็ยอมกลืนน้ำลายตัวเอง ไม่กล้าแม้แต่งดออกเสียง และสภาฯก็ไม่สามารถตั้ง กมธ.ศึกษาเรื่องนี้ได้ในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องน่าอับอาย โดยจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุม กมธ.คมนาคมซึ่งตัวเองเป็น กมธ.อยู่ รวมทั้งฝ่ายค้านก็เตรียมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลและตั้งกระทู้ถามในสภา โดยเฉพาะการไม่เปิดเผยทีโออาร์และสัญญาประมูลซึ่งมีเงื่อนไขพิเศษด้วย
อดีตรมว.คลัง ชี้ รัฐเวนคืนเอื้อเอกชน ส่อผิดรธน.
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ผู้มีอำนาจประชาสัมพันธ์แต่ด้านดีของโครงการโดยไม่เปิดเผยข้อเท็จจริง และหลายอย่างเป็นการโกหก ที่สำคัญคือความคุ้มค่าของโครงการ ซึ่งไม่มีใครลงสนามบินดอนเมือง เเล้วนั่งรถไฟไปขึ้นเครื่องบินที่สนามบินอู่ตะเภา การอ้างว่าเป็นการประมูลนานาชาติ ซึ่งไม่จริง เพราะผู้ซื้อซอง 20 กว่ารายส่วนใหญ่เป็นซับพรานเออร์ ไม่พร้อมเเข่งขันจริง
นอกจากนี้ สัญญาที่ทำให้ภาครัฐหรือการรถไฟแห่งประเทศไทยเสียเปรียบผู้รับเหมา ซึ่งเอกชนสามารถใช้ที่ดินมักกะสันทำอสังหาริมทรัพย์หาประโยชน์ได้ทันทียังไม่เริ่มโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง อีกทั้งจะมีปัญหาการส่งมอบพื้นที่ หลายแห่งต้องเวนคืนซึ่งอาจมีการโก่งราคาและตามกฎหมายต้องใช้เพื่อสาธารณะ แต่เวนคืนที่เพื่อให้เอกชนสร้างอสังหาริมทรัพย์ผิดรัฐธรรมนูญ
'ประภัสร์' ติง 'เจ้าสัว' สร้างภาพ ปิดความลับเอาเปรียบผู้ประมูลรายอื่น
นายประภัสร์ จงสงวน อดีตผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า ไม่มีเอกชนรายใดที่ยอมเซ็นต์สัญญาที่ขาดทุน เพราะไม่ใช่องค์กรการกุศลที่แม้แต่นำเงินไปบริจาคก็หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วด้วย แต่เจ้าสัวที่ได้ประมูลพูดเพื่อไม่ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยดำเนินการ และการเชื่อม 3 สนามบินจะไม่ได้ผล เพราะคนไม่ใช้ อีกทั้งค่าโดยสารยังแพงการพูดก็ดีเรื่องนี้จึงเป็นการพูดเพื่อสร้างภาพที่สำคัญ หากสัญญาเป็นธรรมและรัฐได้เปรียบ ทำไมไม่ยอมเปิดเผยให้ประชาชนทราบ และยังมีเงื่อนไขใหม่ที่เป็นความลับ ซึ่งหากไม่อยู่ในทีโออาร์เดิม มีคำถามว่า จะถือว่าทำให้ผู้ประมูลรายอื่นเสียเปรียบหรือไม่
นายประภัสร์ มองว่าผู้มีอำนาจดึงรถไฟความเร็วสูงไปเกี่ยวกับอีอีซี เพราะ มีกฎหมายพิเศษ ให้เช่าพื้นที่ 99 ปี ซึ่งเอกชนไม่อยากทำรถไฟความเร็วสูง แต่มองการใช้ประโยชน์พื้นที่มากกว่า นอกจากนี้ไม่มีทางที่รถไฟจะทำความเร็วได้ 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เนื่องจาก ระยะทาง 3 สนามบินไม่กี่ร้อยกิโลเมตร และมีสถานีเยอะราว 5 สถานีหลัก เฉลี่ยประมาณ 45 กิโลเมตรต่อสถานี ทำให้ระยะทางทำความเร็วไม่เพียงพอ อีกทั้งรถไฟต้องใช้ระยะทางในการเบรคด้วย ดังนั้นควรพัฒนาระบบรางคู่ ยกถนนหรือทำอุโมงค์ลอดหรือข้ามทางรถไฟ เพราะต้นทุนถูกกว่าการยกระดับทางรถไฟข้ามถนน