วันนี้ (7 พฤษภาคม 2568) เวลา 11.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงบันดาร์เสรีเบกาวัน บรูไนดารุสซาลาม นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย ร่วมการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนครั้งที่ 17 (17th ASEAN Ministers Responsible for Information (AMRI) Meeting) และการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจา ครั้งที่ 8 (8th AMRI+3 Meetings) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “MAJU: Media Advancing Joint Understanding: Transforming Media’s Role in Advancing Cooperation and Mutual Understanding” (สื่อส่งเสริมความเข้าใจร่วมกัน: การเปลี่ยนบทบาทของสื่อในการส่งเสริมความร่วมมือและความเข้าใจซึ่งกันและกัน) หรือ ย่อมาจาก “ มาจู” ในภาษาบาฮาซามาเลย์ ที่มีความหมายว่าการก้าวไปข้างหน้า (moving forward) ที่เน้นให้สื่อมีบทบาทในการส่งเสริมความเข้าใจ และความร่วมมือกันของภูมิภาคอาเซียน โดยมี นางสุดฤทัย เลิศเกษม อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ นางสาวเพ็ญพิสุทธิ์ จินตโสภณ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม
ที่ประชุมได้รายงานผลการดำเนินงานการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิก โดยนางสาวจิราพร ได้กล่าวถึงแนวทางในการส่งเสริมบทบาทด้านข้อมูลข่าวสารในอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ รับผิดชอบ มีจริยธรรม และยังคงมีเสรีภาพในการแสดงออกผ่านแนวคิด A.C.T. ได้แก่
1) Accessible Media : การพัฒนาสื่อที่ทุกคนสามารถเช้าถึงได้ทุกภาษา ทุกวัย และทุกชุมชน ซึ่งประเทศไทยมีการผลิตรายการเนื้อหาเกี่ยวกับอาเซียนที่เป็นมิตรสำหรับเยาวชน รวมถึงการผลิตรายการในภาษาท้องถิ่นทั่วประเทศ
2) Credible Information : การพัฒนาข้อมูลข่าวสารที่เชื่อถือได้และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อทั้งจากการผลิตและเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็ว และการส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการปลูกฝังให้ประชาชนรักการเรียนรู้และคิดวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน และ
3) Transformative Youth : การพัฒนาการสื่อร่วมร่วมกับคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z และ Gen Alpha ที่เป็นทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้เปลี่ยนแปลงสื่อในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งประเทศไทยได้จัดโครงการ New(s) Gen Leader Camp โดยกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนเข้าใจแนวทางการสื่อสารอย่างเหมาะสมและมีทักษะในการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการความตระหนักรู้ด้านอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นอันตรายต่อเยาวชน
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุม 3 ฉบับ ได้แก่
1. ร่างปฏิญญาบันดาร์เสรีเบกาวัน ว่าด้วยความมุ่งมั่นของรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สื่อและสารนิเทศ
2. ร่างปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ว่าด้วยการใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัยและมีความรับผิดชอบสำหรับอาเซียน
3. ร่างแถลงการณ์ร่วมการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียน ครั้งที่ 17 และการประชุมรัฐมนตรีสารนิเทศอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาบวกสาม ครั้งที่ 8 ซึ่งเป็นการสรุปภาพรวมและผลลัพธ์ของที่ประชุม เพื่อยกระดับคุณภาพการสื่อสารของรัฐให้โปร่งใสและทันสมัย ควบคู่กับการป้องกันข่าวปลอม และส่งเสริมการใช้สื่อดิจิทัลอย่างสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบ อันจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนไทย พร้อมขยายความร่วมมือกับอาเซียนในการพัฒนาสื่อเพื่อประโยชน์ร่วมกันในอนาคต