ไม่พบผลการค้นหา
จากกรณีที่เฟซบุ๊กกล่าวว่าจะฟ้องรัฐบาลไทยที่บังคับให้ปิดกั้นการเข้าถึงกรุ๊ปในเฟซบุ๊ก จนคนไทยบางส่วนระบุว่าจะตอบโต้ด้วยการแบนเฟซบุ๊ก 'วอยซ์ออนไลน์' มี 7 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับเฟซบุ๊กและประเทศไทยมาฝาก

1 เฟซบุ๊กเปิดบริการเมื่อไหร่?

เมื่อปี 2546 มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กและเพื่อนในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเกิดความคิดทำเว็บ Facemash โดยแฮ็กข้อมูลมาจากฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัย ก่อนจะปิดเว็บนี้ไป แล้วสร้างเฟซบุ๊ก (Facebook) ขึ้นในปี 2547 ให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดใช้ 

CNN รายงานว่า เฟซบุ๊กเปิดให้สาธารณะใช้ได้ในปี 2549 และได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงเวลาเพียงไม่กี่ปี จนในปี 2555 เฟซบุ๊กประกาศเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) และในปลายปีนั้นเอง ก็มีผู้ใช้เฟซบุ๊กแตะ 1,000 ล้านคน

Blognone ระบุว่า เฟซบุ๊กได้รับความนิยมในหมู่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้เฟซบุ๊กประกาศเปิดสำนักงานในไทยเมื่อปี 2558 แต่ไม่มีการเปิดตัวว่าใครเป็นผู้ดูแลธุรกิจในไทย และไม่มีการเปิดเผยว่าสำนักงานตั้งอยู่ที่ไหน จนปี 2561 Brand Inside รายงานว่า เฟซบุ๊กในประเทศไทยได้ขยายสำนักงานในไทยอย่างเป็นทางการ


2 คนไทยใช้เฟซบุ๊กมากเท่าไหร่?

Statista Research Department เผยแพร่งานวิจัยที่ระบุว่า ในปี 2562 จำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทยมีมากถึง 48.5 ล้านคนแล้ว จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในไทยที่ 50.31 ล้านคน หรือคิดเป็น 96.4% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งหมดในไทย


3 คนไทยใช้เฟซบุ๊กเป็นอันดับเท่าไหร่ของโลก?

เจ เคลเมนต์ นักวิจัยด้านอินเทอร์เน็ตและอีคอมเมิร์ซได้เผยแพร่รายงานบน Statista ซึ่งระบุว่า จำนวนคนไทยที่ใช้เฟซบุ๊กมากเป็นอันดับ 8 ของโลก ตามหลังอินเดีย สหรัฐฯ อินโดนีเซีย บราซิล เม็กซิโก ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม Marketeer รายงานว่า คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตต่อวันมากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยใช้อินเทอร์เน็ตประมาณ 9.01 ชั่วโมงต่อวัน และกรุงเทพธุรกิจรายงานว่า คนไทยใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียเฉลี่ยเกือบ 3 ชั่วโมงต่อวัน


4 เฟซบุ๊กมีมูลค่าเท่าไหร่ และในไทยน่าจะมีมูลค่าทางธุรกิจเท่าไหร่?

ปัจจุบัน เฟซบุ๊กมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (market cap) 8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 25 ล้านล้านบาท) โดยปี 2562 เฟซบุ๊กมีรายได้รวม 70,697 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 2.21 ล้านล้านบาท)

หากประเมินรายได้คร่าวๆ ที่เฟซบุ๊กได้จากไทย โดยคิดจากรายได้เฉลี่ยต่อจำนวนผู้ใช้ (ARPU) ในเอเชียแปซิฟิกที่ 3.15 ดอลลาร์สหรัฐฯ กับจำนวนผู้ใช้เฟซบุ๊กในไทย รายได้จากไทยน่าจะอยู่ที่ประมาณ 152.78 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 4,788.13 ล้านบาท) หรือคิดเป็นประมาณ 0.22% ของรายได้ทั้งหมดของเฟซบุ๊กในปี 2562

 

5 รัฐบาลไทยกับการปิดกั้นการเข้าถึงเฟซบุ๊ก

เมื่อปี 2557 เว็บไซต์ Blognone เคยรายงานว่า ทางการไทยส่งคำขอบัญชีผู้ใช้ 1 คน แต่ทางเฟซบุ๊กไม่ได้ส่งข้อมูลให้ และถือเป็นครั้งแรกที่มีรายงานออกมาว่า กระทรวงไอซีทีขอให้เฟซบุ๊กปิดกั้นข้อมูล 5 รายการตามกฎหมายของไทยที่ห้ามวิจารณ์พระมหากษัตริย์

ในปี 2559 สำนักข่าวประชาไทรายงานว่า เฟซบุ๊กยินยอมร่วมมือกับรัฐบาลไทยปิดกั้นการเข้าถึงเพจ ‘กูKult’ ซึ่งมักมีการโพสต์ภาพเชิงล้อเลียนเสียดสีสังคมและการเมือง รวมทั้งสถาบันกษัตริย์ โดยเป็นการปิดกั้นการเข้าถึงจากไทย แต่ผู้ใช้เฟซบุ๊กในต่างประเทศยังสามารถเข้าเพจได้ตามปกติ

ทั้งนี้ เว็บไซต์ Blognone ตั้งข้อสังเกตคือ เหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการที่ตำรวจสามารถเข้าถึงบทสนทนาใน Messenger ของแอดมินเพจ "เรารักพลเอกประยุทธ์" ที่โดนตั้งข้อกล่าวหากระทำผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่ไม่มีข้อมูลว่าเฟซบุ๊กยื่นมือเข้ามาช่วยหรือไม่

เดือน พ.ย.ปีเดียวกันนั้น สำนักข่าว DPA ยังรายงานว่า รัฐบาลไทยได้พบกับมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของเฟซบุ๊ก 2559 เพื่อ “หารือวิธีการเฝ้าระวังและบล็อก ‘เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม’ ”

ในปี 2560 สำนักข่าว Mashable รายงานว่า เฟซบุ๊กบล็อกเนื้อหาบางส่วนต่อผู้ใช้งานในประเทศไทย และยืนยันว่าเฟซบุ๊กได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทยในการปิดกั้นเนื้อหาบางส่วนจริง เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายของไทย โดยกระทรวงไอซีทีได้ขอให้เฟซบุ๊กระงับการเข้าถึงเนื้อหา 10 ชิ้น 

ล่าสุด 24 ส.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานว่า เฟซบุ๊กจำกัดการเข้าถึงกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อ 'รอยัลลิสต์ มาร์เกตเพลส' สำหรับคนที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งต่อมา 'เฟซบุ๊ก' ออกมาแถลงว่า บริษัทเตรียมดำเนินการทางกฎหมายกับทางรัฐบาลไทย หลังตรวจพบว่า เฟซบุ๊กถูกบังคับให้จำกัดเนื้อหาและปิดการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้ในประเทศไทย 

เฟซบุ๊กระบุว่า รัฐบาลไทยข่มขู่ว่าจะใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการกับแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก เพราะไม่ยอมลบเนื้อหาในกลุ่มดังกล่าวที่มีสมาชิกมากถึง 1 ล้านคน และมีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถาบันอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งเฟซบ๊กระบุว่า คำร้องขอของรัฐบาลไทยขัดกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและส่งผลต่อความสามารถในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

 

6 เฟซบุ๊กเคยฟ้องใครหรือยัง

ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กมักถูกรัฐบาลต่างๆ วิพากษ์วิจารณ์และฟ้องร้อง ทั้งเรื่องการเสียภาษี การละเมิดความเป็นส่วนตัว การละเลยโพสต์ข้อมูลบิดเบือนและข้อความแสดงความเกลียดชัง แต่เฟซบุ๊กฟ้องร้องรัฐบาลต่างๆ น้อยมาก

The Verge และ Tech Crunch รายงานว่าเมื่อปี 2562 เฟซุบ๊กได้ออกมาเปิดเผยว่า อาจฟ้องร้องเพื่อคัดค้านกรณีที่ศาลยุโรปสั่งให้ลบข้อมูลที่ผิดกฎหมายเกี่ยวกับชาวออสเตรียคนหนึ่ง โดยไม่ให้คนทั่วโลกเห็นข้อความดังกล่าวเลย ไม่ใช่แค่จำกัดการเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวจากในยุโรปเท่านั้น

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน Vox รายงานว่า เฟซบุ๊กขู่ว่า จะฟ้องรัฐบาลสหรัฐฯ หากเอลิซาเบธ วอร์เรน ผู้สมัครเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ขึ้นเป็นประธานาธิบดีจริง เนื่องจากเธอเสนอว่าจะออกกฎหมายป้องกันไม่ให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ไล่ซื้อและควบรวมกิจการบริษัทอื่นๆ แต่สุดท้าย โจ ไบเดนก็ขึ้นมาเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา Business Insider รายงานว่า เฟซบุ๊กเพิ่งยื่นคัดค้านคำขอของคณะกรรมาธิการยุโรปในการเปิดเผยเอกสารภายในบริษัทสำหรับข้อกล่าวหาว่าเฟซบุ๊กผูกขาดธุรกิจ และฟ้องร้องคณะกรรมาธิการว่าร้องขอเอกสารข้อมูลอย่างไม่สมเหตุสมผล โดยระบุว่ามีการขออีเมลภายในบริษัทหลายแสนฉบับที่มีคำหรือวลีที่กว้างเกินไป

จนเมื่อวันที่ 24 ส.ค.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กได้ประกาศว่าจะฟ้องรัฐบาลไทยกรณีบีบบังคับให้ปิดการเข้าถึงกรุ๊ป 'รอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส'

 

7 คนไทยใช้โซเชียลมีเดียอะไรบ้าง

The Flight 19 บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดดิจิทัลระบุว่า ปัจจุบัน คนไทยใช้เฟซบุ๊กมากเป็นอันดับ 8 ของโลก มีจำนวนผู้ใช้ทั้งหมด 48.5 ล้านคน มีคนไทยใช้อินสตาแกรมมากเป็นอันดับที่ 17 ของโลก ราว 12 ล้านคน และมีคนไทยใช้ทวิตเตอร์ 6.5 ล้านคน ซึ่งอยู่ในอันดับที่ 15 ของโลก

ส่วน TikTok รายงานว่าสิ้นปี 2019 มีผู้ใช้ TikTok ในไทย 18.72 ล้านคน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: