ไม่พบผลการค้นหา
มติสภาฯ 278 ต่อ 192 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบฯปี 66 นายกฯขอบคุณสภาฯ โหวตรับ ฝาก กมธ.ตรวจสอบรอบคอบไว้นำไปใช้ฟื้นตัว ศก. สังคมหลังวิกฤตโควิด-19 ด้าน 'สุทิน' ปิดท้ายในนามฝ่ายค้าน ชี้ ศก.หลังโควิดไม่ฟื้น ซึมยาว ถ้ายังติดกับดักโครงสร้างศก.แบบเก่า มีผู้นำไร้ฝีมือคิดแบบเดิม ทำเครื่องยนต์ ศก.ดับสนิท ยุตีตกร่างงบฯ เปลี่ยนให้มือใหม่มาฟื้นวิกฤตจัดงบฯ ด้วยโครงสร้างใหม่

เมื่อเวลา 23.48 วันที่ 2 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ดำเนินมาถึงช่วงสุดท้ายของการอภิปรายในวันที่สาม

โดย สุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน อภิปรายสรุปปิดท้ายของฝ่ายค้าน ว่า การอภิปรายงบประมาณครั้งนี้จะพิเศษกว่าทุกครั้งเพราะเป็นงบฯครั้งสุดท้ายของสภาฯ ชุดนี้ ฝ่ายค้านได้ประกาศท่าทีล่วงหน้าจะไม่รับหลักการ เมื่อประกาศแล้วก็มีเสียงวิจารณ์ว่าฝ่ายค้านเล่นเกมการเมือง ผิดประเพณีวัฒนธรรม ความพิเศษนี้ด้วยเหตุเป็นวาระพิเศษ คราวนี้จัดงบฯช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ประเทศป่วยมา ประชาชนลำบากมา3-4 ปี การจับงบฯครั้งนี้เป็นช่วงกำลังจะฟื้น กำลังจะฟื้น การจะให้ฟื้นต้องละเอียดจัดเม็ดเงินงบประมาณ 

สุทิน อภิปรายว่า ทำไมฝ่ายค้านต้องมีท่าทีอย่างนี้ ที่ผิดปกติ ประเทศเราป่วย ประชาชนเป็นทุกข์ การพิจารณางบฯ ไม่เอกซเรย์ประเทศ ถ้าป่วยด้วยโรคอะไรต้องจ่ายยา ค่ายาทั้งหมด 3.185 ล้านล้านบาท แต่วันนี้คุยกันจ่ายยาถูกหรือไม่ จ่ายยาผิดก็น่าจะฟุบและตายเลย เมื่อเอกซเรย์แล้ว ทั้งนี้เศรษฐกิจอักเสบมาแล้ว 4-5 ปี ถ้าแก้ไม่หายจะเป็นเศรษฐกิจอักเสบเรื้อรัง ถ้าปีนี้ไม่ฟื้นจะเรื้อรังเป็นมะเร็งและล้มละลายเหมือนหลายประเทศ โรคนี้มีอาการคือรายได้ต่ำ แต่รายจ่ายสูง ประชาชนวันนี้รายได้ต่ำ รายจ่ายสูง ประเทศขาดดุลทุกปี รายจ่ายสูงกว่ารายรับเกือบ 7 แสนล้านบาท โรคนี้เกิดทำให้รายได้และรายจ่ายไม่สมดุลจึงเป็นหนี้

"หนี้ประเทศสูงขึ้น 10 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือนจะทะลุ 100 เปอร์เซนต์ หนี้เอ็นพีแอลกำลังจ่อคิว หนี้ 3 ตัวที่เกิด เกิดจากเครื่องยนต์เศรษฐกิจไม่ทำงาน ตัวแรกการบริโภคภาคเอกชน วันนี้เอกชนหรือประชาชนจะจับจ่ายใช้สอยน้อย"

สุทิน ย้ำต่อว่า เครื่องยนต์ตัวที่สอง การลงทุนภาคเอกชนสนิทเงียบเผ่นหนี จบ ตายสนิท เครื่องยนต์ตัวที่สาม การลงทุนภาครัฐ ที่คุยกันมา 3 วัน ตัวสุดท้ายการส่งออกสุทธิ รัฐมนตรี และรัฐบาลหน้าบานหน่อย การส่งออกสุทธิดีขึ้น เมื่อการส่งออกขยับตัวขึ้นมา แต่การขยับตัวเครื่องยนต์ตัวนี้แรงพอหรือไม่

สุทิน อภิปรายเครื่องยนต์ที่ยังติดคือการลงทุนภาครัฐ คืองบประมาณแผ่นดินปีนี้ 3.185 ล้านล้านบาท หรือ 17 %ของจีดีพี โดย 3-4 ปี กินงบฯอย่างเดียว การลงทุนภาครัฐคือความหวัง ถ้ากระตุ้นเอกชน ภาคประชาชน เครื่องยนต์ตัวนั้นจะติด ทั้งนี้ ต้องพิถีพิถันการพิจารณางบฯ เพราะเป็นเครื่องยนต์ที่ดูแลประเทศมา 4 ปี และจะช่วยให้เครื่องยนต์ 3 ตัวติด

สุทิน M_งบประมาณ วันที่สาม 2_220603.jpg

"ผมต้องบอกว่าไม่ใช่ฝีมือรัฐบาล ที่จีดีพีขยับมามีนักท่องเที่ยว แต่มันเป็นธรรมชาติ พอโควิดซา คนก็เริ่มมาตามธรรมชาติ ถ้ามาโดยฝีมือรัฐบาล รัฐบาลจัดงบฯ ดีจะทำให้เพิ่งโงหัวลุกขึ้นยืนได้ วันนี้ถ้าเป็นรถยนต์ เกียร์ออโต้ เข้าเกียร์ไว้ก็ไหล ถ้ารัฐบาลเก่งเหยียบคันเร่งเหมือน 80-120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทั่วโลกโควิดไปแต่วิ่งฉิว" สุทิน กล่าว

สุทิน กล่าวว่า งบประมาณตัวนี้จะต้องใช้การลงทุนภาครัฐคืองบฯฉบับนี้ให้ติดเครื่องและแรงขึ้น แม้การท่องเที่ยวเริ่มมาแต่ยังไม่ติด ต้องใช้งบประมาณตัวนี้ ถ้าจัดงบฯ ดี ถูก จะผลักเครื่องยนต์ 3 ตัวได้ ถ้าเห็นว่าผิดไม่เหมาะก็ไม่อยากให้ผ่าน การชะลอไว้ มีโอกาสทำใหม่ หรือไม่ให้คนอื่นมาทำเลยยังไม่เสียโอกาส มันจะติดก็ให้เสริมไป ถ้าเห็นไม่ดีไม่อยากให้ปล่อยไปในวาระที่ 2-3 ทั้งนี้ มีปัจจัยที่พูดกันมาโทษโควิด-19 ปัจจัยต่อมามีปัญหาตัวต่อมาคือ ยังเหลือตัวสำคัญคือสงคราม ที่เป็นตัวปัญหาให้เครื่องยนต์เหล่านี้ดับต่อ อีกทั้งยังมีเงินเฟ้อ น้ำมันแพง 

ชี้ ไทยติดปัญหาโครงสร้าง-ผู้นำไม่เก่ง ทำเครื่องยนต์ดัน ศก.ให้ฟื้นไม่ได้

"ผมบอกว่าอย่าไปโทษโควิดอย่างเดียว ต่อให้โควิดไปก็ไม่ฟื้น เพราะโรคประเทศไทยติดเชื้อมาแต่ 2557 มาเป็น ส.ส.ก็จะตายแล้ว จีดีพีติดลบ1 ติดลบ2 โครงสร้างเศรษฐกิจมีปัญหาก่อนโควิดจะมา จะพะวงโควิด แต่ลืมโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมจ้างก็ไม่ฟื้น คนจนในประเทศมันจนแม้เศรษฐกิจฟื้นแต่คนจนในประเทศก็ไม่ฟื้น ปัจจัยโครงสร้างเศรษฐกิจทำให้เครื่องยนต์มีปัญหาต่อ คือความสามารถผู้นำประเทศและรัฐบาล ถ้านายกฯเก่ง ต่อให้โควิดไป ถ้านายกฯ ไม่เก่ง รัฐบาลฝีมือไม่ถึงในภาวะแบบนี้ไม่ได้ ปัจจัยมีผลต่อเศรษฐกิจการเงินการคลังประเทศ โครงสร้างเศรษฐกิจประเทศและความสามารถผู้นำประเทศและรัฐบาล ถ้าไม่คิดสองตัวนี้จะทำให้ประเทศซึมต่อไป" สุทิน กล่าว

สุทิน อภิปรายว่า งบประมาณที่จัดทำปีนี้ ที่จะทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจขับเคลื่อน ตนว่าเป้าหมายที่ดีที่สุดึคือต้องดูแลประชาชน 65 ล้านชีวิตที่ลำบากให้รอด เมื่อดูแลประชาชนแล้วก็ต้องดูแลประเทศ ดึงประเทศให้กลับมา ดูแลประชาชน ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทยคือลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส แต่ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ฉบับนี้มีหรือไม่ วันนี้ต้องทำให้เครื่องยนต์เศรษฐกิจ 4 ตัวเดินได้ ถ้าเครื่องยนต์ 4 ตัวนี้ไม่เดินประเทศซึมยาวอีก 

สุทิน กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำในประเทศคือลงทุนระยะยาวและลงทุนให้กับประเทศ แต่เป็นหรือไม่ แต่งบประมาณจัดทำแบบเดิมๆ คิดแบบเดิมๆ ทำให้เห็นการจัดงบฯ แบบเดิมๆ ด้วยการจัดงบขาดดุลแล้วกู้ ยิ่งน่าห่วงที่เห็นชัดเจนคือ เรายังเห็นงบประมาณแบบประจำสูงขึ้น แต่งบลงทุนต่ำ โดยงบฯประจำสูงขึ้น เพราะนายกรัฐมนตรีคนนี้จากปี 2557 - 2565 ขึ้นงบประจำ 30% ไม่มีท่าทีจะลด เป็นงบฯ บุคลากร 40 % ทำให้ต้องพยายามหาเงิน เป็นความคิดอันตรายและน่าผิดหวัง ที่ให้ผ่านไม่ได้ คือประมาณการรายรับไม่ได้ท่านบอกว่าปีหน้าจีดพีจะโต 3.5-4% 

สุทิน อภิปรายว่า ถ้าประมาณการผิดอีกจะกู้ได้อีกเพียง 2 หมื่นกว่าล้านบาท แต่ปีนี้ ถ้าสมมติประมาณการผิด จะผิดเป้าเยอะ หากกู้ได้เพียงเท่านั้นก็จะจบ ในที่สุดเครื่องยนต์จะฟุบต่อ ตนผิดหวังประมาณการเติบโตเศรษฐกิจผิด  

"ที่เราสิ้นหวังมาก ก็ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไม่โต รัฐบาล และนายกฯ หาเงินไม่เป็น คิดแต่เอาภาษี เศรษฐกิจชะลอตัว เศรษฐกิจไม่ฟื้น ดันไปเก็บภาษีอีกก็ตายเลย" สุทิน กล่าว

ย้ำจัดงบฯ ขอทานจัดงานเลี้ยง ใกล้ตายยังมีอารมณ์ทุจริต

สุทิน สรุปว่า "นอกจากสิ้นหวังกับงบประมาณนี้แล้ว ที่ผิดหวังคือ มีแววจะทุจริตงบประมาณนี้ พูดง่ายจะตายแล้วยังมีอารมณ์ ผมถึงบอกว่าขอทานจัดงานเลี้ยง กองทัพยังมีอารมณ์จัดซื้ออาวุธ แต่เรากู้มาเป็นขอทานก็ต้องประหยัด แต่ถ้าเป็นขอทานต้องหาวิธีหลุดพ้น ลดรายจ่ายไม่จำเป็น วันเกิดก็อย่าไปแจก

"พอเจองบฯ ทางตัน ที่ตันที่สุด คือ งบลงทุน พ.ร.บ.ฉบับนี้เพียง 17% ของจีดีพีไม่พอ ถ้าทำไม่ดีก็จบข่าว การลงทุนภาครัฐ มีส่วนอื่นที่จะทำ วันนี้ที่เราพึ่งหวังมากที่สุด ก็คืออีอีซี คาดหวังมาไม่รู้กี่ปี"

ชี้ 'ประยุทธ์' หมดสภาพ ปัญหา ศก.ไม่ฟื้น เหตุปัญหาโครงสร้าง-ตัวผู้นำ

สุทิน กล่าวว่า วันนี้นายกฯ ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อรัฐบาลหมดสภาพที่จะทำงบฯ ที่ว่าจะทำให้ประเทศรอด ท่านอยู่ไปก็ทำแบบนี้ไปเหมือนที่ทำมา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่โควิด-19 ไม่ได้อยู่ที่น้ำมันแพง เงินเฟ้อ แต่อยู่ที่คนบริหารงบฯ ถ้านายกฯ อยู่แบบก็ทำงบฯแบบเดิม ตนคิดว่าสิ่งแรกที่สุด ปัญหาตัวผู้นำประเทศ คือไม่ยอมรับความจริง ไม่ยอมรับว่าเศรษฐกิจล้มมาแต่ก่อนโควิด-19 เมื่อโควิดไปแล้วก็ยังฟื้นไม่ได้ เพราะโรคเก่าจะกำเริบ โรคโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิม แม้นักท่องเที่ยวกำลังมา แต่นักท่องเที่ยวมาทั้งหมด 1 ล้านคน ถ้าโครงสร้างเศรษฐกิจแบบเดิมเอาเงินได้ 1,000 ล้านบาท แต่ถ้าปรับโครงสร้างใหม่อาจได้เงิน 10,000 ล้านบาท ถ้ายังไม่ปรับแต่คิดแบบเดิมไม่มีทางฟื้น 

สุทิน อภิปรายว่า วันนี้ถ้าปล่อยงบฯฉบับนี้ไป แล้วเหมือนทุกปี เข้าไปในสภาฯ แก้กันในวาระที่ 2-3 ถ้าปีนี้แก้ได้ ก็จะแก้ไม่ได้ เพราะชนเพดานหลายอย่าง สิ่งที่ควรทำและตัดท่อน้ำเลี้ยงประชาชน ถ้างบฯ ตกให้ประชาชนไขว้เขว เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญอยากให้จัดทำรอบคอบ ก็เผื่อให้ตกในวาระแรกก็ได้ ตกแล้วก็มีกันชนไม่ให้กระทบประชาชน กันชนคือให้ใช้งบฯปีก่อนไปพลาง แล้วกลับไปทำมาใหม่ ใจพวกตนถ้าเป็นคนเก่าชุดความคิดเดิม สู้ตีให้ตกไปแล้วท่านก็ไป แล้วรอให้คนอื่นมาทำแทน คนอื่นที่จะมาทำแทนที่เสนอมา 2-3 คนดีๆทั้งนั้น ให้พวกเรามาจัดทำงบฯ

แนะเปลี่ยนตัวผู้นำใหม่มาจัดทำงบฯ

สุทิน กล่าวว่า วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องเอาประชาชนเอาประเทศ แต่ตนก็รู้ว่าวันนี้ที่พูดมาไม่รู้กี่ปี ชินชา ทางหมอ อาการไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและสภา ถัดจากนี้คือสัญญาณชีพของรัฐบาลต่ำ ทำให้ความเชื่อมั่นไป ข้าราชการเกียร์ว่าง นักลงทุนชะลอ

"ผมคิดว่าวันนี้ เพื่อนสมาชิกที่พูดทั้งวันว่ารับไม่ได้กับงบประมาณ ที่บอกว่าไม่รับแล้วตก ประชาชน ประเทศลำบาก ผมว่าประชาชนจะโชคดีกว่า ถ้าปล่อยให้งบฯนี้ผ่านไป ฝ่ายค้านขอรับผิดชอบต่อประชาชน ถ้าของไม่ดีงบฯ ไม่ดีก็ไม่เห็นด้วยให้ผ่านสภาฯ และถูกนำไปใช้ การไม่รับวันนี้ขอโอกาสให้ประชาชนทำใหม่ ให้ฟื้น ก็เลยกราบเรียนประธานถึงเพื่อนสมาชิกว่ารับไม่ได้จริงๆ ขอโอกาสทำใหม่ ให้เครื่องยนต์ 4 ตัวติด" ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าว

ประยุทธ์ ประชุมสภา งบประมาณ  -C82E-4026-A279-016307FA3D82.jpegสมคิด -8A3B-A1D305228D28.jpeg

มติ 278 ต่อ 192 เสียง สภาฯ รับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบฯ 3.185 ล้านล้าน นายกฯ ย้ำจัดงบฯอย่างระวังแล้ว

จากนั้นเวลา 01.03 น. วันที่ 3 มิ.ย. 2565 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ ได้ดำเนินมาถึงช่วงท้ายของวันที่สาม โดยแต่ละฝ่ายได้อภิปรายเสร็จสิ้นและฝ่ายค้านได้สรุปปิดท้าย จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมได้ลุกขึ้นชี้แจงว่า ตนนั่งฟังมาตลอดต้องปฏิบัติภารกิจสำคัญ ได้ฟังตลอด รัฐบาลได้จัดทำงบประมาณอย่างระมัดระวังแล้วต้องรอผลลงมติแล้วจะกล่าวอีกครั้ง ไม่ต้องสรุปอะไร เพราะกินเวลาพอสมควร วันที่ 3 มิ.ย. เป็นวันมหามงคลจะได้พักผ่อนด้วย

จากนั้น ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้ขอมติที่ประชุมฯ จะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 1 หรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติ 278 ต่อ 192 เสียงรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว งดออกเสียง 2 เสียง จากผู้ลงมติ 472 คน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.)วิสามัญจำนวน 72 คน โดยแปรญัตติกำหนดเวลา 30 วัน พร้อมกับให้มีการประชุมครั้งแรกในวันที่ 6 มิ.ย. เวลา 14.00 น. ที่ห้องประชุมงบประมาณ อาคารรัฐสภา

สภา โหวตงบประมาณ 863249037359_6876588147383537251_n.pngประยุทธ์700-EDE3-42F4-9EB5-899670F97DF4.jpeg

'ประยุทธ์' ขอบคุณสภาฯรับหลักการ ฝาก กมธ.ตรวจสอบให้รอบคอบ

กระทั่งเวลา 01.26 น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวขอขอบคุณ ส.ส.ที่ร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ที่รัฐบาลเสนอและเห็นชอบรับหลักการ แม้การจัดทำงบฯ พ.ศ. 2566 จะอยู่ภายใต้วงเงินที่มีอยู่อย่างจำกัด แต่รัฐบาลก็ยังให้ความสำคัญกับประชาชน และผลประโยชน์สูงสุดของประเทศ โดยจัดทำร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ สังคม ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 และสถานการณ์โลกในปัจจุบันและขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติให้ต่อเนื่องสร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ สนับสนุนให้เศรษฐกิจเข้มแข็งเติบโตอย่ามีเสถียรภาพ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สำหรับความเห็นข้อสังเกตของสมาชิกที่ได้อภิปราย ตนขอฝาก กมธ.นำไปใช้ตรวจประกอบพิจารณาตรวจสอบรายละเอียดของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ให้รอบคอบยิ่งขึ้นและให้เกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนตามที่มุ่งหวังทุกประการ

จ่ากนั้น ชวน ได้สั่งปิดการประชุมในเลา 01.30 น.ของวันที่ 3 มิ.ย. 2565 ถือเป็นการปิดการประชุมตลอดการอภิปรายในวาระที่ 1 ทั้งสามวันที่ผ่านมา 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง