ไม่พบผลการค้นหา
‘ภูมิธรรม’ ชี้ คกก.แก้ รธน. เป็นบันไดขั้นแรกออกจากปัญหา เผย ‘นิกร’ ชทพ.-‘ชูศักดิ์’ พท. ติดโผ จ่อเชิญมือกฎหมายพรรคอื่นร่วมนั่ง คกก.ด้วย

วันที่ 14 ก.ย. ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาที่มีความขัดแย้งมากในสังคม มีความเห็นต่างกันทั้งในเรื่องรายละเอียด และการจัดทำประชามติ แต่การประชุม ครม. วาระแรกวานนี้ (13 ก.ย.) ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสนใจเรื่องดังกล่าว

โดยในห้วง 4 ปีที่ผ่านมา สมัยรัฐบาลและสภาฯ ชุดที่แล้ว เคยมีการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบรายมาตราและทั้งฉบับไปหลายครั้ง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยังมีความเห็นที่แตกต่างกันถึงแนวทางการแก้ไข ไม่ว่าจะเนื้อหาหรือวิธีการ ดังนั้น จะเห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบางฉบับที่เคยยื่นไป ไม่ผ่านเลย แต่ขอยืนยันว่า รัฐบาลนี้ยึดมั่นในสัญญาที่ให้กับประชาชน อะไรที่รับปากไว้แล้วต้องทำให้ได้อย่างสุดความสามารถ 

ทั้งนี้ ตามที่ที่ประชุมครม.ได้มอบหมายให้ตนเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ได้ประสานงานไปยังหลายภาคส่วนแล้วตั้งแต่เมื่อวาน โดยคงจะต้องตั้งคณะกรรมการชุดไม่ใหญ่นัก เพื่อดำเนินการเรียกประชุมครม. ตามมติที่ประชุมที่ต้องการให้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย และทำให้การร่างรัฐธรรมนูญประสบความสำเร็จ เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น หลีกเลี่ยงความขัดแย้ง และสิ่งสำคัญคือ นโยบายของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ จะไม่แตะต้องหมวดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะหมวด 1 หรือ 2 เพราะเรายึดถือว่า สถาบันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย 

“ต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมามีกลไกและเงื่อนไขหลายอย่างที่กำหนดไว้ ทำให้การเริ่มต้นแก้ไขเป็นไปได้ยาก หากเราเอาแต่ใจของเราฝ่ายเดียว แล้วพยายามจะทำให้ได้ เราก็ยังจะประสบปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อเช่นเดิม คณะกรรมการที่จะจัดตั้งขึ้นจึงจะมีการหารือทุกภาคส่วนโดยเร็ว ถือเป็นบันไดขั้นแรกที่จะก้าวออกจากปัญหาไปด้วยกัน” ภูมิธรรม กล่าว

นอกจากนี้ สำหรับกระบวนการจัดทำประชามติเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ บางพรรคการเมืองบอกว่าต้องทำถึง 4 ครั้ง บางพรรคบอกว่า 3 ครั้ง บางพรรคบอกว่า 2 ครั้งก็เพียงพอ ความเห็นที่แตกต่างเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่องบประมาณที่จะถูกใช้ไปในการจัดทำประชามติด้วย ในอดีตอาจจะอยู่ที่ครั้งละ 3 พันล้านบาท แต่ปัจจุบันอาจจะมากถึง 5 พันล้านบาท ซึ่งหากต้องทำถึง 4 ครั้ง งบฯ 2 หมื่นกว่าล้านบาทนี้ สามารถนำมาใช้กับการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ที่จะเอื้อต่อการแก้วิกฤตเศรษฐกิจได้ 

ผู้สื่อข่าวถามถึงรายชื่อบุคคลที่คาดว่าจะได้อยู่ในคณะกรรมการชุดดังกล่าว ภูมิธรรม เปิดเผยว่า คงจะมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากนี้ อย่างไรก็ดี นิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา รวมถึง ชูศักดิ์ ศิรินิล รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ได้แสดงความสนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตนตั้งใจจะเทียบเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากทุกพรรคการเมืองที่สนใจให้มาร่วมเป็นคณะกรรมการฯ ร่วมกับภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย