ไม่พบผลการค้นหา
ย้อนดูสุนทรพจน์ 'อังเกลา แมร์เคิล' ผู้นำแกร่งแห่งเยอรมนี ไม่ว่าชาติเผชิญกี่วิกฤต ยังมีสปิริตไม่คิดกล่าวโทษประชาชน

31 ธ.ค. เป็นอีกครั้งที่ อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีแสดงให้เห็นสปิริตภาวะผู้นำ ในยามที่ชาติกำลังเผชิญวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 จากสุนทรพจน์เนื่องในวันปีใหม่ที่พูดถึงความยากลำบากตลอดปีที่ผ่านมา

สุนทรพจน์ปีใหม่นี้ถือเป็นครั้งสุดท้ายที่แมร์เคิลกล่าวในฐานะนายกรัฐมนตรี ก่อนที่เธอมีกำหนดสิ้นสุดวาระผู้นำรัฐบาลในกลางปี 2564 โดยข้อความสุนทรพจน์ปีใหม่ครั้งสุดท้ายของเธอเต็มไปด้วยถ้อยคำแสดงความขอบคุณ ให้ความหวัง และเรียกศรัทธาคนในชาติแม้ประเทศอยู่ในยามวิกฤต

แมร์เคิล เริ่มต้นกล่าวถึงปี 2563 ที่ผ่านมาว่าเต็มไปด้วยความยากลำบากจากการที่โลกของเราถูกโจมตีด้วยสิ่งที่เราไม่เคยคาดคิด ไวรัสไม่เพียงคร่าชีวิตผู้คน แต่ยังจู่โจมความเป็นมนุษย์ของเราด้วย เราไม่สามารถสัมผัสใกล้ชิด สวมกอด พูดคุย หรือเฉลิมฉลองได้ดังเช่นที่เคยกระทำมา ไวรัสได้เปลี่ยนเปลี่ยนพฤติกรรมธรรมดาให้กลายเป็นความเสี่ยง และสร้างมาตรการป้องกันที่เราไม่คุ้นเคยให้กลายเป็นเรื่องปกติใหม่

ผู้นำหญิงกล่าวในตอนหนึ่งว่า "ปีนี้เป็นปีแห่งการระบาดใหญ่ รวมถึงเป็นปีแห่งการเรียนรู้ ช่วงฤดูใบไม้ผลิเรา(รัฐบาล)ตอบสนองต่อไวรัสโดยที่แทบไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับมันเลย เราต้องตัดสินใจทำในสิ่งที่เราหวังว่าเราทำถูกต้องแล้ว การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นความท้าทายทั้งวิกฤตการเมือง สังคม และเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในรอบศตวรรษ เป็นวิกฤตครั้งประวัติศาสตร์ที่เรียกร้องความทุ่มเทของเราทุกๆคน และอาจมากเกินไปสำหรับหลายๆคน โดยเฉพาะหมอ บุคลากรทางการแพทย์ ความมุ่งมั่นของกองทัพเยอรมนี และเจ้าหน้าที่แนวหน้าทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ข้าพเจ้ารู้สึกขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง"


อังเกลา แมร์เคล เยอรมนี


"ข้าพเจ้าขอขอบคุณทุกสาขาอาชีพที่ปรับเปลี่ยนตัวเองครั้งใหญ่ในการทำงาน ซูเปอร์มาร์เก็ต ขนส่งมวลชน ไปรษณีย์ สถานีตำรวจ ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก โบสถ์ และกองบรรณาธิการข่าว ผู้คนนับไม่ถ้วนช่วยให้ชีวิตของเรายังคงดำเนินต่อไปแม้เกิดโรคระบาด"

แมร์เคิล ยังแสดงความรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาลด้วยการให้คำมั่นต่อทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยมาตรการเยียวยาหลายรูปแบบ รวมถึงอาชีพผู้ประกอบการ และผู้ประกอบอาชีพอิสระ (freelanc) ว่ารัฐบาลจะไม่ทอดทิ้ง

"โรคระบาดนี้ได้ทิ้งสิ่งที่สาหัสอย่างยิ่ง เจ้าของธุรกิจ ลูกจ้าง พนักงานอิสระ และศิลปินต่างวิตกกังวลเกี่ยวกับชีวิตของตน สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่ความผิดของพวกเขาแม้แต่น้อย รัฐบาลจะไม่ทอดทิ้งพวกเขา การสนับสนุนของรัฐบาลในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนกำลังช่วยเหลือพวกท่านอยู่ มาตรการเหล่านี้จะช่วยรักษาตำแหน่งงานไว้ได้"


วิกฤตการเงิน

นี่เป็นเพียงบางส่วนจากสุนทรพจน์วันปีใหม่ ที่แมร์เคลกล่าวครั้งสุดท้ายในฐานะนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามตลอดบทบาท 15 ปี รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของเธอ ผ่านวิกฤตสำคัญๆ แล้วหลายครั้งโดยเฉพาะวิกฤตการเงินยูโรโซน ซึ่งเริ่มส่งกระทบต่อยุโรปอย่างหนักในปี 2553 แมร์เคลใช้โอกาสผ่านการกล่าวสุนทรพจน์ปีใหม่ เตือนให้ชาวเยอรมันยอมรับความจริงเพื่อรับมือกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจ 

สารปีใหม่ของเธอในช่วงเวลานั้น แมร์เคิลใช้เส้นแบ่งอย่างมีเหตุผลระหว่างการมองโลกในแง่ดี กับการมองโลกในแง่ร้ายเพื่อรับมือต่อสถานการณ์ที่กำลังจะมาถึง พร้อมยอมรับต่อชาวเยอรมันอย่างตรงไปตรงมาว่า แม้รัฐบาลไม่อาจแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ในขณะนี้ แต่ยังมีความหวังสำหรับอนาคต

อังเกลา แมร์เคล


"ดิฉันขอเรียนกับทุกท่านอย่างอย่างตรงไปตรงมา เราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะจบลงโดยเร็ว บางสิ่งที่ยากลำบากอาจเกิดขึ้นในปีใหม่ แต่สุดท้ายทุกอย่างจะดีขึ้น เยอรมนีจะควบคุมวิกฤตนี้ได้ ประเทศของจะเราแข็มแข็งเพื่อก้าวพ้นวิกฤต และมันจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ในห้วงวิกฤตทางเศรษฐกิจยุโรป ดิฉันขอเรียกร้องความร่วมมือจากทุกภาคส่วนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ชาวเยอรมันต้องรัดเข็มขัดด้านงบประมาณ เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อคนรุ่นต่อไป รัฐบาลจะทำทุกๆ อย่างเท่าที่ทำได้เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ" ตอนหนึ่งในสุนทรพจน์ปี 2553


โควิด-19 สุนทรพจน์แห่งปี

คณะผู้เชี่ยวชาญด้านวาทศิลป์จากมหาวิทยาลัยทูบิงเงิน ลงมติยกให้สุนทรพจน์ของแมร์เคิล ที่แถลงผ่านเครือข่ายสถานีโทรทัศน์เมื่อ 18 มี.ค. ซึ่งเป็นการแถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกเพื่อแจ้งต่อประชาชนชาวเยอรมันให้ทราบถึงความร้ายแรงของสถานการณ์โควิด-19 ในเยอรมนี เป็นสุนทรพจน์แห่งปี 2563 

คณะผู้เชี่ยวชาญให้เหตุผลว่า แมร์เคิลได้อธิบายพร้อมทั้งเรียกร้องให้ชาวเยอรมัน เคารพในมาตรการควบคุมการระบาดของไวรัสโคโรนา ด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย กระชับ และสร้างความรู้สึกร่วมให้ประชาชนเข้าใจถึงสถานการณ์ จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เยอรมนีประสบความสำเร็จในการคุมการระบาดรอบแรก

ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า สุนทรพจน์ของผู้นำประเทศ มีความสำคัญไม่ต่างกับบันทึกทางประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ่งที่แมร์เคลกล่าวในคืนวันที่ 18 มี.ค. มีอิทธิพลโดยตรงต่อชาวเยอรมนีในแบบที่ไม่มีสุนทรพจน์ใดในช่วงปีที่ผ่านมาเทียบได้

แมร์เคิล เริ่มต้นก่อนเข้าประเด็นสำคัญด้วยประโยคง่ายๆ แต่จริงใจ ว่า "ขออนุญาตให้ดิฉัน พูดถึงการระบาดนี้ว่าเป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่าวิกฤตการเงิน และท้าทายสุดนับตั้งแต่สงครามโลกที่เราเคยเผชิญ ... โปรดให้ความสำคัญและต้องจริงจังกับเรื่องนี้ด้วย" โดยหลังจากนั้นเธอยังเปรียบเทียบตัวเลขของผู้เสียชีวิตที่อาจสูงขึ้นในอนาคตว่า "ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่เชิงสถิติ แต่ไวรัสได้คร่าชีวิต พ่อ แม่ ปู่ ย่า หรือคู่ชีวิตของพวกเรา เยอรมนีเป็นชุมชนที่ทุกชีวิตมีค่ามีความหมาย"

โอลาฟ เครเมอร์ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ทำให้กลายเป็นสุนทรพจน์แห่งปีคือ ทุกถ้อยคำแถลงของเธอ ไม่มีท่อนใดที่กล่าวโทษประชาชน โอ้อวดผลงาน หรือเรียกร้องความเห็นใจต่อรัฐบาล

อังเกลา แมร์เคล


นายกฯ วาระสุดท้าย

อังเกลา แมร์เคิล มีกำหนดก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเยอรมนีช่วงกลางปี 2564 นี้ พร้อมกับคะแนนนิยมสูงในการสำรวจของโพลหลายสำนัก จากผลงานบริหารสถานการณ์โควิดในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับผลงานในอดีตที่เธอได้รับคำชมอย่างล้นหลามจากนักการเมืองทั้งฝ่ายอนุรักษ์นิยมและหัวก้าวหน้า

เธอได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์บส์ว่าเป็นสตรีทผู้ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก ต่อเนื่องถึง 10 ปีซ้อน ซึ่งเธอเคยรั้งตำแหน่งนี้มาถึง 14 ครั้ง นับตั้งแต่ปี 2549 มีเพียงปี 2553 เท่านั้นที่หล่นไปรั้งอันดับ 4 ให้กับมิเชล โอบามา สตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐในขณะนั้น  

เหลือเวลาเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่แมร์เคิลจะพ้นจากตำแหน่ง คำถามใหญ่ที่ตามมาคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากการทำหน้าที่ของแมร์เคิลสิ้นสุดลง ทั้งเยอรมนีและอียู ที่เคยอยู่ภายใต้การนำอันแข็งแกร่งของสตรีเหล็กผู้นี้มานานนับสิบปีจะเป็นอย่างไร และใครจะเป็นผู้นำเยอรมนีคนใหม่ในอนาคต

ที่มา : Theguardian , csmonitor , bundeskanzlerin , spiegel , harvard , Theguardian , CNN